รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 22, 2010 10:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2553

Summary:

1. ธปท. ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น-จับจังหวะเศรษฐกิจโลก

2. การส่งออกเดือน มิ.ย. พุ่งร้อยละ 46.3 ต่อปี ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

3. ดัชนีวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียยังดีต่อเนื่อง

Highlight:
1. ธปท. ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น-จับจังหวะเศรษฐกิจโลก
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้มีเงินไหลเข้าพอสมควร แต่จะดูแลอัตราดอกเบี้ยในประเทศให้ปรับขึ้นในจังหวะที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และไม่ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาจะไม่ใช่ครั้งเดียว และจะค่อยๆขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ และภายหลังจากขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ตอบสนองได้ดี ทั้งนี้ มีธนาคารพาณิชย์ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นทั้งเงินฝากเงินกู้ ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะการปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น สะท้อนถึงความมั่นใจต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. เป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางของหลายประเทศ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันที่ร้อยละ 1.5 นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย. ขยายตัวร้อยละ 3.3 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.1 อันเป็นผลจากราคาผักและผลไม้เพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนการหมดอายุมาตรการลดค่าครองชีพในส่วนค่าน้ำ และค่าไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.ถือเป็นการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัว และการที่ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากจะทำให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจมากขึ้น
2. การส่งออกเดือน มิ.ย. พุ่งร้อยละ 46.3 ต่อปี ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขการส่งออกประจำเดือน มิ.ย.53 มีมูลค่าการส่งออกรวม 18,039 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 46.3 ต่อปี ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 อย่างไรก็ดีการส่งออกข้าวประสบปัญหาการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ปากีสถานและอินเดีย ทำให้ส่งออกได้ลดลง ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า รวม 15,716 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.9 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน มิ.ย. เกินดุลการค้า 2,322 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกเดือน มิ.ย. ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยสินค้าหลักที่มีการขยายตัวสูงคือสินค้าอุตสาหกรรม ซี่งขยายตัวที่ร้อยละ 51.0 ต่อปี โดยเฉพาะในหมวด ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ เครื่องอิเล็กทรอนิคส์ ที่ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 96.5 48.0 35.3 ต่อปีตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ในต่างประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดที่มีการขยายตัวสูงได้แก่ตลาดในกลุ่มอาเซียน ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 51.2 ต่อปี นำโดยประเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขณะที่การนำเข้าขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 21.4 ต่อปี สาเหตุจากฐานการคำนวณที่สูงเนื่องจากราคาน้ำมันในเดือน มิ.ย.52 ปรับตัวสูงขึ้นมาก
3. ดัชนีวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียยังดีต่อเนื่อง
  • ดัชนีชี้นำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธนาคาร Westpac และสถาบัน Melbourne ในเดือน พ.ค. 2553 เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 264.7 จุด ซึ่งเมื่อเฉลี่ยทั้งปี (Annualised) เศรษฐกิจออสเตรเลียมีการเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.7 โดยหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคาร Westpac กล่าวว่า “ดัชนีดังกล่าวสอดคล้องกับการที่เศรษฐกิจในปัจจุบันเจริญเติบโตสูงกว่าประมาณการ และคาดว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เศรษฐกิจของออสเตรเลียจะมีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.5” ทั้งนี้ การเจริญเติบโตดังกล่าวสามารถเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางของออสเตรเลียปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกได้ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโลกยังคงเจริญเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ภาพรวมเศรษฐกิจของออสเตรเลียยังคงสดใสอยู่จะสามารถสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยได้ดี เนื่องจากออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในอนาคต โดยในครึ่งปีแรกของปี 2553 มีการส่งออกจากไทยไปทวีปออสเตรเลียเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.0 ของการส่งออกทั้งหมด โดยมีอัตราการขยายตัวสูงมากถึงร้อยละ 42.5 ซึ่งหมวดสินค้าที่มีการส่งออกสำคัญคือ รถยนต์และอุปกรณ์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้ไทย ซึ่งอาศัยการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ควรกระจายตลาดเพื่อลดความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนเช่นกัน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ