Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2553
1. นายกรัฐมนตรีห่วงปัญหาเงินเฟ้อ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลค่าครองชีพ
2. สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว ยอมรับปัญหาการเมืองกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
3. ดุลบัญชีเดินสะพัดเกาหลีใกล้เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 เดือน
- นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลเรื่องปัญหาค่าครองชีพของประชาชนและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลกลับมารายงานต่อที่ประชุมครม.เศรษฐกิจในครั้งหน้า
- ด้านอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าหมวดอาหาร พบว่า ขณะนี้ราคาอ่อนตัวลงจากช่วงสัปดาห์ก่อน ตามภาวการณ์ผลิตที่เพิ่มมากขึ้น โดยราคาเนื้อสุกรยังคงให้ตรึงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่ ก.ก.ละ 61 - 62 บาท เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าปลีกจำหน่ายหมูเนื้อแดงได้ที่ราคา ก.ก.ละ 115 - 120 บาท ส่วนไข่ไก่ได้ขอความร่วมมือตลาดสดกำกับดูแลผู้ค้าไข่ไก่ให้กำหนดราคาขายปลีกตามเกณฑ์ สอดคล้องกับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ฟองละ 2.70 บาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.52 เป็นต้นมา โดยในเดือนมิ.ย.53 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.3 สาเหตุจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวสูงที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.3 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตประสบกับภาวะภัยแล้ง ประกอบกับราคาข้าวและแป้งขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อปี ซึ่งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐทั้งการตรึงราคาและขอความร่วมมือกับผู้ผลิตจะช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพลงได้ ทำให้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี
- นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว ยอมรับ สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ หากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาร้อยละ 70 ในช่วงฤดูการท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่น ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถือว่าไทยประสบความสำเร็จในด้านการท่องเที่ยวแล้ว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเป็นจำนวนมากต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือน มิ.ย. มีสัญญาณการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม หดตัวเพียงร้อยละ -1.1 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวเอเชียซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 55.8 หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี นักท่องเที่ยวยุโรปมีสัดส่วนร้อยละ 25.5 หดตัวร้อยละ -5.2 ต่อปี และนักท่องเที่ยวอเมริกามีสัดส่วนร้อยละ 6.2 ต่อปี หดตัวร้อยละ -14.5 ต่อปี ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มาจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากรัฐบาล ตลอดจนมาตรการต่างๆในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่มีปัจจัยลบใดมากระทบ คาดว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้
- ดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน 53 เกินดุลเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา จากการนำเข้าที่ชะลอลง โดยเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว มีการเกินดุลอยู่ 4.19 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวน 3.34 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนพฤษภาคม 53 นอกจากนี้ การส่งออกเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง จากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้ ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 ต่อเดือน (มูลค่า 40.61 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จากที่ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 3 ต่อเดือน ในเดือนก่อนหน้า เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว
- สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้การเกินดุลในระดับที่สูงของเกาหลีใต้มาจากการนำเข้าที่ชะลอลง แต่ตัวเลขการส่งออกสินค้าจากไทยไปเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 15 ของไทยยังคงมีการขยายตัวอยู่ต่อเนื่องที่ระดับร้อยละ 53 ต่อปี ในเดือนมิ.ย. 53 ทั้งนี้ แม้สถานการณ์การส่งออกของเกาหลีใต้จะมีสัญญาณที่แผ่วอยู่บ้าง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกของไทยล่าสุด จะค่อนข้างสวนทางกัน โดยทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดในเดือนมิ.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 46.3 และ 35.2 ต่อปี ตามลำดับ และประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่สามารถจะเกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลกได้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th