ความคุ้มครองที่ผู้เอาประกันชีวิตได้รับ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2010 10:27 —กระทรวงการคลัง

เวลาซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต ท่านย่อมคาดหวังว่ากรมธรรม์ที่ถือจะให้สิทธิประโยชน์ตามสัญญาในยามที่กรมธรรม์ครบกำหนด โดยจะได้รับเงินคืนตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งเป็นเงินออมที่เป็นหลักประกันในอนาคต หรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้าเกิดขึ้น จะสามารถดำเนินการตามสิทธิประโยชน์ที่ระบุไว้ในทุนประกัน ให้อุ่นใจว่า บุคคลที่ท่านรักเอื้ออาทรและตั้งใจจะดูแลเขานั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์สมดังเจตนา

แต่.... ถ้าบริษัทประกันชีวิตที่ท่านได้ทำประกันไว้เกิดล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต เงินที่ท่านได้ใส่เข้าไปตามสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นปี ๆซึ่งอาจจะเป็นเวลาหลาย ๆ ปี จะสูญหายไปกระนั้นหรือ ท่านย่อมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นแน่ เพื่อให้ผู้เอาประกันชีวิตและประชาชนทั่วไปคลายความวิตกกังวลในระดับหนึ่ง และเพื่อความมั่นใจต่อธุรกิจประกันชีวิต พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551) จึงได้กำหนดจัดตั้ง “กองทุนประกันชีวิต” ขึ้นมา เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิที่ท่านมีอยู่ตามที่ได้ทำสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตไว้

กองทุนประกันชีวิต

“กองทุนประกันชีวิต”ชื่อนี้หลาย ๆ ท่านอาจไม่คุ้นหู บางท่านอาจได้ยินมาบ้าง แต่ไม่ทราบอย่างชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันชีวิตอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับ “กองทุนประกันชีวิต” สักนิด

“กองทุนประกันชีวิต” จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีบริษัทประกันชีวิตล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ กองทุนไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

หลักเกณฑ์ที่กองทุนประกันชีวิตชำระเงินให้ท่าน

เมื่อเกิดเหตุการณ์กรณีที่บริษัทประกันชีวิตล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ตามกฎหมายปัจจุบัน กองทุนจะออกประกาศให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย สามารถมายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากกองทุนประกันชีวิตภายในกำหนดสองเดือนนับแต่วันที่กองทุนมีประกาศ ขณะเดียวกัน เมื่อผู้ชำระบัญชีของบริษัทยื่นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้บริษัทประกันชีวิตนั้นล้มละลายต่อศาล เจ้าหนี้ผู้เอาประกันซึ่งได้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีบุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์สินที่วางเป็นหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่บริษัทประกันชีวิตวางไว้ต่อนายทะเบียน (ในที่นี้คือเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ) สิทธิของท่านจะเป็นอย่างเดียวกับเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายทีเดียว ท่านจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธินี้ และหากจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของบริษัทในคดีล้มละลายไม่เพียงพอ ผู้เป็นเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุนประกันชีวิตตามที่ท่านได้ยื่นคำร้องไว้แต่แรก แต่จำนวนเงินที่ได้รับจะเฉพาะส่วนที่ขาด โดยรวมกับจำนวนเงินที่ได้รับชำระมาก่อนแล้วจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่เกิน 1 ล้านบาท นั่นคือ จำนวนเงินที่เจ้าหนี้แต่ละรายมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุน เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้จากหลักประกันและเงินสำรองของบริษัทแล้ว ต้องไม่เกินมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย หากมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยทุกสัญญารวมกันมีจำนวนเกินหนึ่งล้านบาท ก็ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงหนึ่งล้านบาท

ตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินจากกองทุนประกันชีวิต โดยกองทุนประกันชีวิตจะจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันของบริษัทแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1. กรณีสัญญาประกันชีวิตยังไม่ครบกำหนด กองทุนจะจ่ายตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่เจ้าหนี้เว้นแต่ผู้รับประกันภัยอื่นตกลงรับโอนกรมธรรม์ประกันภัย โดยความยินยอมของเจ้าหนี้ กองทุนประกันชีวิตจะจ่ายเงินไม่เกินมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัยนั้น

2. กรณีอื่น กองทุนจะจ่ายผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เว้นแต่การประกันภัยควบการลงทุนในหน่วยลงทุน กองทุนจะจ่ายเฉพาะส่วนของการประกันภัย ( เนื่องจากหน่วยลงทุน แยกต่างหากจากทรัพย์สินของบริษัทประกันชีวิต ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถทำธุรกรรมซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการซึ่งเป็นผู้จัดการการลงทุนในหน่วยลงทุนได้ตามปกติ)

นอกจากนี้ เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุนประกันชีวิตได้ ต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยที่ทำไว้กับบริษัทเท่านั้น โดยยกเว้นหนี้ที่เกิดจากการประกันภัยต่อ และหนี้ที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย หรือค่าเสียหายที่เกิดจากการที่บริษัทชำระหนี้ล่าช้า

ตอนนี้ท่านได้รู้จักบทบาทหน้าที่ของกองทุนประกันชีวิตซึ่งจะเข้ามาดูแลท่านในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว กองทุนประกันชีวิตจึงเหมือนกองทุนที่สำรองความเสี่ยงให้กับท่านผู้เอาประกันภัยที่จะได้รับความคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

ปัจจุบัน คปภ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มความมั่นคงในฐานะการเงินของบริษัทประกันชีวิต นอกเหนือจากกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องจัดสรรเบี้ยประกันภัยสำหรับเงินกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ และยังกำหนดให้บริษัทวางเงินสำรองไว้ที่ คปภ.เป็นมูลค่าไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินสำรอง นอกจากนี้ คปภ. ยังจะได้กำหนดให้บริษัทดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทดำเนินการธุรกิจอยู่ เพื่อให้การดำรงเงินกองทุนสูงพอที่จะรองรับความเสี่ยงตามประเภทความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจว่าบริษัทมีความมั่นคง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทมีฐานะการเงินที่มั่นคง มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีและเป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าเมื่อระดับความเพียงพอของเงินกองทุนลดต่ำลงเพื่อที่บริษัทหรือผู้กำกับดูแลสามารถดำเนินการมาตรการแก้ไขที่จำเป็นได้อย่างงรวดเร็ว ดังนั้นท่านจึงสบายใจได้ว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันชีวิตจะพัฒนาก้าวหน้าอย่างมั่งคงต่อไป

หากสนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลกองทุนประกันชีวิต ได้ที่

กองทุนประกันชีวิต

อาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

เลขที่ 22/79 ชั้น 5 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทรศัพท์ : 0-2515-3900 ต่อ 5340

โทรสาร : 0-2513-4753

website: www.oic.or.th/fund_life/

e-mail : lif@oic.or.th

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


แท็ก ประกัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ