รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 6, 2010 10:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2553

Summary:

1. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยยังไม่มีฟองสบู่

2. ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่าควรมีการปรับลดค่าธรรมเนียม และส่วนต่างดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์

3. GDP ไตรมาส 2 ปี 53 ของอินโดเนเซียขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี (% yoy)

Highlight:
1. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม. หอการค้าไทย กล่าวว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยยังไม่มีฟองสบู่
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่าอสังหาริมทรัพย์ในส่วนคอนโดมิเนียมของไทยยังไม่น่าจะมีปัญหาฟองสบู่ โดยคอนโดมิเนียมไม่มีการเก็งกำไรและซื้อขายอย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2553 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5-6 ต่อปี เนื่องจากมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี อย่างไรก็ตาม ม.หอการค้าไทยมองว่าหากธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 0.75 อาจส่งผลต่อการเทขายคอนโดมิเนียมทำกำไรในปี 2554
  • สศค. วิเคราะห์ว่าความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อโดยรวมยังคงอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ดี สะท้อนได้จากได้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อประจำเดือน ก.ค. 2553 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 3.4 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 1.2 ต่อปีโดยเป็นอัตราที่ยอมรับได้และบ่งชี้ว่าน่าจะไม่มีความเสี่ยงจากฟองสบู่ทางด้านราคาโดยรวม อนึ่ง การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาน่าจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนชะลอการซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม ไม่ก่อให้เกิดการซื้อขายอย่างรวดเร็วเกินไป และไม่ส่งผลให้ราคาภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
2. ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่าควรมีการปรับลดค่าธรรมเนียม และส่วนต่างดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
  • นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวว่าธนาคารพาณิชย์ควรมีการปรับลดค่าธรรมเนียมในการให้บริการ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจ่ายและดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM) โดยณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2.9 โดยผู้ว่าการ ธปท.เน้นว่าธนาคารพาณิชย์ และ ธปท.ควรหาแนวทางที่จะลดต้นทุนให้ต่ำลงหรือเหมาะสมมากขึ้น เพื่อช่วยทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์ถือได้ว่าอยู่ในระดับใกล้เคียง หรือน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือ เกาหลีที่อยู่ที่ร้อยละ 5 ร้อยละ 4 และ ร้อยละ 3.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การลดส่วนต่างดอกเบี้ยโดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะส่งผลดีต่อผู้ฝาก และผู้ขอสินเชื่อซึ่งไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากนัก ซึ่งจะเป็นอีกแรงส่งเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปอย่างคล่องตัวขึ้น อย่างไรก็ตามการจะบีบส่วนต่างดังกล่าวให้แคบถึงระดับใดนั้น ควรจะคำนึงต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งหากสามารถคำนวนหาส่วนต่างที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่ายได้ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
3. GDP ไตรมาส 2 ปี 53 ของอินโดเนเซียขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี (% yoy)
  • ไตรมาสก่อน GDP ไตรมาส 2 ปี 53 ของอินโดเนเซียขยายตัว 6.2 ต่อปี (% yoy) ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี (% yoy) ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวในระดับสูงของลงทุนภาคและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดเนเซียในระดับสูงอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าทางธนาคารกลางอินโดเนเซียอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 6.5 ซึ่งได้มีการคงไว้ในระดับดังกล่าวนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 52
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดเนเซียในไตรมาสที่ 2 ปี 53 เป็นผลมาจากภาคการบริโภคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี และ 8.0 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค

และนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์เดือน มิ.ย. 53 ที่เพิ่มขึ้น70,384 คัน สูงกว่าระดับ 60,515 คันในเดือน พ.ค. 53 และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจอินโดเนเซียอาจเผชิญกับความเสี่ยด้านเงินเฟ้อจากอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน มิ.ย. 53 ที่ขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 53 ที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ