รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 9, 2010 10:26 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 14.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 ต่อปี
  • สินเชื่อเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี ในขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 53ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศในเดือน มิ.ย.53 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ -4.7 ต่อปี
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยในเดือน มิ.ย. 53 เกินดุลที่ 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การจ้างงานเดือน มิ.ย. 53 อยู่ที่ 38.1 ล้านคน และอัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี
Indicators next week
   Indicators                      Forecast            Previous
July: Motorcycle sales (%yoy)        20.0                 17.3
  • เนื่องจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของภาคการผลิตทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 14.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 ต่อปีและเมื่อพิจารณาโดยปรับผลของฤดูกาลแล้วพบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.53 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเดือนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.1 ต่อเดือนเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์, รถยนต์, แอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับ อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมิ.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 65.6 ของกำลังการผลิตรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 64.2 โดยหากปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าอยู่ที่ร้อยละ 64.7 ของกำลังการผลิตรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 63.1 ของกำลังการผลิตรวม ผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ดังกล่าว

สินเชื่อเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี หรือร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากการขยายเวลามาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.1 ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 53 ด้านเงินฝากสถาบันการเงินเดือนมิ.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปี จากการโยกย้ายเงินฝากของภาคเอกชนไปยังตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งมูลค่า 80,000 ล้านบาท

ปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 53 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ -4.7 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศขยายตัวร้อยละ0.5 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.2 ต่อปีโดยมีสาเหตุสำ คัญมาจากฐานที่สูงของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะ ปริมาณการจำหน่ายเหล็กในหมวดเหล็กลวด ลวดเหล็กสำหรับงานคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็ก และเหล็กเส้น ที่หดตัวร้อยละ -15.2, -8.8, -2.9 และ -3.1 ต่อปี ตามลำดับ

ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยในเดือน มิ.ย. 53 เกินดุลที่ 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงครึ่งปีแรกเกินดุลที่ 6,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุสำคัญมาจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17,878 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุกภาคการส่งออกไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมและการเร่งส่งออกทองค่ำ โดยล้วนแล้วแต่เป็นการขยายตัวทางปริมาณเป็นหลัก ซึ่งเมื่อหักมูลค่าการนำเข้าที่ 15,342 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. เท่ากับ 2,536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ดุลบริการ รายได้และเงินโอนในเดือน มิ.ย. 53 ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ -1,855 ดอลลาร์สหรัฐจากรายได้การท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับที่ต่ำและเป็นช่วงจ่ายเงินปันผลของการลงทุน

การจ้างงานเดือน มิ.ย. 53 อยู่ที่ 38.1 ล้านคน ลดลง 2.7 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี ผลจากการจ้างงานภาคการเกษตรที่ลดลงมาอยู่ที่จำนวน 1.43ล้านคน เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้การจ้างงานรายไตรมาสที่ 2 ปี 53 ลดลงที่ร้อยละ -0.49 ต่อปี หรือลดลง 1.8 แสนคน อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคการเกษตรปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวน 1.2 ล้านคน สำหรับอัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานจำนวนทั้งสิ้น 4.6 แสนคน โดยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิต 1.2 แสนคน ส่งผลให้อัตราการว่างงานไตรมาสที่ 2 ปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวม

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน เนื่องจากฐานการคำนวณที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับสาเหตุสำคัญจาก 1) ราคาข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตที่น้อยลงจากภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว และผลของมาตรการประกันรายได้เกษตรกร 2)ราคาไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตไข่ไก่ที่ออกมามีปริมาณที่ลดลงไม่เพียงพอกับอุปสงค์ของตลาด ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นและ 3) ราคาผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.7 ต่อปี เนื่องจากภาวะภัยแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตเสียหายโดยเฉพาะผลไม้สด และยังเป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้บางชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน ทุเรียน มังคุด และลองกอง เป็นต้น และหากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี สาเหตุสำ คัญจากดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี จากผลิตภัณฑ์ในหมวดเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กตัวซี เหล็กฉาก ลวดเหล็กเสริมคอนกรีต และ เหล็กแผ่นเรียบดำ ในขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี จากไม้ปาร์เก้ วงกบหน้าต่าง บานประตู และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี อาทิเช่น อิฐมอญ อิฐโปร่ง กระจกใสอลูมิเนียมแผ่นเรียบ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวเป็นการขยายตัวตามสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น ทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น

Economic Indicators: Next Week

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค. 53 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 20.0 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อปีโดยได้รับปัจจัยบวกจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของภาคการผลิต ทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ขยายในระดับสูง โดยในเดือน มิ.ย. 53 รายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 22.6 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ