รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 11:09 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2553

Summary:

1. ภาคส่งออกร้อง ธปท. ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่านี้

2. สสช.พบผู้ว่างงานเดือนเม.ย.ปีนี้ลดลง แต่นักศึกษาจบใหม่ยังหางานยาก

3. เงินเฟ้อในภาคอสังหริมทรัพย์ของจีนเริ่มชะลอลงในเดือน ก.ค. 53

Highlight:
1. ภาคส่งออกร้อง ธปท. ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่านี้
  • ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในระดับ 31.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้มีต้นทุนค่าเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ และเมื่อส่งออกได้รับเป็นเงินดอลลาร์ แลกเป็นเงินบาทก็ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทที่ระดับ 31.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 2 ปี นับจากเดือน 1 พ.ค. 51 ที่อยู่ที่ระดับ 31.69 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีค่าเงินบาท (NEER) พบว่าแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับต้นปี โดยเป็นผลมากจาก 1) ดุลบัญชีเดินสะพัด 6 เดือนแรกปี 53 เกินดุลที่ 214.5 แสนล้านบาท 2) ต่างชาติเข้าซื้อในตลาดตราสารหนี้ที่ 69.1 พันล้านบาท โดยในช่วงเฉพาะ 10 วันแรกของเดือนส.ค.เข้าซื้อที่ 5.5 พันล้านบาท 3) ในตลาดหลักทรัพย์แม้ว่าหากพิจารณาจากต้นปี ต่างชาติจะมีการขายที่ 4.4 พันล้านบาท แต่ช่วง 10 วันแรก มีการเข้าซื้อสุทธิสูงที่ 6.0 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลให้ค่าเงินบาทเฉพาะช่วง 10 วันแรกเดือนส.ค.มีการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1 ทั้งนี้ ค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้นเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานที่เศรษฐกิจเอเชียมีการขยายตัวในระดับสูง ส่งออกได้ดี และมีเงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมาก
2. สสช.พบผู้ว่างงานเดือนเม.ย.ปีนี้ลดลง แต่นักศึกษาจบใหม่ยังหางานยาก
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบผู้ว่างงานเดือน เม.ย. ช่วงปี 2552- 2553 โดยภาพรวมทั่วประเทศจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 2 แสนคน จาก 37.06 ล้านคนในปี 52 เป็น 37.26 ล้านคนในปี 53 โดยเป็นผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมกว่า 1.5 แสนคน และเป็นผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมอีก 5 หมื่นคน ขณะที่อัตราการมีงานทำของวัยแรงงานในกลุ่มแรงงานจบใหม่อายุระหว่าง 15 — 24 ปี พบว่าว่างงานร้อยละ 4.7 ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้เป็นแรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน มักมีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูงเช่นนี้เป็นปกติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าภาวะการจ้างงานของไทยมีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยปี 53 มีการฟื้นตัวที่ดี โดยล่าสุดจำนวนผู้มีงานทำเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 38.1 ล้านคน หดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำแนก เป็นผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 14.5 ล้านคน หดตัวร้อยละ -9.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผู้มีงานทำภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 8.1 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี ขณะที่ภาคบริการอยู่ที่ 6.7 แสนคน ขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการจัดหางานพบว่า ความต้องการแรงงานในปัจจุบันอยู่ที่ 143,872 อัตรา โดยมีความต้องการแรงงานระดับมัธยมศึกษามากที่สุด รองลงมาเป็นระดับ ปวส. และประถมศึกษา
3. เงินเฟ้อในภาคอสังหริมทรัพย์ของจีนเริ่มชะลอลงในเดือน ก.ค. 53
  • สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเงินเฟ้อของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอยู่ที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี ในเดือนก.ค. 53 ลดลงจากเดือนมิ.ย 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อปี ในขณะที่ราคาซื้อขายบ้านไม่เปลี่ยนแปลง มาจากนโยบายรัฐบาลจีนที่มีมาตรการควบคุมราคาซื้อขายบ้านของ 70 จังหวัด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนเป็นผลมาจากมาตรการต่างๆที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ทั้งการจำกัดการปล่อยสินเชื่อด้านการก่อสร้างและมาตรการต่างๆเพื่อลดการเก็งกำไร ทั้งนี้ การชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อสอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเดือนก.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 33.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนมิ.ย 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 46.3 ต่อปี โดยการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 10.0 ของ GDP ซึ่งการชะลอลงของการลงทุนในภาคการผลิตดังกล่าวจะช่วยลดความกดดันของปัญหาเงินเฟ้อในเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม การลดปริมาณสินเชื่อภายในระบบและการกำกับดูแลราคาอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศยังเป็นความเสี่ยงของจีน อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนยังสามารถขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.5 ต่อปี ในปี 2553

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ