นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยการจัดเก็บรายได้สุทธิรัฐบาล ในเดือนกรกฎาคม 2553 สูงกว่าประมาณการอย่างต่อเนื่อง โดยจัดเก็บได้ 1.2 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 32,000 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมาย 2.8 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 25.7
เดือนกรกฎาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 117,790 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 31,989 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.3 โดยภาษีการบริโภคและการนำเข้ายังคงจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีรถยนต์ ภาษีน้ำมัน และอากรขาเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ถึง 7,903 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดเก็บได้เกินกว่า 7,000 ล้านบาท ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่สอง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศ
ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — กรกฎาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,356,732 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 277,040 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.7 โดยการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมในสังกัดกระทรวงการคลัง ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร สูงกว่าเป้าหมายถึง 104,821 96,999 และ 19,864 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.2 39.8 และ 32.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท และรายได้พิเศษจากการส่งคืนเงินประเดิม และเงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 8,135 ล้านบาท
นายสาธิตฯ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาที่สูงกว่าเป้าหมายจำนวนมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 จะสูงกว่าประมาณการไม่ต่ำกว่าสามแสนล้านบาทอย่างแน่นอน”
เอกสารแนบ
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนกรกฎาคม 2553 และในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนกรกฎาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 117,790 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 31,989 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — กรกฎาคม 2553) จัดเก็บได้ 1,356,732 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ ตามเอกสารงบประมาณ 277,040 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. เดือนกรกฎาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 117,790 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 31,989 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.3 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.9) โดยสาเหตุสำคัญยังคงเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีการบริโภคและการนำเข้าได้สูงกว่าประมาณการเป็นจำนวนมาก โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีน้ำมัน และอากรขาเข้าสูงกว่าประมาณการ 9,322 6,303 4,078 และ 2,024 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีรถยนต์จัดเก็บได้เป็นประวัติการณ์ที่ 7,903 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดเก็บได้เกินกว่า 7,000 ล้านบาท ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่สอง
2. ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — กรกฎาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,356,732 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 277,040 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.7) สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรม ในสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าประมาณการถึงร้อยละ 19.1 เป็นผลจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ยาสูบ สุรา และเบียร์ และรายได้พิเศษจากเงินยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเงินส่งคืนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 961,201 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 104,821 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 415,715 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 79,938 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.7) เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าและการบริโภคจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 46,557 และ 33,381 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.3 และ 16.4 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 26.7 และ 10.2 ตามลำดับ
- ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ 283,376 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 22,540 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.4) เป็นผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2552 ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในช่วงดังกล่าวปรับตัวดีขึ้น และส่งผลให้การชำระภาษีจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2552 สูงกว่าประมาณการ
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 340,904 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 96,999 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 45.1) เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และ การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ส่งผลให้จัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ และสุรา สูงกว่าประมาณการ 45,790 11,446 7,949 และ 2,418 ล้านบาท หรือร้อยละ 55.6 34.2 18.7 และ 7.3 ตามลำดับ นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีรถยนต์ยังสูงกว่าประมาณการถึง 28,286 ล้านบาท หรือร้อยละ 80.1 สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 81,134 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,864 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 23.0) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 18,526 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.2 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2552 — มิถุนายน 2553) มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 30.4 และ 23.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายได้อื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 1,456 ล้านบาท หรือร้อยละ 87.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากในเดือนเมษายน 2553 มีรายได้จากค่าปรับคดีสูงถึง 897 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การจัดเก็บอากรขาออกต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 47.2 เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2553 มีการยกเว้นการจัดเก็บอากรขาออกของไม้และไม้แปรรูปที่ได้จากต้นยางตระกูลฮีเวีย และหนังดิบ
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 73,180 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 748 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.4) เนื่องจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้และการจ่ายเงินปันผลของธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กองทุนรวมวายุภักษ์ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสูงกว่าเป้าหมาย
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 130,631 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 65,557 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 84.1) เนื่องจากกระทรวงการคลังได้รับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท (ในเดือนเมษายน 2553) และได้รับการส่งคืน เงินประเดิม และเงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวจาก กบข. จำนวน 8,135 ล้านบาท ประกอบกับตั้งแต่ ต้นปีงบประมาณได้รับเงินจากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวงการคลังอีกจำนวน 5,191 ล้านบาท
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 178,709 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 170 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.3) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 131,780 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ 46,929 ล้านบาท โดยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่า ประมาณการ 10,220 ล้านบาท ในขณะที่การคืนภาษีอื่นๆ สูงกว่าประมาณการ 10,050 ล้านบาท
2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ โดยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 3 งวด จำนวนรวมทั้งสิ้น 32,301 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,101 ล้านบาท (ร้อยละ 33.5) และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7,681 ล้านบาท (ร้อยละ 31.2)
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 95/2553 11 สิงหาคม 53--