ภาวะเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร กรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 16, 2010 14:58 —กระทรวงการคลัง

บทสรุป

ภาวะเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนกรกฎาคม พบว่าเสถียรภาพภายใน (internal stability) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องอย่างช้าๆ โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากหดตัวลงในเดือนที่แล้ว ขณะที่ดัชนีค้าปลีกในเดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้าถือเป็นการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ราคาที่อยู่อาศัยเดือนมิถุนายนชะลอร้อยละ 0.6 ถือเป็นเดือนที่ 3 ที่ระดับราคาลดลงส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 2 ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1 ในส่วนของการว่างงานในเดือนพฤษภาคมมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วโดยจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นเดือนที่ 2 เหลือร้อยละ 7.8 จากที่เคยสูงร้อยละ 8.0 เมื่อเดือนมีนาคม สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนชะลอลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 3.2 หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 17 เดือนในเดือนเมษายน ในส่วนของภาคการเงิน เดือนกรกฎาคม Bank of England คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank rate) ไว้ที่ร้อยละ 0.5 เป็นเดือนที่ 17 และคงวงเงิน QE จำนวน 200 พันล้านปอนด์ไว้ตามเดิม ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนระยะสั้นทรงตัวในระดับต่ำแต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่แล้ว แต่อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับลดเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ปริมาณเงินและสินเชื่อฟื้นตัวในระดับต่ำ โดยสินเชื่อภาคธุรกิจในเดือนมิถุนายนหดตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า แต่สินเชื่อภาคครัวเรือนฟื้นตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ทางด้านเสถียรภาพภายนอก (external stability) เดือนพฤษภาคมแย่ลงแม้ปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่อัตราการเพิ่มของการส่งออกต่ำกว่าการนำเข้าจึงทำให้การขาดดุลการค้าและบริการกว้างขึ้นเป็น 3.8 พันล้านปอนด์หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากปีที่แล้ว สำหรับค่าเงินปอนด์ในเดือนกรกฎาคมแข็งค่ากับเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นเดือนที่ 2 แต่อ่อนค่าเล็กน้อยกับเงินยูโรและเยนโดยเงินปอนด์ได้รับผลดีจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2

ฐานะการคลัง เดือนมิถุนายนรัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 14.5 พันล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 1.5 จากปีที่แล้ว ส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ขยับขึ้นอีกเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 63.9 เทียบกับร้อยละ 57.3 ในปีที่แล้ว

ภาพรวมเศรษฐกิจ

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วเล็กน้อย

ดัชนีชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index: IPI) ในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 89.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 0.7 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ถือเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ดัชนีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการที่ดัชนีในเดือนนี้ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้วเป็นผลมาจากเพิ่มของการผลิตในทุกหมวดไม่ว่าจะเป็นหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นหมวดการผลิตหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 หลังจากหดตัวลงเมื่อเดือนที่แล้ว หมวดผลิตพลังงานไฟฟ้า น้ำ และก๊าซ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 หลังหดตัวร้อยละ 0.4 ในเดือนที่แล้ว และหมวดเหมืองแร่และขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่ขยายตัวค่อนข้างดีร้อยละ 2.5 หลังหดตัวในเดือนที่แล้วเช่นกัน โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีความผันผวน แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ดัชนีบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างช้าๆและมีเสถียรภาพและคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว

House Price Index เดือนมิถุนายนชะลอตัวเป็นเดือนที่ 3 ร้อยละ 0.6

ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยทั่วประเทศวัดโดย Halifax House Price Index (HPI) ประจำเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 537.9 จุด ลดลงร้อยละ 0.6 จากเดือนที่แล้ว นับป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ดัชนีหดตัว ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยแต่ถือเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 หลังจากที่เคยติดลบถึง 21

เดือนติดต่อกันนับจากเดือนสิงหาคม 2007 ทั้งนี้ ราคาที่อยู่อาศัยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับราคาในช่วง 3 เดือนแรกของปีซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับการประเมินของนักเศรษฐศาสตร์ที่ประเมินว่าราคาที่อยู่อาศัยในปี 2010 น่าจะทรงตัวในระดับเดียวกับปีที่แล้ว หลังจากที่ราคาที่อยู่อาศัยฟื้นตัวค่อนข้างเร็วในปีที่แล้วเนื่องจากมีที่อยู่อาศัยเข้าสู่ตลาดน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการ แต่นับจากต้นปีนี้จำนวนที่อยู่อาศัยเข้าสู่ตลาดมากขึ้นจึงช่วยลดแรงกดดันด้านราคาลง ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของราคาที่อยู่อาศัยในเดือนนี้อยู่ที่ระดับ 166,203 ปอนด์ต่อหลัง ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าจุดสูงสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2007 อยู่ร้อยละ 16.7 แต่ขณะเดียวกัน ก็ฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 7.6 จากจุดต่ำสุดเมื่อเดือนเมษายน 2009

CPI และ RPI เดือนมิถุนายนชะลอลงเหลือ 3.2% และ 5.0% ตามลำดับ

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิถุนายนชะลอลงเหลือร้อยละ 3.2 หลังจากพุ่งแรงสูงที่สุดในรอบ 17 เดือนที่ระดับร้อยละ 3.7 ในเดือนเมษายน โดยราคาสินค้ายังคงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเท่านั้นที่ระดับราคาลดลง สำหรับหมวดราคาสินค้าหลักที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟอ ได้แก่ หมวดขนส่งและสื่อสาร หมวดสันธนาการ หมวดค่าสาธารณูปโภค หมวดภัตตาคารและโรงแรม และหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 1.6 0.5 2.9 และ 1.9 ตามลำดับ โดยดัชนีหมวดภัตตาคารและหมวดอาหารมีการเร่งตัวขึ้น ขณะที่อีก 3 หมวดที่เหลือมีระดับราคาชะลอลง สำหรับดัชนี Retail Price Index (RPI) เดือนนี้ก็ชะลอตัวลงเล็กน้อยเช่นกันเหลือร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 5.1 ในเดือนที่แล้ว โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเร่งตัวของเงินเฟอมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาตั๋วเครื่องบินและราคากรมธรรม์ประกันภัย แต่ราคาน้ำมันรถยนต์ที่ลดลงช่วยดึงให้ระดับราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงดังกล่าว

อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 7.8% ขณะที่อัตราการมีงานเริ่มดีขึ้น

ในรอบ 3 เดือนสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม (มีนาคม-พฤษภาคม) จำนวนผู้มีงานทำ (employment level) มีจำนวน 28.984 ล้านคน เพิ่มขึ้น 160,000 คน หรือร้อยละ 0.6 จากรอบ 3 เดือนก่อนหน้า (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วจำนวนผู้มีงานทำลดลงเพียง 5,000 คน หรือลดลงร้อยละ 0.0 โดยอัตราการมีงานทำอยู่ที่ระดับร้อยละ 72.3 ของผู้ที่อยู่ในวัยทำงานทั้งหมด (working age employment rate) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นครั้งแรกที่อัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าโดยในเดือนเมษายนจำนวนผู้มีงานทำเริ่มกระเตื้องขึ้นเป็นครั้งแรก

ทางด้านจำนวนผู้ว่างงานในเดือนพฤษภาคมมีจำนวนทั้งสิ้น 2.468 ล้านคน ลดลง 34,000 คนจากไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วยอดผู้ว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น 92,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ซึ่งเป็นการเพิ่มที่ชะลอลงมากและถือเป็นเดือนที่ 2 ที่จำนวนผู้ว่างงานอยู่ต่ำกว่าระดับ 2.5 ล้านคน การเพิ่มในอัตราที่ชะลอลงส่งผลให้อัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับร้อยละ 7.9 ในเดือนที่แล้วเหลือร้อยละ 7.8 ในเดือนนี้ หลังจากอัตราการว่างงานขึ้นไปสูงสุดที่ระดับร้อยละ 8.0 ในเดือนมีนาคมและเมษายน

อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

Bank of England คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 0.5 เป็นเดือนที่ 17 พร้อมกับคงมาตรการ QE จำนวน 200 พันล้านปอนด์ไว้ตามเดิม

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของธนาคารกลางอังกฤษ มีมติ 7:1 ให้คงอัตราดอกเบี้ย Bank rate ไว้ตามเดิมที่ระดับร้อยละ 0.50 เป็นเดือนที่ 17 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดนับจากก่อตั้ง Bank of England ในปี 1694 พร้อมกับคงเพดานการรับซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน (Asset Purchased Facility) จำนวน 200 พันล้านปอนด์ตามมาตรการ Quantitative Easing ไว้ตามเดิม โดย 1 ในคณะกรรมการเห็นควรให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ทั้งนี้ คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟอจะยังคงอยู่ในระดับสูงเหนืออัตราเปาหมายต่อไปอีกในระยะข้างหน้า รวมถึงการที่รัฐบาลประกาศเพิ่มอัตราภาษี VAT เพิ่มเป็นร้อยละ 20 จะส่งผลต่อเงินเฟอในปีหน้า แต่ในระยะปานกลางแล้วเชื่อว่าอัตราเงินเฟอจะสามารถลดลงกลับเข้าสู่เปาหมายได้เนื่องจากยังมีกำลังผลิตส่วนเกินเหลืออยู่ซึ่งจะช่วยดึงอัตราเงินเฟอให้ลดลงหลังจากผลของปจจัยระยะสั้น เช่น ราคาน้ำมัน หมดไป ประกอบกับในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมามีเครื่องชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการทั้งภายในประเทศและนอกประเทศมีการชะลอตัวลงหลังจากฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างดีใน 2 ไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปจจุบัน คณะกรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรคงนโยบายการเงินไว้เช่นเดิม โดยการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม

โครงสร้างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเฉลี่ย (average yield curve) ประจำเดือนกรกฎาคมพบว่าโดยรวมแล้วอัตราผลตอบแทนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีเพิ่มขึ้นระหว่าง 0 - 3 basis points ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนที่แล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 5 - 20 ปี ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 โดยลดลงระหว่าง 3 - 9 basis points หลังจากที่มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปลายปีที่แล้ว

ปริมาณเงินยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัวลง สินเชื่อภาคธุรกิจหดตัวเป็นเดือนที่ 15 ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัว 7 เดือนติดต่อกัน

ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (M4) ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 2.205 ล้านล้านปอนด์ ลดลง 0.6 พันล้านปอนด์ หรือลดลงร้อยละ 0.0 จากเดือนที่แล้วแต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอัตราการเพิ่มของปริมาณเงินในเดือนนี้เริ่มขยายตัวดีขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง 15 เดือนติดต่อกันก่อนหน้า (เดือนที่แล้ว +2.7%) ขณะที่ปริมาณสินเชื่อตามความหมายกว้าง (M4 lending) มียอดคงค้าง 2.57 ล้านล้านปอนด์ ลดลง 1.0 พันล้านปอนด์ หรือลดลงร้อยละ 0.0 จากเดือนที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (เดือนที่แล้ว +1.2%)

ยอดคงค้างสินเชื่อภาคธุรกิจ (lending to private corporation) มีจำนวน 472,879 ล้านปอนด์ หดตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนที่แล้ว และหดตัวร้อยละ 4.4 จากปีที่แล้ว ถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันนับจากสินเชื่อเริ่มมีการชะลอตัวตั้งแต่กลางปี 2008 ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือน (lending to household sector) ที่มียอดคงค้าง 1,208,934 ล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 0.0 จากเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นเดือนที่ 7 ที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวเมื่อเทียบปีต่อปี โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 4.0 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวร้อยละ 3.6

อัตราแลกเปลี่ยน : เดือน ก.ค. ปอนด์ แข็งค่ากับ $ แต่อ่อนค่าเล็กน้อยกับ ยูโร และเยน

เงินปอนด์ในเดือนกรกฎาคมปรับแข็งค่าขึ้นเป็นเดือนที่ 2 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. โดยเงินปอนด์มีระดับปิดวันแรกของเดือนที่ระดับ 1.5113 $/ปอนด์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าต่อเนื่องนับจากสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนที่แล้วเป็นต้นมา โดยในเดือนนี้เงินปอนด์ยังคงแข็งค่าได้ต่อเนื่องจนสามารถขึ้นไปทำสถิติระดับปิดสูงสุดที่ระดับ 1.5661 $/ปอนด์ ได้ในวันสุดท้ายของเดือนซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 เดือน ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ในเดือนนี้แข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากถึงร้อยละ 3.6 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วเงินปอนด์อ่อนค่าอยู่ร้อยละ 6.5 โดยในช่วงต้นเดือนเงินปอนด์ถูกกดดันเล็กน้อยจากตัวเลขการขาดดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมที่ขาดดุลกว้างขึ้น อย่างไรก็ดี ความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ส่งผลให้บทบาทของเงินดอลลาร์ สรอ. ในฐานะ safe haven currency ลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจโลกมีการปรับดีขึ้นก็ส่งผลต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และในช่วงท้ายเดือนเงินปอนด์ยังได้รับแรงหนุนจากการประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไตรมาสที่ 2 ที่ออกมาแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 4 ปี

เงินปอนด์เมื่อเทียบกับยูโรในเดือนนี้อ่อนค่าลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยเงินปอนด์มีระดับปิดวันแรกของเดือนที่ระดับ 1.2134 ยูโร/ปอนด์ จากนั้นเงินปอนด์ก็เคลื่อนไหวอ่อนค่าลง

ต่อเนื่องจากปลายเดือนก่อนหน้าโดยลงมามีระดับปิดต่ำสุดของเดือนที่ระดับ 1.1731 ยูโร/ปอนด์ ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ 3 จากนั้นเงินปอนด์ก็ค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นบ้างจนสามารถขึ้นมาปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 1.2019 ยูโร/ปอนด์ โดยในช่วงครึ่งแรกของเดือนเงินยูโรมีทิศทางที่แข็งค่ากับทุกสกุลเมื่อความกังวลต่อปญหาหนี้สาธารณะและเสถียรภาพของสถาบันการเงินมีความคลายตัวลง แต่ในช่วงท้ายของเดือนเงินปอนด์เริ่มได้รับแรงหนุนจากตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ที่ออกมาดี รวมถึงยอดค้าปลีกที่ประกาศในช่วงสิ้นเดือนก็ออกมาดีเช่นกัน โดยค่าเฉลี่ยเงินปอนด์ในเดือนนี้อ่อนค่าลงจากเดือนที่แล้วร้อยละ 1.0 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วเงินปอนด์ยังแข็งค่าอยู่ร้อยละ 2.9

เงินปอนด์ในเดือนนี้แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทเป็นเดือนที่ 2 ต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยเงินปอนด์มีระดับปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ระดับ 48.9132 Baht/ปอนด์ จากนั้นเงินปอนด์ก็ขยับขึ้นไปเคลื่อนไหวผันผวนใกล้ระดับ 49 Baht/ปอนด์ ในช่วงครึ่งแรกของเดือนก่อนที่จะมีทิศทางที่แข็งค่าอย่างชัดเจนอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของเดือนโดยสามารถเคลื่อนไหวขึ้นไปเหนือระดับ 50 Baht/ปอนด์ ได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 เดือน และปิดวันสุดท้ายของเดือนสูงที่สุดที่ระดับ 50.5146 Baht/ปอนด์ โดยค่าเฉลี่ยของเงินปอนด์ในเดือนนี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.2 จากเดือนที่แล้ว แต่ก็ยังคงอ่อนค่าอยู่ร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่ผ่านมา

เดือนมิถุนายนรัฐบาลขาดดุล 14.5 พันล้านปอนด์ ลดลง 1.5% ขณะที่ยอด Debt/GDP ขยับขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 63.9%

ณ สิ้นเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ของปีงบประมาณ 2010/11 รัฐบาลมีดุลงบรายจ่ายประจำ (current budget) ขาดดุลจำนวน 12.6 พันล้านปอนด์ (ขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากปีที่แล้ว) และเมื่อรวมกับในเดือนนี้รัฐบาลมียอดลงทุนสุทธิจำนวน 1.9 พันล้านปอนด์ ทำให้มียอดขาดดุลงบประมาณสุทธิ 14.5 พันล้านปอนด์ (ขาดดุลลดลงร้อยละ 1.5 จากปีที่แล้ว) โดยในเดือนนี้รัฐบาลกลางจัดเก็บรายได้ 37.0 พันล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากปีที่แล้ว) ขณะที่งบรายจ่ายประจำและงบลงทุนของรัฐบาลกลางมียอดรวม 51.7 พันล้านปอนด์ (ลดลงร้อยละ 4.2 จากปีที่แล้ว) ทำให้รัฐบาลกลางมีฐานะขาดดุล 15.3 พันล้านปอนด์ (ขาดดุลลดลงร้อยละ 19.2 จากปีที่แล้ว) สำหรับยอดหนี้สาธารณะในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 926.9 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 63.9 ของ GDP (เดือนมิถุนายนปีที่แล้วยอดหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับร้อยละ 57.3 ของ GDP)

ทั้งนี้ ในการเสนองบประมาณฉุกเฉินต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคอนุรักษ์นิยมได้มีการปรับปรุงประมาณการรายรับและรายจ่ายในปีงบประมาณปจจุบัน (2010/11) จากที่รัฐบาลพรรคแรงงานเสนอไว้เดิมในเดือนมีนาคมเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินมาตรการเร่งปรับลดการขาดดุลงบประมาณให้เร็วขึ้น โดยรัฐบาลประมาณว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอีก 7 พันล้านปอนด์ พันล้านปอนด์เป็น 548 พันล้านปอนด์ ขณะที่งบประมาณรายจ่ายจะลดลงประมาณ 8 พันล้าปอนด์จากที่กำหนดไว้เดิม 704 พันล้านปอนด์ เหลือ 697 พันล้านปอนด์ และจะทำให้การขาดดุลงบประมาณลดลงจากเดิม 163 พันล้านปอนด์ เหลือ 149 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 10.1 ของ GDP และจะมียอดหนี้สาธารณะรวม 932 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 61.9 ของ GDP

ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน

ดุลการค้าและบริการ: พฤษภาคมขาดดุล 3.8 พันล้านปอนด์ พุ่งขึ้นร้อยละ 48

เดือนพฤษภาคม อังกฤษมียอดส่งออกสินค้าและบริการรวม 35.1 พันล้านปอนด์ (+13.8% จากปีที่แล้ว) แต่มีการนำเข้ารวม 38.9 พันล้านปอนด์ (+16.4% จากปีที่แล้ว) ทำให้มียอดขาดดุลการค้าและบริการรวม 3.8 พันล้านปอนด์ (+47.8% จากปีที่แล้ว) แยกเป็นการขาดดุลการค้าจำนวน 8.1 พันล้านปอนด์ (+27.8% จากปีที่แล้ว) แต่มีการเกินดุลบริการจำนวน 4.2 พันล้านปอนด์ (+13.9% จากปีที่แล้ว) โดยการขาดดุลในเดือนนี้แยกเป็นการขาดดุลการค้าสินค้ากับประเทศในกลุ่ม EU (27 ประเทศ) จำนวน 3.6 พันล้านปอนด์ (+16.4%) ขณะที่มีการขาดดุลกับประเทศนอกกลุ่ม EU จำนวน 4.5 พันล้านปอนด์ (+38.6%) โดยการค้าสะสมในช่วง 5 เดือนแรกของปี อังกฤษมียอดส่งออกจำนวน 171.0 พันล้านปอนด์ (+7.0% จากปีที่แล้ว) แต่มีการนำเข้ารวม 187.6 พันล้านปอนด์ (+8.1% จากปีที่แล้ว) ทำให้มียอดขาดดุลการค้าและบริการรวม 16.7 พันล้านปอนด์ (+20.1% จากปีที่แล้ว)

สำหรับการค้ากับประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม อังกฤษส่งออกสินค้าไปประเทศไทยจำนวน 83 ล้านปอนด์ (+27.7% จากปีที่แล้ว)ขณะที่มีการนำเข้าจำนวน 210 ล้านปอนด์ (+11.7%) ทำให้ขาดดุลการค้ากับประเทศไทยจำนวน 127 ล้านปอนด์ (+3.3%) นับเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่การขาดดุลเพิ่มขึ้นหลังจากที่ในช่วง 9 เดือนก่อนหน้าการขาดดุลของอังกฤษมีอัตราการเพิ่มที่ติดลบมาตลอด ขณะที่ยอดสะสมช่วง 5 เดือนแรก อังกฤษส่งออกไปประเทศไทยจำนวน 408 ล้านปอนด์ (+92.5% จากปีที่แล้ว)ขณะที่มีการนำเข้าจำนวน 1,061 ล้านปอนด์ (+39.4%) ทำให้ขาดดุลการค้ากับประเทศไทยจำนวน

ประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) เปิดเผยผลการประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประจำไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ว่าขยายตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสที่ 1 และขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว โดยภาคการผลิตขยายตัวดีต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 1.0 ภาคก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 6.6 และภาคบริการขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยเฉพาะสาขาบริการทางการเงินและบริการที่เกี่ยวเนื่องที่ขยายตัวค่อนข้างดีร้อยละ 1.3 ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 แข็งแกร่งกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินไว้เกือบเท่าตัวโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น (23 กรกฎาคม 2010)

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ