ภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรป กรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 16, 2010 15:11 —กระทรวงการคลัง

บทสรุป

ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ประจำเดือนกรกฎาคม 2010 พบว่าเสถียรภาพภายใน (internal stability) มีการฟื้นตัวในระดับต่ำต่อเนื่องโดยผลการทบทวนประมาณการ GDP ประจำไตรมาสแรกของปียืนยันการขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.2 จากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วเช่นเดิม ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากร้อยละ 0.8 ในเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจประจำเดือนกรกฎาคมฟื้นตัวค่อนข้างแข็งแกร่งซึ่งน่าจะเกื้อหนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนชะลอตัวลงจากเดือนที่แล้วเหลือร้อยละ 1.4 ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนมิถุนายนทรงตัวที่ระดับร้อยละ 10.0 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแม้จะทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปีก็ตามแต่ก็สะท้อนถึงความมีเสถียรภาพขึ้นโดยลำดับ โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 15.77 ล้านคน ในส่วนของภาคการเงินในเดือนกรกฎาคม ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing rate) ไว้ที่ระดับร้อยละ 1.0 เป็นเดือนที่ 15 ส่งผลดีต่ออัตราดอกเบี้ยโดยรวมให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปแม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นบ้างในเดือนนี้เนื่องจากความกังวลถึงผลของวิกฤตหนี้สาธารณะที่จะมีต่อสถาบันการเงินในยุโรป กระนั้นก็ดี ผลของนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำยังไม่สามารถกระตุ้นการเร่งปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบได้แต่อย่างใดโดยปริมาณเงินยังคงทรงตัวในระดับต่ำเช่นเดียวกับการขยายตัวของสินเชื่อที่แม้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเดือนที่ 3 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอก (external stability) พบว่าในเดือนพฤษภาคมดุลบัญชีเดินสะพัดของ Euro area ขาดดุล 5.8 พันล้านยูโรใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่กระแสเคลื่อนย้ายเงินทุนมีการไหลเข้าสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 17.8 พันล้านยูโร สำหรับค่าเงินยูโรในเดือนกรกฎาคมแข็งค่ากับเงินทุกสกุลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนเนื่องจากความกังวลถึงปัญหาหนี้สาธารณะที่มีต่อสถาบันการเงินในยุโรปผ่อนคลายหลังประกาศผลการทำ stress test ในธนาคารขนาดใหญ่ ประกอบกับบทบาทการเป็น safe haven currency ของเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงในช่วงที่ผ่านมาเมื่อความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจ

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม: เดือนพฤษภาคมขยายตัว 0.9% ขณะที่ความเชื่อมั่นเดือนกรกฎาคมพุ่งเกินระดับ 100 จุด

ดัชนีชี้วัดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index: IPI) ที่ปรับตามฤดูกาลแล้วประจำเดือนพฤษภาคมของกลุ่ม EU16 อยู่ที่ระดับ 97.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 0.9 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในเดือนนี้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากการผลิตในทุกหมวดโดยเฉพาะดัชนีการผลิตในหมวดสินค้าบริโภคชนิดคงทน และหมวดสินค้าทุน ที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 1.0 ตามลำดับ ขณะที่การผลินในหมวดสินค้าขั้นกลาง หมวดสินค้าบริโภคชนิดไม่คงทน และหมวดพลังงาน ขยายตัวร้อยละ 0.8 0.6 และ 0.6 ตามลำดับ โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลีขยายตัวค่อนข้างแข็งแกร่งร้อยละ 2.9 1.9 และ 1.0 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีการผลิตของสเปนกลับหดตัวร้อยละ 0.3 ในเดือนนี้ การฟื้นตัวของภาคการผลิตต่อเนื่องอย่างช้าๆ ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมน่าจะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง

ขณะที่ดัชนีชี้วัดทางด้านอุปสงค์ของกลุ่ม EU16 ในเดือนกรกฎาคมปรับตัวดีขึ้นโดยดัชนีผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Economic Sentiment Index: ESI) อยู่ที่ระดับ 101.3 จุด เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.3 จากเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับที่สูงที่สุดนับจากเดือนเมษายน 2008 เป็นต้นมาสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจยุโรปเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากชะลอตัวลงไปในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป

อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนชะลอลงเหลือร้อยละ 1.4

ดัชนีราคาผู้บริโภค (Harmonised Index of Consumer Prices: HICP) ของพื้นที่ยุโรป (Euro Area: 16 ประเทศ) ประจำเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 (เดือนที่แล้ว +1.6%) ถือเป็นเดือนที่ 8 ที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มเป็นบวกหลังจากที่ติดลบติดต่อกัน 5 เดือนก่อนหน้านั้น โดยหมวดราคาสินค้าที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับราคาเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วหลักๆ มาจากหมวดคมนาคมขนส่ง (+3.9%) หมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ (+3.7%) และหมวดที่อยู่อาศัย (+1.8%) ขณะที่หมวดรายจ่ายที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของเงินเฟ้อมาจากหมวดสื่อสารโทรคมนาคม (-1.1%) หมวดสันธนาการ (-0.2%) และหมวดอาหาร (-0.2%) สำหรับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุด 3 อันดับแรกในเดือนนี้ ได้แก่ Greece, Belgium และ Luxemburg ที่มีอัตราเงินเฟ้อ +5.2%, +2.7%, และ +2.3% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุด ได้แก่ Ireland, Netherlands และ Slovakia ที่มีอัตราเงินเฟ้อ -2.0%, +0.2% และ +0.7 ตามลำดับ

ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศสหภาพยุโรทั้งหมด 27 ประเทศ (EU 27) ชะลอลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 1.9 (เดือนที่แล้ว +2.0%) โดยประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่ม EU27 นอกจาก Greece แล้ว รองลงมาเป็นประเทศ Hungary และ Romania ที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ +5.0% และ +4.3% ตามลำดับ

อัตราการว่างงาน : เดือนมิถุนายนทรงตัวที่ระดับร้อยละ 10.0

ยอดผู้ว่างงานที่ปรับตามฤดูกาลแล้วของ Euro area 16 ประเทศ ณ เดือนมิถุนายนมีจำนวน 15.77 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียง 6,000 คนจากเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 0.79 ล้านคนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว โดยอัตราการว่างงานในเดือนนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 10.0 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1998 อย่างไรก็ดี อัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ว่างงานยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศสมาชิก Euro area ที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด ได้แก่ Latvia Spain และ Estonia ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 20.0 20.0 และ 19.0 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุด ได้แก่ Austria Netherlands และ Luxembourg ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.9 4.4 และ 5.3 ตามลำดับ

ขณะที่ยอดผู้ว่างงานของ EU 27 ประเทศ อยู่ที่ระดับ 23.062 ล้านคน ลดลง 32,000 คนจากเดือนที่แล้ว ถือเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่จำนวนผู้ว่างงานลดลง และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.47 ล้านคน โดยอัตราการว่างงานทรงตัวในระดับสูงร้อยละ 9.6 เป็นเดือนที่ 5

อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

ECB คงอัตราดอกเบี้ยเป็นเดือนที่ 15 ขณะที่ปริมาณเงินและสินเชื่อยังคงมีเสถียรภาพในระดับต่ำ

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม คณะกรรมการธนาคารกลางสหภาพยุโรป มีมติคงอัตราดอกเบี้ย Refinancing Operations (MRO) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ไว้ตามเดิมที่ระดับร้อยละ 1.0 นับเป็นเดือนที่ 15 ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับดังกล่าว โดย ECB ได้ให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีความเหมาะสมกับสถานการณ์เมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดหลังจากการประชุมครั้งก่อนโดยคาดว่าแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปโดยเฉพาะแรงกดดันเงินเฟ้อจากภายในสหภาพยุโรป โดยเศรษฐกิจของ Euro area มีการฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี และคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ออาจผันผวนไม่แน่นอน ขณะที่สภาพคล่องของระบบการเงินยังคงชะลอตัวและไม่พบว่าจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางแต่อย่างใด ซึ่งคณะกรรมการเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางถึงยาวจะอยู่ภายในกรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายร้อยละ 2.0 และส่งผลดีต่อการรักษากำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชน โดยการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม

ในเดือนมิถุนายนสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของ Euro Area ยังคงทรงตัวมีเสถียรภาพในระดับต่ำนับจากที่สภาพคล่องเริ่มชะลอลงเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2007 โดยยอดคงค้างปริมาณเงินตามความหมายกว้าง หรือ M3 อยู่ที่ระดับ 9.46 ล้านล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนที่แล้ว -0.2%) ขณะที่สินเชื่อเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อยต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างสินเชื่อที่สถาบันการเงิน (MFI) ให้กู้กับภาคเอกชน (loan to private sector) มียอดคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 10.96 ล้านล้านยูโร เพิ่มขึ้น 37 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (เดือนที่แล้ว +0.2%) ถือเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่มีอัตราการเพิ่มเป็นบวกหลังจากที่อัตราการเปลี่ยนแปลงมีการติดลบติดต่อกัน 7 เดือนก่อนหน้านั้น

สำหรับค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้น (Money market interest rates) ในเดือนกรกฎาคมมีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่แล้วในทุกอายุ โดยค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีเพิ่มขึ้นระหว่าง 9 — 14 basis points ขณะที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนที่แล้วโดยอัตราผลตอบแทนอายุ 5 ปีไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่แล้ว ขณะที่อายุ 10 ปีลดลง 7 basis points ตามลำดับ โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนระยะสั้นมีทิศทางขาขึ้นอย่างช้าๆ โดยลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญ หาวิกฤตการคลังในสหภาพยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงของการกู้ยืมระหว่างธนาคาร ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราผลตอบแทนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอัตราผลตอบแทนอยู่ตำกว่าระหว่าง 4 — 13 basis points ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาว 5 ปีและ 10 ปีอยู่ต่ำกว่าปีที่แล้ว 16 และ 46 basis points

อัตราแลกเปลี่ยน : ยูโร แข็งค่ากับเงินทุกสกุลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

ค่าเฉลี่ยเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ในเดือนกรกฎาคมแข็งค่าขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากอ่อนค่าติดต่อกัน 7 เดือนก่อนหน้า โดยเงินยูโรมีระดับปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ระดับ 1.2328 $/ยูโร ซึ่งเป็นการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากกลางเดือนที่แล้วหลังจากที่เงินยูโรลงไปอ่อนค่าต่ำสุดที่ระดับ 1.1942 $/ยูโร ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยในเดือนนี้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งเดือนแม้จะมีความผันผวนบ้างโดยสามารถขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1.30 $/ยูโร ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนในช่วงท้ายเดือน และปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 1.30282 $/ยูโร ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้แข็งค่าขึ้นค่อนข้างแรงถึงร้อยละ 4.8 หลังจากที่อ่อนค่าตลอดในช่วง 7 เดือนที่ก่อนหน้า แต่หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วเงินยูโรยังอ่อนค่าอยู่ร้อยละ 9.4 การที่เงินยูโรแข็งค่าขึ้นในเดือนนี้เป็นผลมาจากความมั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้นทำให้ความต้องการถือครองดอลลาร์ สรอ. ในฐานะ haven currency ลดลง ประกอบกับผลการทำ stress test พบว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่ถูกทำการทดสอบไม่มีปัญ หาเรื่องเงินกองทุนในการรองรับวิกฤต นอกจากนี้ ตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงกดดันค่าเงินดอลลาร์ สรอ.

เงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยเงินยูโรปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ระดับ 0.82215 ปอนด์/ยูโร ซึ่งเป็นการแข็งค่าต่อเนื่องจากปลายเดือนที่แล้วหลังจากที่ยูโรลงไปปิดต่ำสุดนับจากเดือนพฤศจิกายน 2008 ที่ระดับ 0.8104 ปอนด์/ยูโร โดยในเดือนนี้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นโดยตลอดนับจากวันแรกของเดือนจนสามารถขึ้นไปมีระดับปิดสูงสุดที่ระดับ 0.8483 ปอนด์/ยูโร ในช่วงกลางเดือน ก่อนที่จะค่อยๆ อ่อนค่าลงในช่วงหลังของเดือนและปิดตลาดวันสุดท้ายที่ระดับ 0.8349 ปอนด์/ยูโร จึงทำให้โดยรวมแล้วเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 1.0 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเงินยูโรยังอ่อนค่าอยู่ร้อยละ 2.9 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นในเดือนนี้มาจากการคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะและความกังวลว่าจะกระทบต่อฐานะของสถาบันการเงินในสหภาพยุโรป

เมื่อเทียบกับเงินเยนแล้วค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.7 หลังจากที่เงินยูโรอ่อนค่ารุนแรงในช่วง 2 เดือนก่อนหน้าที่มีการอ่อนค่าลงไปถึงร้อยละ 11.8 โดยเงินยูโรมีระดับปิดวันแรกของเดือนที่ระดับ 108.14 เยน/ยูโร ใกล้เคียงกับปลายเดือนที่แล้ว จากนั้นเงินยูโรก็สามารถฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่เหลือของเดือนอย่างช้าๆ โดยขึ้นมาปิดสูงสุดของเดือนที่ระดับ 114.01 เยน/ยูโร ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 112.62 เยน/ยูโร ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้แข็งค่าเล็กน้อยร้อยละ 0.7 แต่อ่อนค่าลงร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว

เงินยูโรในเดือนนี้แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หลังอ่อนค่าติดต่อกันถึง 7 เดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันเมื่อเทียบเงินดอลลาร์ สรอ.หลังจากมีระดับปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ 39.967 ฿/ยูโร จากนั้นเงินยูโรก็สามารถฟื้นตัวขึ้นได้ตลอดช่วงที่เหลือของเดือนโดยสามารถผ่านระดับ 40฿/ยูโร 41฿/ยูโร และ 42฿/ยูโร และปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 42.048 ฿/ยูโร ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้แข็งขึ้นร้อยละ 4.1 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วเงินยูโรยังอ่อนค่ากับเงินบาทอยู่ร้อยละ 14.0

ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพฤษภาคมขาดดุล 5.8 พันล้านยูโร ขณะที่กระแสเคลื่อนย้ายเงินทุนมีการไหลเข้าสุทธิเล็กน้อย

ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม Euro area มีฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับตามฤดูกาลแล้ว (seasonally adjusted current account balance) ขาดดุล 5.8 พันล้านยูโร (เดือนที่แล้วขาดดุล 5.6 พันล้านยูโร) โดยในเดือนนี้ Euro area เกินดุลการค้า (goods trade) และดุลบริการ (services) เล็กน้อย 3.1 และ 3.1 พันล้านยูโร ตามลำดับ แต่ขาดดุลรายได้ (income) และดุลเงินโอน (current transfer) จำนวน 4.4 และ 7.6 พันล้านยูโร ตามลำดับ จึงทำให้โดยรวมแล้ว Euro area มีฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนที่แล้ว

สำหรับยอดสะสม 12 เดือน Euro area มีฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสะสมจำนวน 43.9 พันล้านยูโร (ร้อยละ 0.5 ของ Euro GDP) ลดลงจากยอดสะสม 12 เดือนก่อนหน้าที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 156.3 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา Euro area กลับสถานะจากขาดดุลการค้ามาเป็นเกินดุลการค้า ขณะที่การไหลออกสุทธิของดุลรายได้และดุลเงินโอนมียอดลดลง

ทางด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (financial account) ที่ยังไม่ปรับตามฤดูกาล (non-seasonal adjusted) ประจำเดือนพฤษภาคมของ Euro area มีเงินไหลเข้าสุทธิ 17.8 พันล้านยูโร (เดือนที่แล้ว +8.6 พันล้านยูโร) เนื่องจากโดยรวมแล้วในเดือนนี้มีการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (portfolio investment) ค่อนข้างมาก ขณะที่เงินลงทุนทางตรง (direct investment) และเงินกู้มีฐานะไหลออกสุทธิต่ำกว่าเดือนที่แล้ว

ขณะที่ยอดสะสมในรอบ 12 เดือน Euro area มีฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิเพียง 15.4 พันล้านยูโร (-91.3% จากปีที่แล้ว) เนื่องจากแม้เงินลงทุนทางตรงสุทธิสะสม (net direct investments) จะไหลออกน้อยกว่าปีที่แล้ว (-28.9% จากปีที่แล้ว) รวมถึงการที่สถาบันการเงินมีฐานะเป็นผู้ให้กู้ยืมสุทธิลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์มียอดไหลเข้าสุทธิลดลงเป็นจำนวนมาก (-33.0% จากปีที่แล้ว) จึงทำให้โดยรวมแล้วฐานะกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายสะสมสุทธิของ Euro area มียอดไหลเข้าสุทธิลดลงจากปีที่แล้วจำนวนมากดังกล่าว

ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • นาย Gyorgy Matolcsy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของฮังการีที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนเมษายนได้สร้างความสับสนให้กับตลาดการเงินเมื่อให้ความเห็นทางโทรทัศน์ว่าฮังการีจะไม่มีการจัดทำมาตรการเพื่อเร่งลดการขาดดุลการคลังเพิ่มเติมอีกแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาเขากลับให้สัมภาษณ์ว่าฮังการีจะสามารถบรรลุข้อตกลงเงินกู้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ในเดือนกันยายนโดยสัญญาว่าจะทำให้การขาดดุลการคลังของประเทศลดลงต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ของ GDP ภายในปี 2011 ซึ่งเป็นความเห็นที่ค่อนข้างขัดแย้งกันเองเนื่องจากปัจจุบันฮังการีได้รับเงินกู้ในรูปของวงเงินกู้ฉุกเฉิน (standby facility) จาก IMF จำนวน 20 พันล้านยูโร การยืดเวลาการจัดทำแผนเข้มงวดด้านการคลังออกไปทำให้ทั้ง IMF และ EU ออกมาเตือนฮังการีในการทบทวนวงเงินกู้ดังกล่าวว่ามาตรการที่ดำเนินการเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะลดการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ของ GDP ตามเป้าหมายได้ (19 กรกฏาคม 2010)
  • Moody’s ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไอร์แลนด์ลง 1 ระดับเหลือ Aa2 แต่ปรับแนวโน้มในอนาคตจาก negative เป็น stable หลังจากประเมินแล้วเห็นว่ารัฐบาลไอร์แลนด์กำลังประสบปัญหายอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ก่อนเกิดวิกฤตการเงินเป็นร้อยละ 64 ในปี 2009 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ยังคงหดตัวนับตั้งแต่ปี 2008 จนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2010 ทำให้การจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้า โดย Moody’s ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไอร์แลนด์จะยังคงขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวอย่างน้อยอีก 3 — 5 ปีเนื่องจากภาคการธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นภาคสำคัญของเศรษฐกิจไอร์แลนด์ยังคงอ่อนแอ รวมถึงการหดตัวของสินเชื่อทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวยาวนานกว่าปกติ (19 กรกฎาคม 2010)

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ