นายกรัฐมนตรี ประกาศแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแบบยั่งยืน โดยรัฐบาลได้มีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ลูกหนี้นอกระบบ ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก (Microfinance) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในขณะที่กระทรวงการคลังเปิดตัว บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการอนุมัติสินเชื่อโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่เข้าสู่ระบบแล้ว กลับไปสู่วงจรหนี้นอกระบบอีกครั้ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงาน ก้าวที่ยั่งยืนสู่ชีวิตใหม่ปลอดหนี้นอกระบบและเปิดตัว บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแบบยั่งยืน ดังต่อไปนี้
1. รัฐบาลได้เริ่มต้นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรมร่วมกันผลักดันโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการประสานธนาคารในเครือข่ายของรัฐในการเปิดรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2552 พร้อมข้อเสนอเงินกู้ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง เป็นผู้ร่วมดำเนินการในคณะเจรจาประนอมหนี้ในระดับจังหวัดจนถึงระดับอำเภอ
รัฐบาลได้ยึดถือโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล เนื่องจากเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงและไม่เป็นธรรม และที่ถูกทวงถามหนี้อย่างโหดร้ายจากเจ้าหนี้นอกระบบ รัฐบาลจึงต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนที่มีหนี้นอกระบบได้มีโอกาสโอนหนี้เข้าในระบบ โดยโครงการฯ เปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบสถาบันการเงินในเครือข่ายของรัฐได้ง่ายขึ้น
2. รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก (Microfinance) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากจะช่วยให้ประชาชนในชนบทที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบปกติได้เช่นกลุ่มคนยากจน ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และธุรกิจขนาดย่อม
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากในประเทศไทยนั้นปรากฏอยู่แล้วในแผนต่างๆ เช่น แผนแม่บทการเงินระดับฐานราก แผนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ที่ดำเนินการโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว และเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้เริ่มดำเนินการโครงการธนาคารชุมชนโดยได้จัดตั้งธนาคารชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย โดยชื่อว่า “ธนาคารชุมชนศรีฐาน” ที่บ้านศรีฐาน หมู่ 1 ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และหนี้สินภาคประชาชน ต้องมุ่งเน้นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โดยไม่หวังผลทางการเมืองระยะสั้น ต้องไม่ใช่การแจกเงิน ไม่ว่าจะเป็นการชำระหนี้แทน หรือการคิดดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป แต่ต้องมีการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน เป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวม พัฒนาความเข้มแข็งและนำไปสู่การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมไทยทุกระดับต่อไป
ในวันที่ 16 สิงหาคม 2553 กระทรวงการคลังได้จัดงาน ก้าวที่ยั่งยืนสู่ชีวิตใหม่ปลอดหนี้นอกระบบ และเปิดตัว บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงินเพื่อประกาศผลดำเนินการของโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงการคลังได้เตรียมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ลงทะเบียนทุกท่าน
โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มอบหมายนโยบายในการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินของประชาชนโดยการโอนหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินในเครือข่ายของรัฐทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ทำหน้าที่ให้บริการค้ำประกันลูกหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือผู้ค้ำประกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ โดยปรากฏผลการดำเนินงานดังนี้
- ยอดลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน ระหว่างวันที่ 1-30 ธันวาคม 2552 และวันที่ 1-29 มกราคม 2553 มีจำนวน 1,183,355 ราย จำนวนมูลหนี้ 122,672.19 ล้านบาท
- เจรจาประนอมหนี้สำเร็จจำนวน 602,803 ราย เจรจาไม่สำเร็จจำนวน 182,862 ราย และ ยุติเรื่องจำนวน 397,690 ราย
- ธนาคารและสถาบันการเงินชุมชนอนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 412,741 ราย อยู่ในระหว่างดำเนินการจำนวน 75,066 ราย
สำหรับลูกหนี้นอกระบบ 412,741 ราย ที่ได้รับการโอนหนี้เข้าสู่ระบบ เพื่อพบชีวิตใหม่ เฉลี่ยมูลหนี้รายละ100,000 บาท หากลูกหนี้นอกระบบจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน แต่ละรายสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้เดือนละ 5,000 — 10,000 บาท ต่อเดือน รวมกันอย่างน้อย ประมาณ 2,000-4,000 ล้านบาทต่อเดือนหรือประมาณ 24,000-48,000 ล้านบาทต่อปีโดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน ทั้งยังได้ลดดอกลดต้น เพิ่มโอกาสในการขยายกิจการ และการออม
กระทรวงการคลังต้องการช่วยเหลือไม่ให้ลูกหนี้กลับไปใช้หนี้นอกระบบอีกครั้ง และเพื่อเป็นการเสริมสร้างวินัยในการใช้เงินและการผ่อนชำระเงินกู้รายเดือน จึงจัดให้มีบัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน ซึ่งเมื่อธนาคารอนุมัติเงินกู้แล้ว ธนาคารจะมอบบัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน เป็นบัตรสำหรับสมาชิกซึ่งเข้าร่วมโครงการหนี้นอกระบบของกระทรวงการคลัง ซึ่งบัตรมีรหัสแท่ง (Barcode) สำหรับใช้ในการชำระเงินกู้รายเดือนผ่านเคาน์เตอร์ของทุกธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกหนี้และหากลูกหนี้จ่ายผ่อนชำระเงินกู้รายเดือนตรงตามกำหนด เป็นระยะเวลา 1 ปี ธนาคารจะมีวงเงินสำรองฉุกเฉินให้ในเดือนที่ 13 ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถนำบัตรไปกดเอาเงินสดจากตู้ ATM ของทุกธนาคารที่ร่วมโครงการ (ยกเว้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์) ได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อ 1 ปี
นอกจากนี้บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงินยังเป็นบัตรเพื่อแสดงสิทธิการประกันชีวิตที่ทางธนาคารที่อนุมัติเงินกู้ได้จัดให้แก่ลูกหนี้ทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวผู้ถือบัตรสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนหนี้นอกระบบกับกระทรวงการคลังแต่ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อเนื่องจากไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอนั้น กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานในการ ช่วยจัดหางานในพื้นที่ของลูกหนี้ เพื่อลูกหนี้จะสามารถสร้างศักยภาพในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในระบบต่อไปในอนาคต
นอกจากโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนี้แล้ว กระทรวงการคลังจะศึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก (Microfinance) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนอย่างยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระบบการเงินระดับฐานรากจะเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินและแหล่งเงินทุน
กระทรวงการคลัง
โทร. (02) 273-9021ต่อ 2458
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 96/2553 16 สิงหาคม 53--