รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 20 สิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 23, 2010 11:09 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนก.ค. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 117.8 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.9 ต่อปี
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี ในขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 แต่ด้วยอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 20.6 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้ารวมในเดือน ก.ค. 53 ในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 16,505 ดอลลาร์สหรัฐ และยังขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ 36.1 ต่อปี
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนก.ค. 53 มีจำนวน 1.25 ล้านคน ขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ร้อยละ 14.2 ต่อปี
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯเดือนก.ค.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี
  • GDP ญี่ปุ่นไตรมาสที่ 2 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปีหรือขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้าธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการลงร้อยละ 2.0
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 1.10 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาค
Indicators next week
   Indicators                      Forecast            Previous
July: MPI (%yoy)                     14.5                 14.3
  • เนื่องจากฐานการคำนวณต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนโดยคาดว่าการผลิตสินค้าสำ คัญของไทย เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการส่งออกสิงค้าทั้ง 2 หมวดที่ยังคงขยายตัวในระดับสูง ถึงแม้อัตราการขยายตัวจะชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าก็ตาม
Economic Indicators: This Week

รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 117.8 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.9 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการ 32.0 พันล้านบาทหรือร้อยละ 37.3 สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและรายได้ประชากร โดยภาษีฐานการบริโภค(ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 14.6 แต่หดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว สะท้อนการฟื้นตัวที่ยังเปราะบางของการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่ภาษีฐานรายได้ (ผลรวมของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ขยายตัวที่ร้อยละ 21.2 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนรายได้ประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 21.1 ต่อปี (หรือหดตัวที่ร้อยละ -3.7 ต่อเดือน เมื่อหักปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว)เนื่องจากปัจจัยฐานเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปีที่แล้ว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว พบว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ที่จัดเก็บบนการบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ดี โดยได้รับปัจจัยจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือน มิ.ย. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 21.2 ต่อปี และจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตุกรุงเทพฯ และปริมณฑลขยายตัวเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อีกทั้งอัตราการขายที่อยู่อาศัยใหม่ในเดือน มิ.ย. 53 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 ต่อปีจากร้อยละ 23.3 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีความต้องการที่แท้จริง (Real Demand)จากผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้น

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 1.67 แสนคัน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 14.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และยอดการจดทะเบียนที่สูงมากในเดือนก่อน เนื่องจากมียอดค้างจดทะเบียนในเดือนพ.ค. 53 แต่อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าปริมาณการจำหน่ายรถจักยานยนต์ในเดือน ก.ค. 53 ยังขยายตัวได้ดี โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) รายได้ เกษตรกรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคายางพาราและมันสำปะหลังที่ขยายตัวในอัตราเร่ง และ 2) สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของประชาชนดีขึ้น และเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนก.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 71.4 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ระดับ 69.1 บ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจาก 1) ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากภาคการส่งออกยังขยายตัวอีกทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่องในขณะที่ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดีนอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกที่ร้อยละ14.2 ต่อปี ในเดือน ก.ค. 53 หลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเมือง 2)สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น และ 3) แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 แต่ด้วยอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 20.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.3 ต่อปี และหากหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว จะหดตัวที่ร้อยละ -12.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ผลจากการชะลอตัวลงเกือบทุกตลาดและในทุกหมวดสินค้าหลัก หลังจากมีการเร่งการส่งออกในเดือนก่อนหน้า โดยในมิติสินค้า การส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 14.3 11.0 และ 23.0 ต่อปีตามลำดับ และหากพิจารณามิติคู่ค้าแล้ว มีเพียงการส่งออกไปยังจีนตะวันออกกลาง และบรูไนที่มีการขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่การนำเข้าสินค้ารวมในเดือน ก.ค. 53 ในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 16,505 ดอลลาร์สหรัฐ และยังขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ 36.1 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจาก เดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 37.9 ต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าส่งออกทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 53 ขาดดุลที่ -0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 53 อยู่ที่ระดับ108.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 103.3 โดยมีค่าดัชนีเกิน100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดี ทั้งนี้ เป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนียอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองได้คลี่คลายลงและการขับเคลื่อนแผนปรองดองเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน ณ เดือนก.ค. 53 อยู่ที่ 117.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.53 ที่อยู่ในระดับ 105.7 เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่ายอดคำสั่งซื้อยอดขายปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค. 53 มีจำนวน 1.25 ล้านคน ขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ร้อยละ14.2 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและปรับผลทางฤดูกาลแล้ว สะท้อนถึงการกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติหลังจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองสิ้นสุดลง โดยกลุ่มที่ขยายตัวในระดับสูงได้แก่ 1) ภูมิภาคอาเซียน (สัดส่วนร้อยละ 26.3) ขยายตัวร้อยละ 27.2 ต่อปี โดยมาจากมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นหลัก 2) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (สัดส่วนร้อยละ 24.7) ขยายตัวที่ร้อยละ 20.2 ต่อปี โดยมาจากจีนสูงถึงร้อยละ 87.9 ต่อปี และ 3) ภูมิภาคตะวันออกกลาง (สัดส่วนร้อยละ 1.8) ขยายตัวที่ร้อยละ 32.1 ต่อปี

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 53 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 14.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.3 ต่อปี เนื่องจากฐานการคำนวณต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่าการผลิตสินค้าสำคัญของไทย เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการส่งออกสิงค้าทั้ง 2 หมวดที่ยังคงขยายตัวในระดับสูง ถึงแม้อัตราการขยายตัวจะชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าก็ตาม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ