Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2553
1. กนง. ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25
2. พาณิชย์ปลื้มมูลค่าส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ครึ่งปีแรกพุ่ง
3. การส่งออกของญี่ปุ่นชะลอตัว ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น
- ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุม กนง.ว่าคณะกรรมการฯ มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 แม้ว่าแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังมีไม่มาก แต่คาดว่าจะสูงขึ้นในปี 54 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะน้ำมัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี มีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่สามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ กอปรกับสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ที่สูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรงพาณิชย์เผยว่าช่วงครึ่งแรกของปี 53 (ม.ค.-มิ.ย.) ประเทศไทยส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ทุกระบบมีมูลค่า 6,094.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 25.40 และเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกเฉพาะสินค้าที่ได้รับสิทธิไปยังประเทศผู้ให้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.18 ปัจจุบันไทยได้รับสิทธิ GSP จากประเทศต่าง ๆ รวม44 ประเทศ ขณะที่โครงการ GSP สหรัฐฯ ที่จะหมดอายุในวันที่ 31
ธ.ค.53 กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาปฏิรูปโครงการใหม่ โดยจะมีการจัดประชุมหารือกับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มเติมสินค้าที่จะขอรับสิทธิใหม่
- สศค. วิเคราะห์ว่าการมีสิทธิ GSP ดังกล่าวมีส่วนช่วยรักษาสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ GSP สูง ถึงร้อยละ 89.4 ของมูลค่าการใช้สิทธิทั้งหมด โดยตลาดอันดับ 1 สหภาพยุโรปมีการใช้สิทธิ GSP ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 40.8 ของมูลค่าการส่งออกรวม มีสินค้าที่ใช้สิทธิหลักได้แก่ ยานยนต์ เลนส์แว่นตา และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่อันดับ 2 สหรัฐฯ มีการใช้สิทธิ GSP ในสัดส่วนร้อยละ 19.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม มีสินค้าที่ใช้สิทธิหลักได้แก่ เครื่องประดับเงิน ยางรถยนต์ อย่างไรก็ดีการเจรจาในรอบใหม่นี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้สิทธิให้สูงขึ้นได้
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค. 2553 การส่งออกของญี่ปุ่นเจริญเติบโตอยู่ที่ ร้อยละ 23.5 ต่อปี ซึ่งชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 27.7 ต่อปี โดยเป็นการชะลอติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยสำคัญมาจากเงินเยนปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จนมาอยู่ที่ 84.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 15 ปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มชะลอตัวลง นอกจากเป็นผลมาจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 9.6 ในปีนี้แล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับที่ต่ำก็มีบทบาทในการชะลอการเจริญเติบโตภาคการส่งออกเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศสำคัญ เช่น จีน และสหรัฐฯ ซึ่งในไตรมาสที่ 2 การขยายตัวเศรษฐกิจจีนชะลอมาอยู่ที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี จากร้อยละ 11.9 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่สหรัฐฯ มีการ
ขยายตัวในไตรมาสที่ 2 อยู่เพียงร้อยละ 3.2 ต่อปี จากร้อยละ 2.4 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th