รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 30, 2010 10:02 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2553

Summary:

1. ประชาธิปัตย์ชี้ผลงานเศรษฐกิจรัฐบาลผ่านฉลุย

2. ธนาคารพาณิชย์ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

3. การจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรม อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชะงักงัน

Highlight:
1. ประชาธิปัตย์ชี้ผลงานเศรษฐกิจรัฐบาลผ่านฉลุย
  • โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ภาระกิจในการพลิกฟื้นคืนความเชื่อมั่นแก่เศรษฐกิจไทยถือว่าประสบความสำเร็จ โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปี 53 มีการประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 7 ขึ้นไป สะท้อนได้จากความเชื่อมั่นตลาดหุ้นที่ ดัชนีขึ้นมาสูงสุดในรอบ 2 ปี11 เดือน เป็นการสะท้อนถึงโครงสร้างพื้นฐานในตลาดทุนที่แข็งแกร่ง ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้น ดัชนีผลผลิตของภาคอุตสาหกรรม ถือว่าเป็นบวกติดต่อกัน 9 เดือน โดยการใช้กำลังการผลิตนั้นขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดถึง 62.4 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงคือ 1. ฐานเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาการส่งออก 2. แนวโน้มการแข็งตัวของค่าเงินบาท และ 3. แนวโน้มค่าแรงซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นกว่าประเทศที่เป็นคู่แข่ง ในขณะเดียวกันมีการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 2 ปี 53 ตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี เป็นการขยายตัวที่สูงกว่าที่หลายหน่วยงานอื่นๆ ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของทั้งอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 และ 18.5 ต่อปี ตามลำดับ และการเติบโตของอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ส่งออกขยายตัวร้อยละ 22.3 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างสมดุลมากขึ้น ทั้งนี้ GDP ในไตรมาส 2 ที่ออกมาดีเกินคาด ทำให้คาดว่า สศค. อาจมีการปรับประมาณการณ์ GDP ปี 53 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่า GDP ปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 53)
2. ธนาคารพาณิชย์ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • แหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่าในสัปดาห์นี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะทยอยประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราร้อยละ 0.10-0.25 และมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เพื่อตอบรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่ส่งกระทบต่อผู้กู้เงินและผู้ฝากเงินมากนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยจากเดิมร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี (ในวันที่ 25 ส.ค. 53) นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ซึ่งจากการที่ธนาคารสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ที่สูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท จึงคาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนักในปี 53 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 53 จะอยู่ที่ 1.25-1.75 (ประมาณการ ณ เดือน มิ.ย.53) อย่างไรก็ตาม จากแรงกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับขึ้นอีกในช่วงปลายปี 53 และต่อเนื่องถึงปี 54 ซึ่งอาจส่งผลให้ สศค. ปรับประมาณการอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในการแถลงข่าวครั้งต่อไป
3. การจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรม อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชะงักงัน
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้คาดการณ์เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของสหรัฐของเดือนส.ค. 53 ที่จะมีการประกาศในสัปดาห์นี้ ซึ่งล้วนมีแนวโน้มที่จะชะลอลง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่คาดว่าจะลดลงอีก 1 แสนตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.6 จากร้อยละ 9.5 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะชะลอลงมาอยู่ที่ 52.8 จากเดือนก่อนที่ 55.5 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐที่อยู่ในช่วงการฟื้นตัว อาจชะงักงันลงได้ อย่างไรก็ตาม นายเบน เบอร์นันกี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวว่า จะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ หรือแม้กระทั่งการซื้อพันธบัตรรัฐบาล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน(ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) อย่างไรก็ตาม ในครึ่งหลังของปี 53 เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในหลายๆด้านที่ชะลอลง ทั้งด้านการบริโภค การผลิต การจ้างงาน และภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอลง จะส่งผลกระทบต่อไทยผ่านช่องทางการส่งออกเล็กน้อย เนื่องจากการส่งออกของไทยมีการกระจายตัวภายในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐในปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 10.9 ลดลงเรื่อยมาจากร้อยละ 12.6 และร้อยละ 16.0 ในปี 50 และปี 47 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 53)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ