รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 31, 2010 10:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2553

Summary:

1. ข้าวถุงเตรียมจ่อขึ้นราคา

2. ส.อ.ท.เตือนรับมือปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังปี 53

3. แบงก์ชาติญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการการเงินผ่อนปรนเพิ่ม

Highlight:
1. ข้าวถุงเตรียมจ่อขึ้นราคา
  • อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าหลังจากครบกำหนดการขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ข้าวสารบรรจุน่าจะมีการปรับขึ้นราคา ตามคำร้องขอของผู้ประกอบการผลิตข้าวสารบรรจุถุงที่เสนอขอปรับราคาข้าวสารบรรจุถุงเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1-2 บาท หรือ เฉลี่ยถุงละ 5-10 บาท ตามราคาข้าวเปลือกมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งทางกรมการค้าภายในมองว่าจากสถานการณ์การแข่งขันที่สูงของสินค้ากลุ่มนี้ การปรับขึ้นราคาของผู้ประกอบการต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจส่งผลต่อยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ประกอบการได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การครบกำหนดการตรึงราคาข้าวทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาข้าวสูงขึ้นเนื่องจากมีต้นทุนสูงขึ้น และอาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงปลายปี 53 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นโดยสินค้าประเภทข้าวคิดเป็นสัดส่วนในการคำนวณอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.9 ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในเดือนก.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 53 อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 4.0 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือนมิ.ย. 53)
2. ส.อ.ท.เตือนรับมือปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังปี 53
  • รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงภาคอุตสาหกรรมไทยในครึ่งปีหลังของปี 2553 มี 3 ปัจจัยที่ต้องติดตามเพื่อรับมือ ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก 2.การแข็งค่าของค่าเงินบาท และ 3.ภาวะการแข่งขันตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งหากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องไม่หามาตรการรองรับไว้ล่วงหน้า อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของภาคการส่งออกช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากตัวเลขล่าสุดในช่วงครึ่งแรกปี 53 เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 10.6 ต่อปีและคาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 53 เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราชะลอลง เนื่องจากได้รับเสี่ยงต่างๆ ตามที่ ส.อ.ท. ได้กล่าวไว้ข้างต้น ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบาง ซึ่งภาคธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.0-6.0 ต่อปี(ประมาณการ ณ เดือนมิ.ย.53) อย่างไรก็ตาม จากตัวเลข GDP ครึ่งปีแรกที่ดีเกินคาด น่าจะส่งผลให้ สศค.ปรับประมาณการ GDP เพิ่มขึ้น ในการแถลงข่าวครั้งต่อไปในเดือนก.ย. 53
3. แบงก์ชาติญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการการเงินผ่อนปรนเพิ่ม
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยหลังจากการประชุมฉุกเฉิน ว่าจะมีการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น โดยธนาคารฯ จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอีก 10 ล้านล้านเยน หลังจากที่ค่าเงินเยนแข็งค่าต่อเนื่องจนอยู่ที่ระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 15 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเงินฝืด ในขณะเดียวกันก็จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 ต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงส่งสัญญาณอันตรายอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ การดำเนินมาตรการทางการเงินจึงมีข้อจำกัดสูง และมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะอยู่ในสภาวะกับดักสภาพคล่อง การอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบบจึงอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในขณะที่การดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีข้อจำกัดจากระดับหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่สูงที่สุดในโลกถึงเกือบ 2 เท่าของ GDP ดังนั้น ญี่ปุ่นอาจต้องพึ่งพาอุปสงค์ภายนอกเพื่อช่วยพยุงประเทศให้พ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย การควบคุมค่าเงินเยนให้อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการแข่งขันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น อนึ่ง สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 53)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ