รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 10:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 กันยายน 2553

Summary:

1. ธปท. ระบุเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.53 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

2. ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แทนการทุ่มเงินอุดหนุน

3. เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 2 โตสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี

Highlight:
1. ธปท. ระบุเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.53 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการผลิตขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะเรี่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสด ผักและผลไม้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.53 ยังคงสามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องแม้ว่ามูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 20.6 ต่อปี ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับแรงเสริมสำคัญจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวในอัตราที่สูงที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวได้ร้อยละ 18.6 ต่อปี นอกจากนี้ การบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 64.7 และ 14.5 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้ Real GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 53 สามารถเติบโตได้ร้อยละ 9.1 ต่อปี ด้วยเหตุนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 53 น่าจะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ปี 53 จากแรงเสริมของการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 53 อาจจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลง
2. ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แทนการทุ่มเงินอุดหนุน
  • นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยที่อยู่กับเรามานาน สะท้อนให้เห็นว่าหากยังแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น เพื่อช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะและการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง มากกว่าการกระจายรายได้ผ่านเงินอุดหนุน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายภาครัฐมีส่วนทำให้จำนวนคนจนลดลงทั่วประเทศเหลือไม่ถึงร้อยละ9.0 ของประชากรในปัจจุบัน จากที่เคยสูงถึงร้อยละ 18.9 ของประชากรเมื่อ 25 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุดกับกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุด ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่อย่างมีนัยสำคัญจากเมื่อช่วง 25 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ มาตรการที่ภาครัฐกำลังดำเนินการในปัจจุบัน จะได้มีส่วนในการสนับสนุนการกระจายโอกาสของบริการสาธารณะและด้านการศึกษา ได้แก่ โครงการเรียนฟรี 15 ปี โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โครงการกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น
3. เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 2 โตสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
  • สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 2 ของปี 53 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.6 ต่อปี เป็นอัตราการขยายที่สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากผลผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งขยายตัวสูงถึงที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี และผลผลิตเกษตรกรรมที่มีการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สคาดว่าเศรษฐกิจอินเดียสำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน (เม.ย. 53 — มี.ค. 54) จะมีการเจริญเติบโตโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ในปีก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเจริญเติบโตในระดับที่สูงของอินเดียมีบทบาทสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านทางการส่งออกในระดับที่สำคัญ ดังเห็นได้จากการที่อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 11 ของไทย หรือมีสัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมดในปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 และล่าสุดในเดือน ก.ค. 53 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ของการส่งออกทั้งหมด โดยการส่งออกที่สำคัญคือ เม็ดพลาสติค เคมีภัณฑ์ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมของอินเดียที่มีการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่ง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ