รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 6, 2010 10:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 กันยายน 2553

Summary:

1. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินการลงทุนไทยปี 54 ขยายตัว 7.5 - 9.3% หลังปลดล็อคการลงทุนมาบตาพุด

2. มูดี้ส์-ฟิทช์ จับตาการเมือง เสี่ยงฉุดเรทติ้งประเทศไทย

3. ทางการจีนยังคงนโยบายควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์

Highlight:
1. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินการลงทุนไทยปี 54 ขยายตัว 7.5 - 9.3% หลังปลดล็อคการลงทุนมาบตาพุด
  • ศูนย์วิจัยกสิกรฯ วิเคราะห์ว่า ปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดที่คลี่คลายส่งผลให้โครงการลงทุนต่างๆ มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางการลงทุนในระยะข้างหน้า โดยโครงการที่ศาลยกคำร้องจะสามารถกลับมาก่อสร้างและดำเนินการได้หลังจากที่หยุดชะงักไปในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อผนวกกับปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น การขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ตลอดจนธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นแรงส่งให้การลงทุนของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในปีข้างหน้าจากที่เติบโตในระดับสูงในปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองว่าปัญหาที่คลี่คลายจะส่งผลให้การลงทุนโดยรวมในปี 2553 อาจจะขยายตัวประมาณ 8.1 - 8.8% และขยายตัวต่อเนื่องที่ประมาณ 7.5 - 9.3% ในปี 2554
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงครึ่งแรก แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนของไทยได้รับแรงกดดันจากปัญหามาบตาพุด แต่การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีแรกขยายตัวถึงร้อยละ 17.2 ต่อปี โดยมีปัจจัยบวก คือ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวสูง และส่งผลให้การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าปัญหามาบตาพุดที่คลี่คลายจะส่งผลดีต่อการลงทุนของไทย แต่ทิศทางเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่ยังคงมีความผันผวน อาจส่งผลให้การลงทุนลดลง สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนก.ค. 53 ที่ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 25.4 ต่อปี จากร้อยละ 41.5 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 8.3 -12.1 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือนมิ.ย. 53) อย่างไรก็ตาม สศค.จะมีจากปรับประมาณการอีกครั้งในปลายเดือนนี้
2. มูดี้ส์-ฟิทช์ จับตาการเมืองเสี่ยงฉุดเรทติ้งประเทศไทย
  • หัวหน้าฝ่ายเรทติ้งประเทศของฟิทช์ เรตติ้งส์ มีความเห็นตรงกันกับนักวิเคราะห์อาวุโสของมูดี้ส์อินเวสเตอร์ เซอร์วิสว่า เอเชีย —แปซิฟิก รวมถึงไทย เป็นภูมิภาคสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ทั้งนี้ ในส่วนของไทย ฟิทช์ เรตติ้งส์ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 และ 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 และ 5.0 ต่อปี ในขณะที่ นักวิเคราะห์อาวุโสของมูดี้ส์อินเวสเตอร์ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 และ 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 และ 3.8 ต่อปี ตามลำดับ แต่มีความเห็นตรงกันว่าปัญหาทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันเศรษฐกิจไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกปี 53 สามารถเติบโตได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 10.6 ต่อปี ประกอบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่อยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อในครึ่งปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพ.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 42.6 (ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0) ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนก.ค. 53 อยู่ที่ระดับ151.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4.7 เท่า) ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน มิ.ย. 53) ซึ่งจากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ดีเกินคาดจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อาจมีการปรับเพิ่มเครดิตให้กับประเทศไทยได้
3. ทางการจีนยังคงนโยบายควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์
  • แหล่งข่าวหลายสำนักระบุว่าทางการจีนจะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ต่อไปอีก โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่ารัฐบาลอาจออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของราคาบ้านในหลายมณฑล ลดการเก็งกำไร และความต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่มากเกินจริง แม้ว่ามาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจีนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตังลง และอาจได้รับการต่อต้านจากผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย. 53 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เคยประกาศมาตรการควบคุมราคาบ้าน ทั้งการเพิ่มวงเงินดาว และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย มาแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การออกมาตรการควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้น สอดคล้องกับการดำเนินมาตรการดังกล่าวในฮ่องกงและสิงคโปร์ที่ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัย และทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อความเสี่ยงของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงจากในครึ่งปีแรกที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 11.1 ต่อปี และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปยังจีน ชะลอตัวตามไปด้วย ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกจากไทยไปจีนอยู่ทีร้อยละ 10.6 ของการส่งออกรวม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ