ภาวะเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร สิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 6, 2010 12:17 —กระทรวงการคลัง

บทสรุป

ภาวะเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนสิงหาคม พบว่าเสถียรภาพภายใน (internal stability) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อนหน้าและขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งเป็นการขยายตัวดีกว่าที่คาด แม้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนจะชะลอลงเล็กน้อยก็ตาม ขณะที่ดัชนีค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมขยายตัวร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้าถือเป็นการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ราคาที่อยู่อาศัยเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 หลังชะลอตัวลง 3 เดือนติดต่อกันก่อนหน้า ซึ่งโดยรวมระดับราคาที่อยู่อาศัยค่อนข้างทรงตัวนับจากต้นปีเป็นต้นมา ในส่วนของการว่างงานในเดือนมิถุนายนมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วโดยจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงส่งผลให้อัตราการว่างงานทรงตัวที่ร้อยละ 7.8 เท่าเดือนก่อนหน้าจากที่เคยสูงร้อยละ 8.0 เมื่อเดือนมีนาคม สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมชะลอลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 3.1 หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 17 เดือนในเดือนเมษายน ในส่วนของภาคการเงิน เดือนสิงหาคม Bank of England คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank rate) ไว้ที่ร้อยละ 0.5 เป็นเดือนที่ 19 และคงวงเงิน QE จำนวน 200 พันล้านปอนด์ไว้ตามเดิม ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนระยะสั้นทรงตัวในระดับต่ำแต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่แล้ว แต่อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับลดเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ปริมาณเงินและสินเชื่อยังฟื้นตัวในระดับต่ำ โดยสินเชื่อภาคธุรกิจในเดือนกรกฎาคมหดตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า แต่สินเชื่อภาคครัวเรือนฟื้นตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ทางด้านเสถียรภาพภายนอก (external stability) เดือนมิถุนายนปรับดีขึ้นเมื่อการขาดดุลการค้าและบริการลดลงเหลือ 3.3 พันล้านปอนด์เทียบกับ 3.8 พันล้านปอนด์ในเดือนก่อนหน้า สำหรับค่าเงินปอนด์ในเดือนสิงหาคมมีค่าเฉลี่ยที่แข็งค่ากับทุกสกุลยกเว้นเยนญี่ปุ่น โดยเงินปอนด์มีทิศทางอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนกับทุกสกุล

ฐานะการคลัง เดือนกรกฎาคมรัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 3.2 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 จากปีที่แล้วเนื่องจากรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้น โดยยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ขยับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 63.7 เทียบกับร้อยละ 57.3 ในปีที่แล้ว

ภาพรวมเศรษฐกิจ

GDP Q2 ขยายตัวแข็งแกร่งร้อยละ 1.2 และเป็นการขยายตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน

ประมาณการเบื้องต้น (Preliminary estimate) ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2010 พบว่าเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 1 ขยายตัวติดร้อยละ 0.3) และขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (ไตรมาสที่ 1 ขยายตัวติดลบร้อยละ 0.2) โดย

  • ภาคบริการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 1.6) โดยภาคที่มีอัตราการเพิ่มมากที่สุดมาจากหมวดบริการธุรกิจและการเงินที่ขยายตัวแข็งแกร่งถึงร้อยละ 1.5 บริการภาครัฐและบริการอื่นขยายตัวร้อยละ 0.7 เช่นเดียวกับหมวดการค้าส่ง โรงแรม และภัตตาคาร ขณะที่หมวดธุรกิจบริการในภาคคมนาคมขนส่ง สื่อสาร และการเก็บรักษาสินค้าหดตัวลงร้อยละ 2.2 (ภาคบริการมีสัดส่วนต่อ GDP ร้อยละ 76)
  • ภาคอุตสาหกรรมและการผลิตขยายตัวร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อนหน้า (เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 1.6) โดยการผลิตในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นหมวดหลักขยายตัวร้อยละ 1.6 ขณะที่หมวดบริการสาธารณูปโภคไฟฟ้า ก๊าส และน้ำประปา และหมวดเหมืองแร่และพลังงานธรรมชาติขยายกลับหดตัวลงในไตรมาสนี้ร้อยละ 1.0 และ 0.4 ตามลำดับ (ภาคอุตสาหกรรมและการผลิตมีสัดส่วนต่อ GDP ร้อยละ 17)
  • ภาคการก่อสร้างขยายตัวค่อนข้างมากในไตรมาสนี้โดยขยายตัวถึงร้อยละ 8.5 จากไตรมาสที่แล้ว (เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 7.7) (ภาคการก่อสร้างมีสัดส่วนต่อ GDP ประมาณร้อยละ 6)
  • ภาคการเกษตรในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากไตรมาสที่แล้ว (เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 2.4) (ภาคการเกษตรมีสัดส่วนต่อ GDP ร้อยละ 1)

นับเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันที่เศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ามีการขยายตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจหดตัวลงตลอด 6 ไตรมาสติดต่อกัน ทั้งนี้ ในคราวเสนองบประมาณต่อสภาเมื่อเดือนมีนาคม กระทรวงการคลังประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ว่าจะขยายตัวระหว่างร้อยละ 1.0 — 1.5 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการเมื่อเดือนเมษายนว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 1.3

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนชะลอลงจากเดือนที่แล้วเล็กน้อย

ดัชนีชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index: IPI) ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 88.6 จุด ลดลงจากเดือนที่แล้วร้อยละ 0.4 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ถือเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ดัชนีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการที่ดัชนีในเดือนนี้ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเป็นผลมาจากการลดลงของการผลิตในหมวดเหมืองแร่และขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หดตัวลงแรงถึงร้อยละ 5.7 จากที่เพิ่งขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่การผลิตหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นหมวดการผลิตหลักและหมวดหมวดผลิตพลังงานไฟฟ้า น้ำ และก๊าซ มีการขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วร้อยละ 0.3 และ 1.2 ตามลำดับ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี และขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งช่วยยืนยันถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกอย่างช้า ๆ

House Price Index เดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นหลังจากชะลอตัว 3 เดือนติดต่อกัน

ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยทั่วประเทศวัดโดย Halifax House Price Index (HPI) ประจำเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 541.9 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากเดือนที่แล้ว ฟื้นตัวเป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวติดต่อกัน 3 เดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ชะลอลงจากร้อยละ 6.3 ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 8 หลังจากที่เคยติดลบถึง 21 เดือนติดต่อกันนับจากเดือนสิงหาคม 2007 ทั้งนี้ ราคาที่อยู่อาศัยนับจากต้นปีค่อนข้างทรงตัวมีเสถียรภาพโดยเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่มากนัก ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของนักเศรษฐศาสตร์ที่ประเมินว่าราคาที่อยู่อาศัยในปี 2010 น่าจะทรงตัวในระดับเดียวกับปีที่แล้ว หลังจากที่ราคาที่อยู่อาศัยฟื้นตัวค่อนข้างเร็วนับจากเดือนเมษายนปีที่แล้วเนื่องจากมีที่อยู่อาศัยเข้าสู่ตลาดน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการ แต่นับจากต้นปีนี้เป็นต้นมาจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้นหลังจากที่ราคาที่อยู่อาศัยเริ่มดีขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกมาตรการบังคับให้มีการตรวจสอบเพื่อรับรองสภาพอาคารและระบบสาธารณูปโภคของอสังหาริมทรัพย์ที่จะนำออกขาย (HIPs) จึงส่งผลดีให้มีบ้านเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นทำให้อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลมากขึ้น ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของราคาที่อยู่อาศัยในเดือนนี้อยู่ที่ระดับ 167,425 ปอนด์ต่อหลัง ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าจุดสูงสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2007 อยู่ร้อยละ 16.1 แต่ขณะเดียวกัน ก็ฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 8.4 จากจุดต่ำสุดเมื่อเดือนเมษายน 2009

CPI และ RPI เดือนกรกฏาคมชะลอลงเล็กน้อยเหลือ 3.1% และ 4.8% ตามลำดับ

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกรกฎาคมชะลอลงเหลือร้อยละ 3.1 นับเป็นเดือนที่ 3 ที่อัตราเงินเฟ้อชะลอลงหลังจากพุ่งขึ้นสูงที่สุดในรอบ 17 เดือนที่ระดับร้อยละ 3.7 เมื่อเดือนเมษายน โดยราคาสินค้ายังคงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบทุกหมวดแต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ยกเว้นหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ โดยหมวดราคาสินค้าหลักที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ ได้แก่ หมวดขนส่งและสื่อสาร หมวดสันธนาการ หมวดค่าสาธารณูปโภค หมวดภัตตาคารและโรงแรม และหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 1.4 0.4 3.0 และ 3.4 ตามลำดับ สำหรับดัชนี Retail Price Index (RPI) ชะลอตัวลงเล็กน้อยเช่นกันเหลือร้อยละ 4.8 จากร้อยละ 5.0 ในเดือนก่อน

อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 7.8% ขณะที่อัตราการมีงานเริ่มดีขึ้น

ในรอบ 3 เดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน (เมษายน-มิถุนายน) จำนวนผู้มีงานทำ (employment level) มีจำนวน 29.023 ล้านคน เพิ่มขึ้น 184,000 คน หรือร้อยละ 0.6 จากรอบ 3 เดือนก่อนหน้า (มกราคม-มีนาคม) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 104,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยอัตราการมีงานทำอยู่ที่ระดับร้อยละ 70.5 ของผู้ที่อยู่ในวัยทำงานทั้งหมด (working age employment rate) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นเดือนที่ 2 ที่อัตราการมีงานทำเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น

ทางด้านจำนวนผู้ว่างงานในเดือนมิถุนายนมีจำนวนทั้งสิ้น 2.457 ล้านคน ลดลง 49,000 คนจากไตรมาสก่อนหน้า (ลดลงร้อยละ 2.0) และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วยอดผู้ว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น 23,000 คน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0) ซึ่งเป็นการเพิ่มที่ชะลอลงมากและถือเป็นเดือนที่ 3 ที่จำนวนผู้ว่างงานอยู่ต่ำกว่าระดับ 2.5 ล้านคน การเพิ่มในอัตราที่ชะลอลงส่งผลให้อัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายนทรงตัวในระดับร้อยละ 7.8 เท่ากับเดือนที่แล้ว หลังจากที่อัตราการว่างงานลดลงเหลือร้อยละ 7.9 ในเดือนเมษายน

อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

Bank of England คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 0.5 เป็นเดือนที่ 19 พร้อมกับคงมาตรการ QE จำนวน 200 พันล้านปอนด์ไว้ตามเดิม

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของธนาคารกลางอังกฤษ มีมติ 8:1 ให้คงนโยบายอัตราดอกเบี้ย Bank rate ไว้ตามเดิมในอัตราร้อยละ 0.50 เป็นเดือนที่ 19 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดนับจากก่อตั้ง Bank of England ในปี 1694 พร้อมกับคงนโยบายรับซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน (Asset Purchased Facility) จำนวน 200 พันล้านปอนด์ตามมาตรการ Quantitative Easing ไว้ตามเดิม โดย 1 ในคณะกรรมการเห็นควรให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ทั้งนี้ คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าแม้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้แต่การขยายตัวทั้ง 2 ไตรมาสแรกของปีมาจากฐานที่ค่อนข้างต่ำในปีที่แล้วและเป็นการขยายตัวที่ได้รับอิทธิพลจากภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ในระบบเศรษฐกิจยังคงมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ซึ่งจะช่วยดึงอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำลงได้ในระยะยาว และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงเหนืออัตราเป้าหมายต่อไปอีกระยะหนึ่งเนื่องจากปัจ จัยระยะสั้นรวมถึงการที่อัตราภาษี VAT ในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 แต่เนื่องจากกำลังผลิตส่วนเกินที่ยังมีอยู่ประกอบกับเครื่องชี้ภาวะสภาพคล่องในระบบการเงินยังอ่อนแอโดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ว่าความต้องการภายในประเทศยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรคงนโยบายการเงินไว้เช่นเดิม โดยการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 2 กันยายน

โครงสร้างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเฉลี่ย (average yield curve) ประจำเดือนสิงหาคมพบว่าโดยรวมแล้วอัตราผลตอบแทนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีลดลงระหว่าง 1 — 6 basis points ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนที่แล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 5 — 20 ปี ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยลดลงค่อนข้างมากระหว่าง 17 — 25 basis points หลังจากที่มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปลายปีที่แล้ว

ปริมาณเงินยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัวลง สินเชื่อภาคธุรกิจหดตัวเป็นเดือนที่ 15 ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัว 8 เดือนติดต่อกัน

ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (M4) ในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 2.218 ล้านล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 9.8 พันล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนที่แล้ว (เดือนที่แล้ว +3.1%) ขณะที่ปริมาณสินเชื่อตามความหมายกว้าง (M4 lending) มียอดคงค้าง 2.56 ล้านล้านปอนด์ ลดลง 11.5 พันล้านปอนด์ หรือลดลงร้อยละ 0.4 จากเดือนที่แล้ว แต่ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (เดือนที่แล้ว +1.3%)

ยอดคงค้างสินเชื่อภาคธุรกิจ (lending to private corporation) มีจำนวน 471,081 ล้านปอนด์ หดตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนที่แล้ว และหดตัวร้อยละ 3.1 จากปีที่แล้ว ถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันนับจากสินเชื่อเริ่มมีการชะลอตัวตั้งแต่กลางปี 2008 ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือน (lending to household sector) ที่มียอดคงค้าง 1,209,067 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นเดือนที่ 8 ที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวเมื่อเทียบปีต่อปี โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 4.0 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวร้อยละ 3.9

อัตราแลกเปลี่ยน : ปอนด์แข็งค่าเงินทุกสกุล ยกเว้นอ่อนค่าเล็กน้อยกับเยน

เงินปอนด์ในเดือนสิงหาคมแข็งค่าขึ้นเป็นเดือนที่ 3 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. โดยเงินปอนด์มีระดับปิดวันแรกของเดือนที่ระดับ 1.5897 $/ปอนด์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าต่อเนื่องนับจากเงินปอนด์ในเดือนสิงหาคมแข็งค่าขึ้นเป็นเดือนที่ 3 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. โดยเงินปอนด์มีระดับปิดวันแรกของเดือนที่ระดับ 1.5897 $/ปอนด์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าต่อเนื่องนับจากสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา และสามารถขึ้นไปปิดสูงสุดที่ระดับ 1.5975 $/ปอนด์ ได้ในวันสุดท้ายของสัปดาห์แรก จากนั้นเงินปอนด์ก็เริ่มกลับทิศทางอ่อนค่าลงโดยตลอดช่วงที่เหลือของเดือนจนหลุดระดับ1.55 $/ปอนด์ และลงมาปิดต่ำสุดของเดือนที่ระดับ 1.5367 $/ปอนด์ โดยค่าเฉลี่ยของเงินปอนด์ในเดือนนี้ยังแข็งค่าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อีกร้อยละ 2.4 อย่างไรก็ดี หากเทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้าเงินปอนด์ยังอ่อนค่าอยู่ร้อยละ 5.3 สาเหตุที่ทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงในช่วงหลังของเดือนก็เนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดคาดการขยายตัวของเศรษฐกิจลงได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศผู้ส่งออกในกลุ่มสหภาพยุโรปไปด้วยจึงทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. กลับมามีบทบาทในฐานะ safe haven currency อีกครั้ง ขณะเดียวกัน กับข่าวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 2 ที่ออกมาในช่วงต้นเดือนว่าแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาดก็เริ่มหมดน้ำหนักลง ประกอบกับเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นมาโดยตลอดนับจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นอีกครั้งเมื่อเทียบกับยูโร โดยเงินปอนด์มีระดับปิดวันแรกของเดือนที่ระดับ 1.2055 ยูโร/ปอนด์ จากนั้นเงินปอนด์ก็เคลื่อนไหวขึ้นและลงในกรอบ 1.20 — 1.22 ยูโร/ปอนด์ โดยสามารถขึ้นไปปิดสูงสุดของเดือนที่ระดับ 1.2251 ยูโร/ปอนด์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ก่อนที่จะปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 1.2091 ยูโร/ปอนด์ ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยเงินปอนด์ในเดือนนี้แข็งค่าขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 1.4 หลังจากอ่อนค่าลงร้อยละ 1.0 ในเดือนที่แล้ว และเมื่อเทียบ 12 เดือนที่แล้วเงินปอนด์ยังแข็งค่าอยู่ร้อยละ 4.6

เมื่อเทียบกับเงินเยนแล้วค่าเฉลี่ยของเงินปอนด์ในเดือนนี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนที่แล้วโดยอ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยเงินปอนด์ปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ระดับ 137.4614 เยน/ปอนด์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเดือนจากนั้นก็อ่อนค่าลงโดยตลอดทั้งเดือนจนลงมาปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 129.0367 เยน/ปอนด์ ทำเงินปอนด์มีค่าเฉลี่ยอ่อนค่าลงร้อยละ 0.1 แต่อ่อนค่าลงร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว

เงินปอนด์ในเดือนนี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินบาทถือเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่เงินปอนด์แข็งค่า โดยเงินปอนด์มีระดับปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ระดับ 51.1963 Baht/ปอนด์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าต่อเนื่องมาจาก 2 เดือนที่แล้ว จากนั้นเงินปอนด์ก็กลับทิศทางมาเป็นขาลงทันทีโดยอ่อนค่าลงตลอดช่วงที่เหลือของเดือนอย่างรวดเร็วจากระดับ 51 Baht/ปอนด์ หลุดลงมาต่ำกว่าระดับ 49 Baht/ปอนด์ ในช่วงท้ายเดือนและปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนต่ำสุดที่ระดับ 48.0603 Baht/ปอนด์ ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของเงินปอนด์ในเดือนนี้แข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.6 จากเดือนที่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้าเงินปอนด์ยังอ่อนค่าอยู่ร้อยละ 11.6 ซึ่งการที่เงินปอนด์อ่อนค่ากับเงินบาทในช่วงหลังของเดือนมีปัจจัยมาจากในเดือนสิงหาคมมีเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทยเป็นจำนวนมากทำให้เงินบาทแข็งค่ากับเงินเกือบทุกสกุล

เดือนกรกฎาคมรัฐบาลขาดดุล 3.2 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 40.7% ขณะที่ยอด Debt/GDP ชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 63.7%

ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นเดือนที่ 4 ของปีงบประมาณ 2010/11 รัฐบาลมีดุลงบรายจ่ายประจำ (current budget) เกินดุลจำนวน 0.1 พันล้านปอนด์ (เทียบกับที่ขาดดุล 3.3 พันล้านปอนด์ในปีที่แล้ว) และเมื่อรวมกับในเดือนนี้รัฐบาลมียอดลงทุนสุทธิจำนวน 3.3 พันล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.5 จากปีที่แล้ว) ทำให้มียอดขาดดุลงบประมาณสุทธิ 3.2 พันล้านปอนด์ (ขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 จากปีที่แล้ว) โดยในเดือนนี้รัฐบาลกลางจัดเก็บรายได้ 49.7 พันล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากปีที่แล้ว) ขณะที่งบรายจ่ายประจำและงบลงทุนของรัฐบาลกลางมียอดรวม 52.5 พันล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากปีที่แล้ว) ทำให้รัฐบาลกลางมีฐานะขาดดุล 3.4 พันล้านปอนด์ (ขาดดุลลดลงร้อยละ 29.8 จากปีที่แล้ว) สำหรับยอดหนี้สาธารณะในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 927.4 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 63.7 ของ GDP (เดือนกรกฎาคมปีที่แล้วยอดหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับร้อยละ 57.3 ของ GDP)

ทั้งนี้ ในการเสนองบประมาณฉุกเฉินต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคอนุรักษ์นิยมได้มีการปรับปรุงประมาณการรายรับและรายจ่ายในปีงบประมาณปัจจุบัน (2010/11) จากที่รัฐบาลพรรคแรงงานเสนอไว้เดิมในเดือนมีนาคมเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินมาตรการเร่งปรับลดการขาดดุลงบประมาณให้เร็วขึ้น โดยรัฐบาลประมาณว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มเป็น 548 พันล้านปอนด์ ขณะที่งบประมาณรายจ่ายจะลดลงเหลือ 697 พันล้านปอนด์ และจะทำให้การขาดดุลงบประมาณลดลงเหลือ 149 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 10.1 ของ GDP และจะมียอดหนี้สาธารณะรวม 932 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 61.9 ของ GDP

ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน

ดุลการค้าและบริการ: มิถุนายนขาดดุลลดลงเหลือ 3.3 พันล้านปอนด์ เพิ่มร้อยละ 37

เดือนมิถุนายน อังกฤษมียอดส่งออกสินค้าและบริการรวม 35.6 พันล้านปอนด์ (+13.9% จากปีที่แล้ว) แต่มีการนำเข้ารวม 38.9 พันล้านปอนด์ (+15.6% จากปีที่แล้ว ทำให้มียอดขาดดุลการค้าและบริการรวม 3.3 พันล้านปอนด์ (+37.3% จากปีที่แล้ว) ทำให้มียอดขาดดุลการค้าและบริการรวม 3.3 พันล้านปอนด์ (+37.3% จากปีที่แล้ว) แยกเป็นการขาดดุลการค้าจำนวน 7.4 พันล้านปอนด์ (+14.0% จากปีที่แล้ว) แต่มีการเกินดุลบริการจำนวน 4.1 พันล้านปอนด์ (+0.6% จากปีที่แล้ว) โดยการขาดทุนในเดือนนี้แยกเป็นการขาดดุลการค้าสินค้ากับประเทศไทยในกลุ่ม EU (27 ประเทศ) จำนวน 3.1 พันล้านปอนด์ (+8.8%) และขาดดุลกับประเทศนอกลุ่ม EU จำนว 4.3 พันล้านปอนด์ (+18.2%) ทั้งนี้ การค้าสะสมในช่วง 6 เดือนแรกของป อังกฤษมียอดส่งออกจำนวน 206.3 พันล้านปอนด์ (+8.0% จากปีที่แล้ว) แต่มีการนำเข้ารวม 225.8 พันล้านปอนด์ (+9.0% จากปีที่แล้ว) ทำให้มียอดขาดดุลการค้าและบริการรวม 19.6 พันล้านปอนด์ (+20.7% จากปีที่แล้ว)

สำหรับการค้ากับประเทศไทยในเดือนมิถุนายน อังกฤษส่งออกสินค้าไปประเทศไทยจำนวน 79 ล้านปอนด์ (+9.7% จากปีที่แล้ว) ขณะที่มีการนำเข้าจำนวน 231 ล้านปอนด์ (+16.7%) ทำให้ขาดดุลการค้ากับประเทศไทยจำนวน 152 ล้านปอนด์ (+20.6%) นับเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่การขาดดุลกับประเทศไทยเพิ่มขึ้นหลังจากที่ในช่วง 9 เดือนก่อนหน้านั้นอังกฤษมีการขาดดุลกับประเทศไทยในอัตราที่ติดลบ สำหรับยอดสะสมช่วง 6 เดือนแรกของปี อังกฤษส่งออกไปประเทศไทยจำนวน 487 ล้านปอนด์ (+39.5% จากปีที่แล้ว) ขณะที่มีการนำเข้าจำนวน 1,292 ล้านปอนด์ (+12.6%) ทำให้ขาดดุลการค้ากับประเทศไทยจำนวน 805 ล้านปอนด์ (+0.9%)

ประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • นาย George Osborne รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีแผนจะปรับลดบุคลากรของกระทรวงการคลังลงประมาณ 1 ใน 4 จาก 1,350 คนเหลือ 1,000 คน ในช่วง 4 ข้างหน้าเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับกระทรวงอื่นดำเนินตามในการปรับลดรายจ่ายงบประมาณลง โดยนาย Osborne ตั้งเป้าที่จะปรับลดงบประมาณของทุกกระทรวงลงให้ได้ระหว่างร้อยละ 25 — 40 ทั้งนี้ ภายในกลางเดือนกันยายน กระทรวงการคลังจะได้ข้อสรุปร่วมกับกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรม ว่าจะปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงอย่างไร เนื่องจากนาย Osborne ต้องการเร่งกระบวนการทบทวนการปรับลดงบประมาณให้เร็วขึ้น (31 สิงหาคม 2010)

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ