รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 7, 2010 11:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 กันยายน 2553

Summary:

1. พาณิชย์ชี้สินค้าที่ได้รับประโยชน์จากบาทแข็งลดราคาได้

2. สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) เผยเงินบาทแข็งค่าส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวยุโรป

3. ประธานอีซีบียันไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยซ้ำสอง

Highlight:
1. พาณิชย์ชี้สินค้าที่ได้รับประโยชน์จากบาทแข็งลดราคาได้
  • อธิบดีกรมการค้าภายใน ก. พาณิชย์ เปิดเผยว่า คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถสรุปข้อมูลต้นทุนของสินค้าที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่นปุ๋ยเคมี เหล็ก ตะกั่ว ทองแดง เพื่อทบทวนว่าสินค้าประเภทใด สามารถปรับราคาลงได้ โดยบางรายการอาจปรับลดราคาได้ในสัปดาห์หน้า และการปรับลดราคาสินค้านี้ต้องพิจารณาตามความเป็นจริงว่าเป็นการนำเข้าสินค้าในช่วงที่ได้ประโยชน์หรือไม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 6.2 ซึ่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาคแล้ว เงินบาทแข็งค่าเป็นรองเพียงเงินริงกิตและเงินเยนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบจากต่างชาติลดลงเมื่อคิดเป็นรูปเงินบาท โดยอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากต่างชาติในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ35.0) และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 41.6) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปรับลดราคาอาจต้องพิจารณาว่าผู้ประกอบการมีการป้องกันความเสี่ยงด้วยการใช้ตราสารอนุพันธ์ทางการเงินไว้หรือไม่ เพราะหากมีการทำสัญญาซื้อล่วงหน้าตามราคาที่ตกลงไว้ตั้งแต่ช่วงที่เงินบาทยังไม่แข็งค่ามาก ผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทได้
2. สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) เผยเงินบาทแข็งค่าส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวยุโรป
  • สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) เผย สมาคมอยู่ระหว่างการติดตามประเมินผลเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวตลาดยุโรปที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งขณะนี้ยอดการจองล่วงหน้าของกลุ่มดังกล่าวมียอดจองเข้ามาน้อยมากอย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดเอเชีย ได้แก่ จีนเกาหลี เดินทางเข้ามามากสุด ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยล่าสุดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือน ก.ค. 53 อยู่ที่ 1.25 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกหลังจากปัญหาการเมืองที่ร้อยละ 14.2 ต่อปี และคิดเป็นการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 16.8 ต่อเดือน (mom_sa) โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากอาเซียนมากที่สุด สะท้อนว่าภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับสู่ปกติ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวจากสหรัฐและยุโรปบ้าง เนื่องจากค่าเงินของทั้งสองภูมิภาคมีแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียมากนัก เนื่องจากค่าเงินในภูมิภาคเอเชียมีการแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับค่าเงินบาทของไทย
3. ประธานอีซีบียันไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยซ้ำสอง
  • ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำสอง (Double-dip recession) เกิดขึ้นได้ยากมาก โดยการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนในไตรมาส 2 ที่เพิ่มขึ้นด้วยอัตราร้อยละ 3.9 ต่อปี (%qoq_annual) เป็นตัวเลขที่สูงเกินกว่า 2 เท่าของการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากเศรษฐกิจเยอรมนีที่ขยายตัวถึงร้อยละ 9.0 แต่ถูกฉุดลงด้วยตัวเลขเศรษฐกิจของกรีซ สเปน และโปรตุเกส ขณะที่เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า คณะนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรปได้ปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับปี 53 เป็นร้อยละ 1.6 ต่อปี จากเดิมร้อยละ 1.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในไตรมาส 2 GDP ของประเทศยูโรโซนนี้ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อนหน้า(ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยูโรโซนยังมีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณร้อยละ 10.0 ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำสองได้ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องให้มูลค่าส่งออกสินค้าและบริการของไทยชะลอลง ทั้งนี้มูลค่าส่งออกสินค้าจากไทยไปกลุ่มประเทศยูโรโซนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ