รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 กันยายน 2553

Summary:

1. ธปท. ชี้เงินบาทอ่อนค่าตามเงินสกุลยูโร เหตุจากความกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคารในยุโรป

2. ม.หอการค้า คาดส่งออกไทยปี 53 ขยายตัวร้อยละ 22.9 ต่อปี

3. ยอดส่งออกไต้หวันเดือน ส.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 27.0 ต่อปี

Highlight:
1. ธปท. ชี้เงินบาทอ่อนค่าตามเงินสกุลยูโร เหตุจากความกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคารในยุโรป
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในวันนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ ธปท. เข้าไปดูแลในตลาด แต่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความกังวลต่อภาคธนาคารในยุโรป หลังจากผลทดสอบฐานะความแข็งแกร่งล่าสุดออกมาไม่ดีนัก โดยวานนี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.14 -31.16 บาท/ดอลลาร์ จากนั้นอ่อนค่าลงแตะที่ 31.18 — 31.20 บาท/ดอลลาร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นับจากต้นปีเงินบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ 6.45 (จาก 33.33 บาท/ดอลลาร์ ในวันที่ 4 ม.ค. 53 เป็น 31.18 บาท/ดอลลาร์ ในวันที่ 6 ก.ย. 53) ขณะที่เงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินคู่ค้าสำคัญ (NEER) และ Real Effective Exchange Rate (REER) แข็งขึ้นร้อยละ 5.60 และ 3.99 ตามลำดับ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่มีรายได้เป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ โดย สศค.ประเมินว่าหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.0 (ภายใต้สมมติฐานว่าค่าเงินสกุลอื่นไม่เปลี่ยนแปลง) จะส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริง (Real Export of Goods & Service) หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี และส่งผลให้ Real GDP หดตัวร้อยละ -0.3 ต่อปี
2. ม.หอการค้า คาดส่งออกไทยปี 53 ขยายตัวร้อยละ 22.9 ต่อปี
  • ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินสถานการณ์ส่งออกของไทยปี 53 ว่าตลอดทั้งปีการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 22.9 ต่อปี จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 10 — 15 ต่อปี อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะขยายตัวในลักษณะชะลอลดลงเหลือร้อยละ 11.8 ต่อปี จากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 36.6 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการส่งออกของไทยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 52 ของ GDP ซึ่งในเดือนก.ค. 53 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 15.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.3 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงในแทบทุกหมวดสินค้าและทุกตลาดมีการขยายตัวที่ชะลอลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีการหดตัวเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยขจัดผลทางฤดูกาลพบว่าหดตัวร้อยละ -12.7 mom SA ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ประกอบกับการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกในปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 22.5 ต่อปี (ซึ่งเป็นการคาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 53 และจะปรับประมาณการใหม่ในเดือนก.ย. 53)
3. ยอดส่งออกไต้หวันเดือน ส.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 27.0 ต่อปี
  • กระทรวงการคลังไต้หวัน เปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 มาอยู่ที่ 24 พันล้านดอลลาร์เนื่องจากความต้องการซื้อคอมพิวเตอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกสูงขึ้นขณะที่ยอดนำเข้าในเดือนดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 มาอยู่ที่ 22 พันล้านดอลลาร์ โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่า ยอดส่งออกจะชะลอลงในช่วงเดือนถัดไป เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯและเศรษฐกิจของอีกประเทศชะลอลง ทั้งนี้ยอดส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 53 เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 มาอยู่ที่ 179 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 มาอยู่ที่ 163 พันล้านดอลลาร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่และอาเซียนมีการขยายตัวดีในช่วงต้นปีและเริ่มชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 12.5 8.9 7.2 6.5 6.4 และ 6.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกในปี 53 ที่ปรับตัวดีขึ้น มีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีการปรับตัวดีขึ้น (2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว และ (3) วัฏจักรสินค้าคงคลังที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในประเทศอุตสาหกรรมสำคัญรวมทั้งประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย โดยคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน แม้เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 53

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ