รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 9, 2010 10:36 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 กันยายน 2553

Summary:

1. ส.อ.ท.ชี้บาทแข็งค่าสุดในรอบ 13 ปี กลุ่มเกษตร อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม รับผลกระทบมากสุด

2. ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นจากผลของภาวะโลกร้อน

3. ยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น แต่ค่าเงินเยนเริ่มแข็งค่า

Highlight:
1. ส.อ.ท.ชี้บาทแข็งค่าสุดในรอบ 13 ปี กลุ่มเกษตร อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม รับผลกระทบมากสุด
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทอยู่ระดับ 31.04/06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 13 ปี โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นกลุ่มที่ได้รับกระทบมากสุดเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศและมีการแข่งขันในตลาดสูงผลกำไรอยู่ในอัตราเพียงร้อยละ 5-10 ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ ร้อยละ 7 ทำให้กำไรที่เหลือมีส่วนน้อยลง ทั้งนี้ต้องการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทอย่าให้ผันผวน และไม่แข็งค่าเกินประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน โดยระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภาคธุรกิจยังพอปรับตัวได้ แต่เอกชนต้องลดต้นทุนการผลิตในส่วนอื่น ซึ่งหากเงินบาทอยู่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คงเป็นเรื่องดี ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่าค่าเงินบาทที่ระดับ 31.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการแข็งขึ้นร้อยละ นับจากต้นปีและหากพิจารณาดัชนีค่าเงินบาท (NEER) พบว่าแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับต้นปี โดยเป็นผลมากจาก 1) ดุลบัญชีเดินสะพัด 7 เดือนแรกปี 53 เกินดุลที่ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) ดุลเงินทุน 7 เดือนแรกเกินดุล 11.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้น 3.2 พันล้านบาทและตลาดพันธบัตร 89 พันล้านบาท ทั้งนี้ สศค.ประเมินว่าหากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อนละ 1 จะส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริง (Export Volume) หดตัวร้อยละ -0.4% ต่อปี ซึ่งส่งผลให้ Real GDP หดตัวร้อยละ -0.3% ต่อปี
2. ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นจากผลของภาวะโลกร้อน
  • นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) รายงานว่า แนวโน้มผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากผลกระทบภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติได้ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 10 นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนอาจลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้ไทยสูญเสียรายได้ในรูปเงินบาทถึง 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างสินค้าเกษตร และการสร้างแนวคิดการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชที่มีคุณภาพและมีผลผลิตที่ดีเพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบของปัญหาภัยแล้งและโรคระบาดทำให้ผลผลิตภาคเกษตรกรรม (API) เดือน ก.ค.53 หดตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมยังสามารถขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 32.9 ต่อปี ซึ่งส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ส่งผลให้ไทยที่มีรายได้หลักมาจากการส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ส่งออกสินค้าเสียประโยชน์จากรายได้ที่ลดลงเมื่อแปลงค่าเงินเป็นเงินบาท ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการจ้างงานในอนาคต อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพการแข่งขันด้วยการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น
3. ยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น แต่ค่าเงินเยนเริ่มแข็งค่า
  • สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นในเดือน ก.ค. 53 ถึงร้อยละ 8.8 ต่อปี และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 20 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งได้รับแรงส่งจากการส่งออกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวถึงร้อยละ 23.5 ต่อปี สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนที่เริ่มแข็งค่าขึ้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกญี่ปุ่นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.3 ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. ถึง 7 ก.ย. 53 ดังนั้น มาตรการด้านการเงินการคลังของญี่ปุ่นจึงสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2553 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ