รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2010 11:02 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 กันยายน 2553

Summary:

1. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปีแตะระดับ 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ส.ค. 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ระดับ 72.8

3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ก.ย. 53 ไว้ที่ระดับร้อยละ 2.25 ต่อปี

Highlight:
1. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปีแตะระดับ 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่าค่าเงินบาทปรับตัวทำสถิติใหม่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่วิกฤติปี 2540 โดยแตะระดับผ่าน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ระดับ 30.85 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงบ่ายของวันที่ 9 ก.ค. 53 โดยนักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่ามีเงินไหลเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรค่อนข้างมาก ในขณะทีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจึงได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทที่ระดับ 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการแข็งขึ้นร้อยละ 7.7 นับจากต้นปีและหากพิจารณาดัชนีค่าเงินบาท (NEER) พบว่าแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับต้นปี โดยการแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากเงินทุนของต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรของไทยโดยสะสมทั้งปีมีปริมาณสูงถึง 100.6 พันล้านบาทกอรป์กับเงินทุนไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์ (สะสมทั้งปี 14 พันล้านบาท) อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด 7 เดือนแรกปี 53 เกินดุลในระดับที่สูงที่ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าเป็นมาไหลเข้าสู่ตลาดเงินภูมิภาคจึงส่งผลให้ค่าเงินประเทศอื่นๆในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาทและมิได้ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมาก
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ส.ค. 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ระดับ 72.8
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค. 53 อยู่ที่ 72.8 สูงขึ้นจากเดือน ก.ค.53 ซึ่งอยู่ที่ 71.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 49 ที่ประชาชนไม่มั่นใจในระบบเศรษฐกิจและการเมือง แต่ปัจจุบันความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ตามลำดับ โดยคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 4 จะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ส.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 72.8 (ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 44 เดือน) ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ระดับ 71.4 บ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจาก 1) ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากภาคการส่งออกยังขยายตัว อีกทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี (ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒน์ฯปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 53) และ 2) สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น
3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ก.ย. 53 ไว้ที่ระดับร้อยละ 2.25 ต่อปี
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ก.ย. 53 ไว้ที่ระดับร้อยละ 2.25 ต่อปี ตรงกันข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดการว่าจะมีการปรับขึ้นในเดือนดังกล่าว ในขณะเดียวกันทางธนาคารกลางได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวไปอีกช่วงระยะหนึ่ง โดยส่วนหนึ่งมาจาการที่ความกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเป็นการสะท้อนถึงภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่อาจมีทิศทางแผ่วลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 และในปี 2554 จากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในภาคส่งออก ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ -48 ของ GDP มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนได้จากการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาค เช่น จีนและฮ่องกง ที่มีทิศทางแผ่วลงเล็กน้อย สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมล่าสุดเดือน ก.ค. 2553 ที่ขยายตัวชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 15.5 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ