รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 14, 2010 10:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 กันยายน 2553

Summary:

1. นายกฯ บรรยายพิเศษเรื่อง “การกำหนดให้สังคมสวัสดิการเป็นวาระแห่งชาติ”

2. ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ต้องการให้ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ดูแลเสถียรภาพ “ค่าเงิน-ราคาสินค้า”

3. ผู้ว่าธนาคารกลางนานาประเทศประชุมสรุประเบียบทางการเงิน ป้องกันวิกฤตรอบใหม่

Highlight:
1. นายกฯ บรรยายพิเศษเรื่อง “การกำหนดให้สังคมสวัสดิการเป็นวาระแห่งชาติ”
  • นายกฯ บรรยายพิเศษเรื่อง “การกำหนดให้สังคมสวัสดิการเป็นวาระแห่งชาติ” โดยย้ำว่าในปี 2559 ระบบสวัสดิการสังคมจะยืนยันในหลักการสร้างสิทธิพื้นฐานในการรับบริการของประชาชน รวมทั้งจะอยู่ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 เพื่อนำพาประเทศไทยสู่สังคมสวัสดิการ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีหลักประกันชีวิต ทั้งนี้ การสร้างระบบสวัสดิการสังคมต้องครอบคลุมทุกมิติทั้งสังคม เศรษฐกิจและการเมือง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จากที่เคยหดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี ในปี 52 มาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.6 ต่อปี ในครึ่งแรกของปี 53 แต่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านการกระจายรายได้ โดยค่า Gini Coefficient ของรายได้ทั้งประเทศปรับขึ้นจาก 0.48 ในปี 2531 เป็น 0.51 ในปี 2549 ซึ่งดัชนีดังกล่าวบ่งชี้ถึงแนวโน้มการกระจายรายได้ที่แย่ลง ดังนั้น การดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ผ่านการสร้างระบบสวัสดิการสังคมอย่างจริงจัง เช่น การผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติ คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนในระดับฐานรากมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึงภาระผูกพันต่องบประมาณและวินัยทางการคลังด้วย
2. ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ต้องการให้ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ดูแลเสถียรภาพ “ค่าเงิน-ราคาสินค้า”
  • ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ผันผวน โดยพบว่าปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยที่ต้องการให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่เข้ามาดูแลมากที่สุด คือ การดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท และเสถียรภาพของราคาสินค้า ร้อยละ 58.6 ขณะที่ร้อยละ 67.1 เชื่อว่าค่าเงินบาทไม่หลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันนั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 64.4 ให้เหตุผลว่าระดับราคาสินค้าในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 53 ถึง ณ วันที่ 14 ก.ย. อยู่ที่ 32.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลมาจากการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดี และ2) ทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่อาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากประเทศในแถบยุโรปและไหลเข้าสู่ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทย ซึ่งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกสินค้าของไทย ขณะที่การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นสัญญาณบ่งชี้การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในประเทศซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้น โดย 8 เดือนแรกของปี 53 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0 ต่อปี) โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาภัยทางธรรมชาติที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง และส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น
3. ผู้ว่าธนาคารกลางนานาประเทศประชุมสรุประเบียบทางการเงิน ป้องกันวิกฤตรอบใหม่
  • บรรดาผู้ว่าการธนาคารกลางจากหลายประเทศเดินทางมาประชุมร่วมกันที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อร่วมกันกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับการเงินและธนาคารชุดใหม่ซึ่งมีชื่อว่าอนุสัญญาบาเซิล 3 ที่กำหนดให้มีการเพิ่มระดับทุนสำรองขั้นต่ำของธนาคารและปรับปรุงคุณภาพของทุนสำรอง เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินและสกัดการรับความเสี่ยงที่สูงมากจนเกินไป โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในบาเซิล 3 นี้ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนหลักน่าจะเพิ่มขึ้นจากในอนุสัญญาบาเซิล 2 ที่ร้อยละ 4 และ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง ตามลำดับรวมทั้งจะต้องทำให้ทุนสำรองอยู่ในรูปของทรัพย์สินที่มีความมั่นคงสูง ไม่ลดมูลค่าอย่างรวดเร็วเหมือนเมื่อครั้งเกิดวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพในปี 51ด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อนุสัญญาบาเซิล 3 มีจุดประสงค์หลักที่จะลดความเสี่ยงทางการเงินของสถาบันการเงินโดยเน้นการเพิ่มเงินกองทุน ซึ่งจะลดความเสี่ยงที่ปรากฏในงบดุลได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินไทย ณ เดือน ก.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 16.7 ซึ่งสูงกว่าข้ออนุสัญญาทั้งบาเซิล 2 ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.0 อีกทั้งยังสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.5 อีกด้วย อย่างไรก็ตามความเสี่ยงนอกงบดุลของสถาบันการเงินยังคงเป็นปัจจัยที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นชนวนของวิกฤตการเงินโลกครั้งที่ผ่านมา

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ