นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยการจัดเก็บรายได้สุทธิรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2553 สูงกว่าประมาณการอย่างต่อเนื่อง โดยจัดเก็บได้ 2.4 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายกว่า 46,000 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายถึง 3.2 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 25.3
เดือนสิงหาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 244,875 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 46,441 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.4 โดยในเดือนนี้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 153,571 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 30,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.6 เนื่องจากมีการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.51) สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลจากผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2553 ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการเป็นจำนวนมาก สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 9,029 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,181 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้นำส่งเงินปันผลซึ่งเดิมจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2553 จำนวน 6,015 ล้านบาท
ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — สิงหาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,601,814 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 323,690 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.3 โดย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 147,877 106,523 และ 21,565 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.3 39.9 และ 31.9 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีรายได้พิเศษจากเงินยึดทรัพย์และเงินส่งคืนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จำนวน 49,016 และ 8,135 ล้านบาท ตามลำดับ
นายสาธิตฯ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่สูงกว่าเป้าหมาย และภาวะเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 จะสูงกว่าประมาณการไม่ต่ำกว่า 3.3 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน”
(เอกสารแนบ)
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนสิงหาคม 2553 และในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนสิงหาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 244,875 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 46,441 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.4 ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — สิงหาคม 2553) จัดเก็บได้ 1,601,814 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 323,690 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.3 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. เดือนสิงหาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 244,875 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 46,441 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 20.3) โดยมีสาเหตุหลักจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงกว่าประมาณการถึง 30,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 35,721 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.3) เนื่องจากมีการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิรอบครึ่งแรกปีบัญชี 2553 ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้สูงนี้สะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้การบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการนำเข้าได้สูงกว่าเป้าหมาย โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และอากรขาเข้า ซึ่งจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 9,689 4,347 3,251 และ 1,714 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 9,029 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการถึง 6,181 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 217.0 โดยมีสาเหตุจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำส่งเงินปันผล ซึ่งเดิมจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2553 จำนวน 6,015 ล้านบาท
2. ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — สิงหาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,601,814 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 323,690 ล้านบาทหรือ ร้อยละ 25.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 20.7) โดย 3 กรมในสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ สูงกว่าประมาณการถึงร้อยละ 20.1 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ) และมีรายได้พิเศษจากเงินยึดทรัพย์และเงินส่งคืนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,183,556 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 147,877 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 10.6) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 459,542 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 89,628 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 17.0) เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัว อย่างต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 52,371 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 36.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 27.4) และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศสูงกว่าประมาณการ 37,257 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 10.3) - ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ 436,977 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 52,870 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 15.2) เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2553 ทำให้ผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาเป็นลำดับ และส่งผลให้การชำระภาษีจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2552 และรอบครึ่งปีแรกของปี 2553 สูงกว่าประมาณการ
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้ 373,603 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 106,523 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 42.2) เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมัน ยาสูบ เบียร์ และสุรา สูงกว่าประมาณการ 50,137 12,601 8,514 และ 2,661 ล้านบาท หรือร้อยละ 55.3 34.5 18.4 และ 7.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาษีรถยนต์สามารถจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 31,538 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจ
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้ 89,110 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 21,565 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 22.9) มีสาเหตุสำคัญจากการจัดเก็บอากรขาเข้าที่สูงกว่าประมาณการถึง 20,239 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.9 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2552 — กรกฎาคม 2553) มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30.9 และ 24.0 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายได้อื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 1,452 ล้านบาท หรือร้อยละ 79.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากในเดือนเมษายน 2553 มีรายได้จากค่าปรับคดีจำนวน 897 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การจัดเก็บอากรขาออกต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 45.8 เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2553 มีการยกเว้นการจัดเก็บอากรขาออกของไม้และไม้แปรรูปที่ได้จากต้นยางตระกูลฮีเวีย และหนังดิบ
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 82,209 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,929 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 7.3) เนื่องจากการนำส่งรายได้และการจ่ายเงินปันผลของธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กองทุนรวมวายุภักษ์ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสูงกว่าเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 139,826 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 63,655 ล้านบาท หรือร้อยละ 83.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 71.0) เนื่องจากกระทรวงการคลังได้รับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท ในเดือนเมษายน 2553 และได้รับการส่งคืนเงินประเดิม และเงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวจาก กบข. จำนวน 8,135 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2553 ประกอบกับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณได้รับเงินจากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวงการคลังอีกจำนวน 5,191 ล้านบาท
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 200,209 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,620 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 8.5) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 150,780 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ 49,429 ล้านบาท โดยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าประมาณการ 5,220 ล้านบาท ในขณะที่การคืนภาษีอื่นๆ สูงกว่าประมาณการ 10,840 ล้านบาท
2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ โดยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 4 งวด จำนวนรวมทั้งสิ้น 44,471 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,271 ล้านบาท (ร้อยละ 42.5) และสูงกว่าปีที่แล้ว 10,583 ล้านบาท (ร้อยละ 31.2)
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 102/2553 14 กันยายน 53--