บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง เหลียวหลังแลหน้าการส่งออกไทยในปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 11:00 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร
  • เดือนมิถุนายน 2553 มูลค่าสินค้าส่งออกขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 46.3 ต่อปี ทำให้ในครึ่งแรกของปี 2553 มูลค่าส่งออกสินค้าขยายตัวถึงร้อยละ 36.6 ต่อปี แต่หากหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกสินค้าในเดือนมิถุนายนและครึ่งแรกของปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 40.4 และร้อยละ 38.1 ต่อปี ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายสินค้าและรายประเทศ จะพบว่า สินค้าในกลุ่มของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่งออกได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน5 จีน ออสเตรเลีย และอินเดีย มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ปริมาณการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 ปี 2553 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 28.7 ต่อปี ถือเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้เกิดกิจกรรมการผลิตเพิ่มมากขึ้น และทำให้ GDP ในไตรมาส 2 ขยายตัวจากผลของการส่งออก อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2553 ได้มีการนำเข้าสินค้ามากขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้เครื่องยนต์หลักทำงานได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร
  • ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการส่งออกที่น่าจับตามองในครึ่งหลังของปี 2553 ได้แก่ วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เศรษฐกิจจีนซึ่งเริ่มอ่อนกำลังลง มาตรการค่าเงินหยวน ปัจจัยฐานสูงจากปีก่อนหน้า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เศรษฐกิจคู่ค้าใหม่ในเอเชียที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
1. ส่งออก-นำเข้าไทยในครึ่งปีแรกของปี 2553

มูลค่าสินค้าส่งออกในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 18,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติการณ์ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 46.3 ต่อปี โดยในไตรมาส 2 ของปี 2553 มูลค่าสินค้าส่งออกขยายตัวร้อยละ 41.5 ต่อปี ทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2553 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 36.6 ต่อปี ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าอยู่ที่ระดับ 15,716 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 20 เดือน หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 37.9 ต่อปี โดยขยายตัวร้อยละ 46.0 ต่อปี ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2553 มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 51.7 ต่อปี เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าหดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออกสินค้า ทั้งนี้ ดุลการค้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 เกินดุลสูงถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับการส่งออกที่หักทองคำในเดือนมิถุนายน 2553 ขยายตัวร้อยละ 40.4 ต่อปี ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 32.8 ต่อปี ขณะที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวร้อยละ 35.2 ต่อปี นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกที่ขจัดผลทางฤดูกาล (Seasonally Adjusted) แล้ว พบว่า การส่งออกในเดือนมิถุนายนขยายตัวจากเดือนพฤษภาคมที่ร้อยละ 4.0 ต่อเดือนเช่นเดียวกับการส่งออกที่หักทองคำที่ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 6.5 ต่อเดือน บ่งชี้ถึงการส่งออกของไทยที่ฟื้น

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนมิถุนายน 2553 ขยายตัวเร่งขึ้นมาก ได้แก่ 1) เศรษฐกิจคู่ค้าหลักได้กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวในปีก่อน โดยเฉพาะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน รวมถึงเขตการค้าเสรีอาเซียนและอาเซียน-จีน ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายได้ดีในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา 2) การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 77.5 ของการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2553 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 51.0 ต่อปี ทำให้การส่งออกไทยขยายตัวเร่งขึ้นมาก 3) ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการส่งออกทองคำเพื่อทำกำไรมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยในเดือนมิถุนายน 2553 มีการส่งออกทองคำมูลค่าทั้งสิ้น 925.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 534.6 ต่อปี

เมื่อพิจารณารายสินค้าและรายประเทศ จะพบว่า สินค้าในกลุ่มของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่งออกได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน(5) จีน ออสเตรเลีย และอินเดีย มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน(5) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 59.2 ต่อปี เนื่องจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนในปี 2553 ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน(5) มีบทบาทต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวน ทั้งนี้ สามารถสรุปสินค้าส่งออกสำคัญ 5 รายการ(มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 28.1 ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมดในครึ่งปีแรกของปี 2553 ของไทย)ที่มีการขยายตัวได้ดีไปยังในแต่ละประเทศได้ ดังนี้

2. วิพากย์ GDP ในไตรมาส 2 ผ่านช่องทางการส่งออก

ปริมาณการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 28.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 17.4 ต่อปี ผลจากปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวถึงร้อยละ 45.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 28.2 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล ปริมาณการส่งออกในไตรมาส 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นที่ชัดเจนว่าการส่งออกในไตรมาส 2 มีการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1

ปริมาณการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนทำให้เกิดกิจกรรมการผลิตเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผลผิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 17.7 ต่อปี ซึ่งหากขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว จะพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2553 ที่ร้อยละ 2.1 จากภาคการผลิตที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นแรงผลักดันให้การบริโภครวมถึงการลงทุนขยายตัวได้ดีในระยะต่อไป

สำหรับประเทศไทย การส่งออกสินค้าในปี 2552 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 52.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ด้านอุปสงค์ ดังนั้น ปริมาณการส่งออกในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 28.7 จึงส่งผลให้ GDP ด้านการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 28.3 ต่อปี ซึ่งทำให้ภาคการส่งออกเป็นหนึ่งในเป็นเครื่องยนต์หลักที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส ได้มีการนำเข้าสินค้ามากขึ้นเช่นเดียวกัน ผลของการส่งออกสุทธิจึงไม่มากเท่าที่ควร

3. ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการส่งออกที่น่าจับตามองในครึ่งหลังของปี 2553

การส่งออกของไทยในครึ่งแรกของปี 2553 มีการขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้หลายฝ่ายต่างเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกพ้นจากภาวะวิกฤตแล้ว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ล่าสุด ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2553 2 โดยได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2553 จะขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ปรับขึ้นจากคาดการณ์เดิมถึงร้อยละ 0.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี IMF เล็งเห็นปัจจัยเสี่ยงหลายประการในเศรษฐกิจโลก จนทำให้ต้องปรับลดประมาณการปี 2554 ลง โดยขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย มีดังนี้

วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปเป็นปัญหาร้ายแรงในกลุ่มประเทศ PIIGS อันประกอบไปด้วย โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน หลายฝ่ายวิตกว่าปัญหาดังกล่าวจะลุกลามไปเป็นปัญหาของทั้งสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามผลกระทบของวิกฤตการณ์ดังกล่าวต่อประเทศไทยจะอยู่ในวงจำกัดเนื่องจากการส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIIGS คิดเป็นสัดส่วนที่เพียงร้อยละ 1.8 ของการส่งออกของไทยโดยรวม ดังนั้น หากเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม PIIGS ชะลอตัวลงก็จะไม่กระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้รับผลกระทบบ้างในบางหมวดสินค้าส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม PIIGS อาทิ อาหารเลี้ยงสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องปรับอากาศ

เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา และมีการปฏิบัติใช้จริงมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ผ่านพ้นช่วงต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาได้ และทำให้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวของสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะกลับมาขยายตัวและประคับประคองเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนไหวได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อนโยบายนี้เริ่มอ่อนกำลังลง เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวก็เริ่มมีทิศทางที่อ่อนกำลังลง บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับอัตราว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความเปราะบาง

เนื่องจากสหรัฐฯเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 10.9 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2552 เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสหรัฐฯเป็นตลาดหลัก

เศรษฐกิจจีนซึ่งเริ่มอ่อนกำลังลง นับตั้งแต่การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก เศรษฐกิจจีนเติบโตที่ระดับสูงที่เฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ต่อปีต่อเนื่องมายาวนาน จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในปี 2551-2552 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนบ้าง โดยจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งลงไปต่ำกว่าร้อยละ 8 เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 และไตรมาสที่ 1 ปี 2552 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้รีบดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบผ่อนคลาย ทั้งมาตรการทางการเงินและการคลัง รวมไปถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 4 ล้านล้านหยวน ซึ่งเริ่มมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 ทำให้เศรษฐกิจจีนในปี 2552 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2553 มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมือง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนทั้งสิ้น จนมีการคาดคะเนว่าจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกแทนที่สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่อนคลายมาก โดยเฉพาะนโยบายด้านสินเชื่อ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจประสบภาวะฟองสบู่ ทั้งในภาคอสังหาริมทรัพย์ และจากการบริโภคภาคเอกชนที่เกินตัว ทำให้ในช่วงกลางปี 2553 รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ ซึ่งส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา ปรับตัวลดลงจากระดับราคาสูงสุด ณ เมษายน 2553 ที่ระดับ 112.8 ในขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติจีน ก็มีแนวโน้มที่แผ่วลง ส่งผลไปถึงการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในระดับที่ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองที่ขยายตัวชะลอลงมากนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นมา

เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทย ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 10.6 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2552 เศรษฐกิจจีนที่เริ่มหมดแรงส่งย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการส่งออกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังจีนเป็นสำคัญ

มาตรการค่าเงินหยวน นับตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2553 ธนาคารกลางของจีนประกาศว่าจะปรับเปลี่ยนมาตรการควบคุมค่าเงินหยวนให้มีความยืดหยุ่น หลังจากบริหารให้มีระดับคงที่ที่ 6.83 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐมานานกว่าสองปี การปรับเปลี่ยนดังกล่าวมีผลมาจากแรงกดดันของนานาชาติ ซึ่งภายหลังการประกาศ ค่าเงินหยวนเริ่มแข็งค่าขึ้น และส่งกระทบต่อการค้าของไทย ดังนี้ 1) การส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการส่งออกของไทยไปยังจีนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 10.0 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย

2) หากพิจารณาในแง่ที่จีนเป็นคู่แข่งทางการค้าของไทย ความได้เปรียบด้านราคาที่สูงขึ้นอาจจะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีนได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่นสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าสองอันดับแรกของจีน และเมื่อพิจารณาจากประเภทของสินค้า 10 อันดับแรกของไทยและจีนที่ส่งออกไปสู่ตลาดโลกในปี 2552 พบว่าไทยและจีนเป็นคู่แข่งทางการค้าของสินค้าประเภท เหล็ก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก

อย่างไรก็ตาม เมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลทำให้มูลค่าสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนมีมูลค่าสูงขึ้นด้วย เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 10.7 ของการนำเข้าสินเข้าทั้งหมดของไทยในปี 2552 นอกจากนี้ หากค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยจากภูมิภาคเอเชียสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผลกระทบสุทธิต่อดุลการค้าของไทย เมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น จึงจำเป็นต้องพิจาณาทั้งด้านราคาของสินค้านำเข้าและปริมาณการส่งออกที่สูงขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนกว่า 1,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่าสี่หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มที่แข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินหยวน ดังจะเห็นได้จากรูปที่ 3.4 และถึงแม้ว่าทางการจีนจะประกาศมาตรการค่าเงินหยวน เงินบาทไทยยังคงมีแนวโน้มที่แข็งค่ากว่าค่าเงินหยวน โดย ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2553 ค่าเงินหยวนแข็งค่าจากวันที่เริ่มประกาศนโยบายเพียงร้อยละ 0.007 ในขณะที่ในช่วงเดียวกัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.17 ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผู้ส่งออกได้ และคาดว่าผู้ส่งออกไทยอาจไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการค่าเงินหยวนมากนัก และขณะเดียวกันก็น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนแก่ผู้ที่ต้องนำเข้าสินค้าจากจีน

  • ปัจจัยฐานสูง เนื่องจากการส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ดังนั้นหากเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ย่อมจะได้เห็นการขยายตัวที่ชะลอลงในช่วงปลายปีนี้
  • ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น นับตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปของอัตราแลกเปลี่ยนธรรมดา และ Nominal Effective Exchange Rate (NEER) โดยจะสังเกตได้จากรูป 3.5 ที่เงินบาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ NEER ที่อยู่เกินระดับฐาน และยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนธรรมดาจะส่งผลต่อผู้ส่งออกในรูปของกำไรที่แลกเปลี่ยนจากดอลลาร์สหรัฐกลับเป็นเงินบาทได้น้อยลง อีกทั้งการแข็งค่าของ NEER จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงด้วย

ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่า หากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.0 ต่อปีจากกรณีฐาน มูลค่าส่งออกสินค้าในครึ่งหลังของปี 2553 จะลดลงจากกรณีฐานที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี นอกจากนี้ หากค่าเงินบาทในไตรมาส 3 และ 4 อยู่ที่ 31.5 และ 31.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ จะทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าในครึ่งหลังของปี 2553 ลดลงจากกรณีฐานที่ประมาณร้อยละ 1.2 ต่อปี ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าค่าเงินของประเทศคู่ค้าไม่ได้แข็งค่าขึ้นตาม

เศรษฐกิจคู่ค้าใหม่ในเอเชียที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ทำให้เศรษฐกิจประเทศโลกที่หนึ่งอยู่ในภาวะถดถอยอย่างร้ายแรง จึงทำให้ความสนใจทั้งหลายพุ่งตรงไปยังเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ซึ่งส่งสัญญาณการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและโดดเด่น และในขณะเดียวกัน มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศเหล่านี้ ก็ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

4. สรุป

แม้ว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวในระดับสูงมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ประกอบกับสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีจากประเทศคู่ค้าใหม่ในเอเชีย ภาคการส่งออกไทยยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน ประกอบกับปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ตลอดจนอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกของไทย เพื่อป้องกันความเสี่ยง ภาคการส่งออกไทยจึงควรเร่งศึกษาความเสี่ยงและวิธีจัดการความเสี่ยงของการส่งออก โดยมุ่งเน้นการส่งออกสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจ และเร่งกระจายสินค้าและตลาดส่งออก เพื่อให้ภาคส่งออกของไทยแข็งแกร่ง พร้อมรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ