รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 16, 2010 11:13 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 กันยายน 2553

Summary:

1. ส.อ.ท. ชี้ผลการส่งสัญญาณของธปท.เข้ามาดูแลค่าของเงินบาทเริ่มเห็นผลดี

2. สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเสนอภาครัฐขยายถือครองที่ดินต่างชาติเป็น 50 ปี

3. รมต.คลังญี่ปุ่นประกาศแทรกแซงค่าเงินเยนที่ปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบ 15 ปี

Highlight:
1. ส.อ.ท. ชี้ผลการส่งสัญญาณของธปท.เข้ามาดูแลค่าของเงินบาทเริ่มเห็นผลดี
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งสัญญาณว่าจะเข้ามาดูแลการแข็งค่าของเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกลของระบบเศรษฐกิจและมีมาตรการจัดการกับเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไร ซึ่งเมื่อมีข่าวลือเกิดขึ้นในตลาดเมื่อวันที่ 14 ก.ย.เงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรเริ่มหวั่นไหว มีการเทขายทำกำไร พร้อมกล่าวว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากที่สุดคือผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศผลิต เช่น อาหาร เกษตรและสิ่งทอ หลายรายเริ่มที่จะหยุดรับออเดอร์จากลูกค้าแล้ว เนื่องจากไม่คุ้มกับการผลิต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวลือว่า ธปท.อาจจะออกมาตรการมาเพื่อดูแลค่าเงินบาท นักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินได้เทขายเงินบาทออกมาทันที ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากระดับ 30.73 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ไปที่ 30.88 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่ในด้านตลาดทุนก็ได้รับผลกระทบเช่นกันโดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์SET ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 4.0 อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปจำเป็นต้องมีการดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ประเทศไทยสูญเสียความได้เปรียบด้านราคาในการแข่งขันในตลาดโลก
2. สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเสนอภาครัฐขยายถือครองที่ดินต่างชาติเป็น 50 ปี
  • สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ได้เสนอให้รัฐบาลขยายสิทธิชาวต่างชาติในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยขยายเวลาการถือกรรมสิทธิ์ระยะยาว หรือ Leasehold จากปัจจุบันมีระยะเวลา 30 ปี เป็น 50 ปี เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดช่องผ่านพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ซึ่งได้กำหนดให้คนต่างด้าวสามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ 50 ปีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังเป็นมีข้อถกเถียงกันถึงผลทางกฎหมายในการสืบทอดกรรมสิทธิ์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายระยะเวลาการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินระยะยาวจากปัจจุบันที่กำหนดที่ 30 ปี เป็น 50 ปี ถือเป็นการเปิดเสรีด้านการลงทุนให้กับชาวต่างชาติอย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นอาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่อาจแข็งค่ามากขึ้น เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้ชาวต่างนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติในปัจจุบันของไทยอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในการถือครองกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ หรือเรียกว่า Freehold ไม่เกินร้อยละ 49.0 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการโอนอาคารชุดของชาวต่างชาติแล้วประมาณ 80,000 — 90,000 หน่วย ต่อปี
3. รมต.คลังญี่ปุ่นประกาศแทรกแซงค่าเงินเยนที่ปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบ 15 ปี
  • รมต.กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจดำเนินการแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังจากที่ค่าเงินเยนได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่82.86 เยน ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 15 ปี ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงตลาดการเงิน และอาจใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงินเมื่อมีความจำเป็น โดยล่าสุด หลังจากการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาล ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 84.54 เยน ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 ค่าเงินเยนได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ10.7 เทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกของญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 13 ของ GDP ) โดยล่าสุดหลังจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของรัฐบาล ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงร้อยละ2.86 เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงในระยะต่อไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายแทรกแซงของรัฐบาลญี่ปุ่นและจำนวนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาถือได้ว่าญี่ปุ่นมีเงินทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่1,014.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ