รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 17, 2010 11:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 กันยายน 2553

Summary:

1. ผู้ค้าน้ำมันเตรียมปรับราคาน้ำมันเบนซินขึ้นหลังค่าการตลาดลดต่ำลงเหลือ 1.30 บาทต่อลิตร

2. ส.อ.ท. แถลงข่าวดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการลดลงในเดือน ส.ค. 53 มาอยู่ที่ระดับ 102.4

3. ยอดค้าปลีกเดือนส.ค. 53 ของอังกฤษหดตัวร้อยละ -0.5 (% qoq)

Highlight:
1. ผู้ค้าน้ำมันเตรียมปรับราคาน้ำมันเบนซินขึ้นหลังค่าการตลาดลดต่ำลงเหลือ 1.30 บาทต่อลิตร
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันขณะนี้ว่ายังอยู่ในระดับที่ทรงตัวตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท พร้อมแนะนำให้จับตาดูสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวในช่วง 1-2 วันนี้ว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากมีการปรับขึ้นก็อาจจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินเพราะค่าการตลาดของน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 1.30 บาทต่อลิตรเท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบของโลกสะท้อนจากราคาน้ำมันดิบ Dubai นั้นปรับลดลงมากจากช่วงต้นปีประมาณร้อยละ 1.9 ในขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมาถึงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีและยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศโดยรวมไม่น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงถัดไปที่ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแม้ว่าค่าการตลาดอาจต้องปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะมีส่วนให้ราคาน้ำมันในประเทศไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อของไทยในระยะถัดไปไม่ให้ปรับตัวขึ้นมาก
2. ส.อ.ท. แถลงข่าวดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในเดือน ส.ค. 53 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 102.4
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 102.4 ปรับตัวลดลงจากเดือน ก.ค. 53 จากระดับ 108.6 โดยอ้างว่าสาเหตุที่ดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงเกิดจากองค์ประกอบของดัชนียอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการที่ปรับตัวลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในช่วงที่ผ่านมาคือ 1) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากการส่งออกของไทยมีสัดส่วนที่มากที่สุดที่ร้อยละ 52.4 ของ GDP ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมจะกระทบความสามารถของผู้ส่งออกไทยในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลก โดย ณ สิ้นเดือน ส.ค. 53 เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับต้นปี 53 2) ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และ 3) ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลัง ปี 2553 ที่อาจจะชะลอตัวลง ตามเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณแผ่วลงชัดเจน
3. ยอดค้าปลีกเดือนส.ค. 53 ของอังกฤษหดตัวร้อยละ -0.5 (% qoq)
  • ยอดค้าปลีกเดือนส.ค. 53 ของอังกฤษหดตัวร้อยละ -0.5 (% qoq) จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 (% qoq) จากการหดตัวของทั้งหมวดอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค สะท้อนถึงการฟื้นตัวในภาคการบริโภคเอกชนในครึ่งหลังปี 2553 อาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ทั้งนี้การบริโภคเอกชนเป็นแหล่งการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 53 ถึงร้อยละ 1.5 ของการขยายตัวทั้งหมด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การบริโภคภาคเอกชนของอังกฤษยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนได้จากยอดค้าปลีกที่ยังคงขยายตัวอยู่ เมื่อพิจารณาจากการขยายตัวเฉลี่ย 3 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 0.4 (% 3m/3m) อย่างไรก็ตามยอดค้าปลีกอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะต่อไปจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงมีความเปราะบาง ประกอบกับการปรับขึ้นภาษี VAT ในเดือนม.ค. 53 ซึ่งอาจส่งผลให้ภาคครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายลงและทำให้การบริโภคเอกชนในช่วงครึ่งหลังปี 53 มีการชะลอตัวลงได้เช่นกัน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ