รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 21, 2010 10:21 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 กันยายน 2553

Summary:

1. ส่งออกไทยเดือนส.ค.เร่งตัวขึ้น ผลจากทุกหมวดสินค้า-ตลาดหลักเริ่มฟื้นตัว

2. นายกสมาคมอาคารชุดไทย เผย อสังหาริมทรัพย์ปีหน้าจะปรับราคาขายเพิ่มขึ้นจากต้นทุนพุ่ง

3. เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ

Highlight:
1. ส่งออกไทยเดือนส.ค.เร่งตัวขึ้น ผลจากทุกหมวดสินค้า-ตลาดหลักเริ่มฟื้นตัว
  • นายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่าตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน ส.ค. 53 มีมูลค่า16,452 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 23.9 ต่อปี ในแง่มิติสินค้าการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นทุกหมวด โดยสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงมาก ได้แก่ ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน การส่งออกไปตลาดสำคัญยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,809 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 41.1ต่อปี สำหรับดุลการค้าเดือนส.ค. 53 ไทยเกินดุลการค้า 643 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าสะสมในช่วง 8 เดือนของปี 53 ไทยยังคงเกินดุลการค้ารวม 6,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกเดือนส.ค. 53 ที่เร่งขึ้นมากนั้น หากหักปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว จะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และหากหักทองคำแล้ว จะขยายตัวที่ร้อยละ 26.2 ต่อปี หรือร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ผลจากการขยายตัวที่เร่งขึ้นในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน โดยในมิติสินค้า การส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 18.7 8.7 และ 27.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้ายังคงขยายตัวดี แต่หากหักปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว จะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมีการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 42.1 ต่อปี ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง กอปรกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 38.9 และ 34.5 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบมีแนวโน้มชะลอลง สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อของภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลง
2. นายกสมาคมอาคารชุดไทย เผย อสังหาริมทรัพย์ปีหน้าจะปรับราคาขายเพิ่มขึ้นจากต้นทุนพุ่ง
  • นายกสมาคมอาคารชุดไทย เผย ราคาวัสดุก่อสร้างขณะนี้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยราคาที่ปรับขึ้นนี้ จะกระทบต่อต้นทุนการขายที่อยู่อาศัยในปี 2554 เพราะเป็นการขายภายใต้ต้นทุนใหม่ ขณะที่ปีนี้สินค้าที่ขายจะยังคงขายในราคาต้นทุนเดิม จากการสำรวจของ "กรุงเทพธุรกิจ" ได้สำรวจความเคลื่อนไหวราคาวัสดุก่อสร้างหลักและตกแต่งทั้งปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น และกระเบื้อง สุขภัณฑ์ พบว่า ปรับราคาขายขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ (ถุง) ปรับราคาขายขึ้น 2 รอบ โดยในช่วงเดือน ก.ย. 53 ขึ้นราคาอีก 50 บาท/ตัน หลังจากที่ในช่วงเดือน ส.ค.2553 ปรับขึ้นแล้ว 50-250 บาท/ตัน ขณะที่เหล็กเส้น เตรียมปรับราคาขายในช่วงปลายปีนี้ ส่วนกระเบื้องเซรามิก-สุขภัณฑ์ ปรับขึ้นไปแล้วตั้งแต่ครึ่งแรกของปีนี้ประมาณร้อยละ 5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มราคาบ้านในปีหน้าอาจปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้บริโภคคงต้องแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้นทั้งภาระค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองที่เพิ่มขึ้น ตามการสิ้นสุดของมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯในเดือนมิ.ย. 53 รวมถึงการปรับขึ้นโดยตรงของราคาบ้าน ทั้งนี้ แนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังคงขยายตัวได้ดี โดยล่าสุดรายได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เดือนส.ค.53 ขยายตัวร้อยละ 39.1 ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ 8 เดือน (YTD) ขยายตัวร้อยละ 70.6 ต่อปี
3. เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ
  • นายโมฮัมเหม็ด เอล-อีเรียน El-Erianหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุมร่วมของพิมโก(Pimco) กล่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Fed) อาจปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งคาดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างช้าๆ ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกหรือไม่ ซึ่งหมายถึงเฟดอาจมีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มเพื่อตรึงต้นทุนในการกู้ยืมหรืออัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าในไตรมาส 2 ปี 53 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปีมาอยู่ทีร้อยละ 3.0 ต่อปี และคิดเป็นขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าทีร้อยละ 0.4 (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) แต่เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจบางตัวของสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแอ เช่น อัตราการว่างงานที่ล่าสุดในเดือน ส.ค. 53 ปรับตัวสูงขั้นมาอยู่ที่ร้อยละ 9.6 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. 53 ที่อยู่ที่ร้อยละ 9.5 ของกำลังแรงงานรวม สะท้อนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเปราะบาง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ