นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ และ ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานจัดเก็บภาษี ผ่านระบบ Single Window เพื่อให้บริการนำเข้าสุรา ยาสูบ ไพ่ ณ จุดเดียว โดยกรมสรรพสามิตได้พัฒนาระบบ Back-end-integration เชื่อมโยงกับระบบ National Single Window ของกรมศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการขอใบอนุญาตนำเข้า สุรา ยาสูบ ไพ่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตนำเข้าสุรา ยาสูบ ไพ่ ได้ที่หน่วยงานของกรมสรรพสามิตเพียงแห่งเดียว หลังจากนั้นข้อมูลใบอนุญาตจะถูกส่งไปยังศุลกากรผ่านทางระบบ National Single Window เพื่อรอให้ผู้ประกอบการดำเนินการจัดทำใบขนสินค้า จัดทำพิธีการทางศุลกากรผ่านระบบ e-Customs ของกรมศุลกากร เสร็จแล้วศุลกากรจะส่งข้อมูลกลับไปยังกรมสรรพสามิต เพื่อนัดหมายกับผู้ประกอบการให้ไปดำเนินการออกของ ณ คลังสินค้าต่อไป
การดำเนินการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านโลจิสติกส์ของประเทศให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบ National Single Window ในประเทศไทย อีกทั้งยังส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงช่วยผลักดันให้ระบบ National Single Window ของประเทศไทย มุ่งสู่การเชื่อมโยงในระดับอาเซียนเป็น Asean Single Window ได้อย่างเต็มรูปแบบต่อไป
นอกจากนั้น กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การนำเข้า — ส่งออก สินค้าที่อยู่ในความควบคุม และกำกับดูแลของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อนำไปพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ในการขอยกเว้น/คืนภาษี ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประกอบการ สร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อหน่วยงานจัดเก็บภาษีในด้านงานบริการมากยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและการบริหารการจัดเก็บภาษีของหน่วยจัดเก็บภาษี
กรมสรรพสามิต โทร.02-241-5600 ต่อ 54232
กรมศุลกากร โทร.02-667-7543 , 02-667-7339
ขั้นตอนการให้บริการระหว่างกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร
1. ผู้ประกอบยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าสุรา ยาสูบ ไพ่ ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่
2. เจ้าหน้าที่สรรพสามิต ตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และบันทึกข้อมูลใบอนุญาต เข้าสู่ระบบ
3. กรมสรรพสามิตส่งข้อมูลใบอนุญาต ผ่านช่องทาง National Single Window ให้ศุลกากร
4. ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรตรวจสอบข้อมูล และยืนยันการได้รับข้อมูลโดยอัตโนมัติ
5. เจ้าหน้าที่สรรพสามิตสั่งพิมพ์ใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ
6. ผู้ประกอบการจัดทำใบขนสินค้า ดำเนินพิธีการศุลกากรผ่านระบบ e-Customs ของศุลกากร พร้อมชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผ่านเคาน์เตอร์ชำระเงิน ณ กรมศุลกากร
7. ศุลกากรส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า ที่ชำระค่าภาษีอากรแล้วให้สรรพสามิตโดยอัตโนมัติ ผ่านช่องทาง National Single Window
8. สรรพสามิตตรวจสอบข้อมูลและยืนยันการได้รับข้อมูลโดยอัตโนมัติ
9. ผู้ประกอบการตรวจสอบข้อมูลการชำระภาษีได้จากเว็บไซต์ของกรมศุลกากร (http://www.customsclinic.org) เลือกหัวข้อ อี-เซอร์วิส หรือเข้าไปที่ https://e-tracking.customs.go.th/ETS/index.jsp
10. เจ้าหน้าที่สรรพสามิต รับข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล จัดทำเรื่องเบิกจ่ายแสตมป์
11. เจ้าหน้าที่สรรพสามิตนัดหมายกับผู้ประกอบการ และนำแสตมป์ไปควบคุมการปิดแสตมป์ ณ คลังสินค้าทัณฑ์บนในวันนัด ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถตรวจดูกำหนดนัดหมายจากเว็บไซต์ของกรมสรรพสามิต (http://www.excise.go.th) เลือกหัวข้อตรวจสอบกำหนดนัดหมายการปิดแสตมป์
12. ศุลกากรตรวจปล่อยสินค้า (กรณีเปิดตรวจ) ผู้ประกอบการรับสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน
National Single Window
ข้อมูล
กรมศุลกากรได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งระบบ National Single Window ทางอิเล็กทรอนิกส์แบบบูรณาการสำหรับการนำของเข้า และการส่งของออก เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้า การลงทุน และการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้เข้มแข็งในระยะยาว โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต ใบรับรอง และใบปล่อยสินค้า จำนวน 34 แห่ง
28 เมษายน 2551 กรมศุลกากรได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
10 กันยายน 2552 กรมศุลกากรได้ลงนามเพิ่มเติมกับ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมสรรพสามิต กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กรมการขนส่งทางบก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมวิชาการเกษตร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
14 พฤษภาคม 2553 กรมศุลกากรได้ลงนามเพิ่มเติมกับ 18 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมป่าไม้ กรมการค้าภายใน กรมทรัพยากรธรณี กรมการปกครอง กรมการอุตสาหกรรมทหาร กรมศิลปากร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมการบินพลเรือน กรมเจ้าท่า บริษัทการท่าอากาศยานไทยจำกัด สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 106/2553 21 กันยายน 53--