Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 กันยายน 2553
1. บีโอไอแถลงการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ ในปี 2011 เพื่อขยายตลาดชิ้นส่วนของไทย
2. นายกรัฐมนตรีจีนเผยยังไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอที่จะรองรับการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.ย. 53 ปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาอยู่ที่ระดับ 53.8
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จะจัดงานซับคอนไทยแลนด์ หรืองานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสนับสนุน ระหว่างวันที่ 12 — 14 พฤษภาคม 2554 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) กรุงเทพฯ โดยครอบคลุมการผลิตชิ้นส่วนใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจับคู่ธุรกิจได้มากกว่า 3,000 คู่ ทั้งนี้การจัดงานซับคอนไทยครั้งที่ผ่านมาซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2007 — 2010 สามารถจับคู่ธุรกิจได้มากกว่า 7,000 คู่ และเกิดการซื้อขายรวมมูลค่ากว่า 11,300 ล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า การจัดงานเพื่อขยายตลาดชิ้นส่วนของไทยดังกล่าว ถือเป็นการสนับสนุนภาคการลงทุนของไทย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของ GDP ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 2 ภาคการลงทุนของไทยได้ขยายตัวร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq_sa) ซึ่งการลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นดัวย อันเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศมากขึ้น และลดบทบาทการส่งออก
- นายกรัฐมนตรี หูจิ่นเทา แห่งจีน กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการธุรกิจสหรัฐ-จีน ที่กรุงนิวยอร์กว่าขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นพอที่จะรองรับการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นอย่างฉับพลันหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐกดดันจีนอย่างหนักให้ปล่อยค่าเงินหยวนให้เป็นอิสระมากขึ้น โดยอ้างว่า การที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเกินไป ส่งผลให้สหรัฐต้องขาดดุลมหาศาลกับจีน โดยนายหูจิ่นเทากล่าวว่าหากค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 20 - 40 ตามคำเรียกร้องของสหรัฐ อาจมีบริษัทจีนที่จะต้องล้มละลายและจะมีคนงานจีนมากมายต้องตกงาน ในขณะเดียวกันมองว่าปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐไม่เกี่ยวข้องกับค่าเงินหยวน แต่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2553 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารกลางจีนประกาศว่าจะปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลคู่ค้ามากขึ้นนั้น ค่าเงินหยวนได้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ประมาณร้อยละ 1.38 แต่กลับเป็นการอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทที่ประมาณร้อยละ 3.73 ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าผู้ส่งออกของประเทศจีนได้เปรียบความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาผู้ส่งออกของไทยและประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่เพิ่มมากขึ้นในช่วงดังกล่าว ในขณะที่ความคาดหวังที่นักลงทุนมองว่าค่าเงินหยวนจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นนั้นกลับส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาทำการค้าเกงกำไรแบบ Proxy trading กับค่าเงินภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ค่าเงินสกุลดังกล่าวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหยวนซึ่งมีการควบคุมที่เข็มงวดกว่าจึงอาจได้รับผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคมากกว่าประเทศจีน
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Composite PMI) เดือน ก.ย. 53 ปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาอยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 56.2 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของเศรษฐกิจยุโรปที่ประมาณร้อยละ 70 ของ GDP ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 53.6 เช่นเดียวกับดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีการชะลอตัว และมาตรการรัดเข็มขัดภาคการคลังเพื่อลดหนี้สาธารณะ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อปรับตัวลดลงอย่างมากน่าที่จะสะท้อนถึงเศรษฐกิจยุโรปที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในครึ่งหลังปี 53 จากปัจจัยความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่น่าจะชะลอตัวลงจากการแผ่วลงของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่อัตราการว่างงานที่ยังคงสูงอยู่ โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานรวม อาจส่งผลต่อความสามารถและความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนในการใช้จ่าย ซึ่งเป็นภาคสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรป อีกทั้งระดับหนี้สาธารณะในระดับที่สูงของกลุ่มประเทศ PIIGS ของยุโรปและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ที่อยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.00 ต่อปี นั้นอาจเป็นข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลังและการเงินเพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th