บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมปัญหาระดับชาติที่รอการแก้ไข

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 28, 2010 12:23 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้จำนวนคนจนลดลงทั่วประเทศจากกว่าร้อยละ 45.0 ของประชากรเมื่อช่วง 25 ปีก่อน เหลือเพียงไม่ถึงร้อยละ 9.0 ของประชากรในปัจจุบัน แต่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเชิงสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ก่อให้เกิดความแตกต่างเป็นอย่างมากระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีจากข้อมูลสถิติช่องว่างความเหลื่อมล้ำรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุดกับกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุด มีความห่างกันมากกว่า 12 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าการกระจายรายได้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 55 ของรายได้รวมทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 4-5 ของรายได้รวมทั้งประเทศ

ในด้านความยากจนเชิงบริบูรณ์ของไทย (Absolute poverty) พบว่า ความยากจนของประเทศไทยลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2543-2550 เนื่องจากการเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าในปี 2550 มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 8.5 จากจำนวนคนจน 5.4 ล้านคน และทำให้เส้นความยากจน (Poverty line) อยู่ที่ 1,443 (บาท/คน/เดือน)

ในด้านความยากจนเชิงเปรียบเทียบ (Relative poverty) ของไทยตั้งแต่ปี 2537-2550 พบว่า การกระจายรายได้ของไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มคนที่มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นคือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ หรือกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุด ซึ่งมีส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ 57.2 ของรายได้ทั้งหมดในปี 2537 มาเป็นร้อยละ 55.1 ในปี 2550 ในขณะที่ประชากรกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งรายได้ลดลง จากร้อยละ 4.1 ในปี 2537 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ในปี 2550 ดังนั้น ความแตกต่างของรายได้ยังคงอยู่ในระดับที่สูง วัดได้จากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GINI Coefficient) ด้านรายได้ในปี 2550 อยู่ที่ค่า 0.5 ในปัจจุบัน

ในการนี้ กระทรวงการคลังจึงมีภารกิจสำคัญในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ 4 ด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้แก่ (1) นโยบายภาษี (2) นโยบายรายจ่ายงบประมาณ (3) นโยบายทรัพย์สินของภาครัฐ และ (4) นโยบายด้านการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทย เพื่อการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศและทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันในอนาคตต่อไป

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้จำนวนคนจนลดลงทั่วประเทศเหลือไม่ถึงร้อยละ 9.0 ของประชากร ในปัจจุบัน จากที่เคยสูงถึงร้อยละ 45.0 ของประชากรเมื่อช่วง 25 ปีก่อน แต่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเชิงสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ก่อให้เกิดความแตกต่างเป็นอย่างมากระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีจากข้อมูลสถิติพบว่า ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุดกับกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุด มีความห่างกันมากกว่า 12 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากเมื่อช่วง 25 ปีที่แล้ว ซึ่งหมายความว่า กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 55 ของรายได้รวมทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 4-5 ของรายได้รวมทั้งประเทศ ดังนั้น บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศ พร้อมทั้งเสนอแนะนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนี้

1. ความยากจนเชิงบริบูรณ์ของไทย (Absolute poverty)

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ความยากจนของประเทศไทยลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2543-2550 เนื่องจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ที่กำหนดเป้าหมายลดสัดส่วนคนยากจนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 12 ของจำนวนประชากร โดยในปี 2549 พบว่าจำนวนคนจนอยู่ที่ 6.1 ล้านคน จากสัดส่วนคนจนร้อยละ 9.5 ในขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) มีเป้าหมายที่จะลดสัดส่วนคนยากจนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 4 ของประชากรภายในปี 2554 โดยพบว่าในปี 2550 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นั้น พบว่าสัดส่วนคนจนอยู่ที่ร้อยละ 8.48 ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ และจำนวนคนจนอยู่ที่ 5.4 ล้านคน

2. ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ (Relative poverty)

การวัดความยากจนในมิติของการกระจายรายได้อีกด้านหนึ่ง คือ การวัดความยากจนแบบสัมพันธ์ (Relative poverty) หมายถึง การที่คนกลุ่มหนึ่งได้รับรายได้แตกต่างจากอีกกลุ่มหนึ่งมากน้อยกว่ากันเท่าใด โดยสามารถเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับรายได้สูงสุด (5th Quintile) ร้อยละ 20 แรกเทียบกับกลุ่มที่ได้รับรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างสุด ซึ่งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง และมีปัญหาการกระจายรายได้จะมีสัดส่วนการมีรายได้ของทั้งสองกลุ่มนี้แตกต่างกันมาก

สำหรับประเทศไทย พบว่า การกระจายรายได้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537-2550 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มคนที่มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น คือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ หรือกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุด (5th Quintile) ซึ่งมีส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ 57.23 ของรายได้ทั้งหมดในปี 2537 มาเป็นร้อยละ 55.06 ในปี 2550 ในขณะที่ ประชากรกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งรายได้ลดลง จากร้อยละ 4.07 ในปี 2537 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.30 ในปี 2550 ซึ่งหมายความว่าผลผลิตของประเทศไทยที่คิดเป็นเงินได้ 100 บาท ตกเป็นของคนรวยเสียครึ่งหนึ่ง ส่วนคนจนร้อยละ 20 (จนที่สุด) ได้รับรายได้ไปเพียง 4.30 บาท ทั้งนี้ ในปี 2550 รายได้ของประชากรกลุ่มที่รวยที่สุดคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่ารายได้ของประชากรที่จนที่สุดถึง 12.81 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ของประเทศไทยในปัจจุบัน

การกระจายรายได้และความยากจนด้านรายได้ช่วงปี 2537-2550
กลุ่มประชากรตามระดับรายได้                                 สัดส่วนรายได้ของประชากร (ร้อยละ)
                                      2537    2539    2541    2543    2545    2547    2549    2550
กลุ่ม 20% ที่ 1 (จนที่สุด) (1st Quintile)    4.07    4.18    4.30    3.95    4.23    4.54    3.84    4.30
กลุ่ม 20% ที่ 2 2nd Quintile              7.35    7.55    7.75    7.27    7.72    8.04    7.67    8.01
กลุ่ม 20% ที่ 3 3rd Quintile             11.67   11.83   12.00   11.50   12.07   12.41   12.12   12.42
กลุ่ม 20% ที่ 4 4th Quintile             19.68   19.91   19.82   19.83   20.07   20.16   20.08   20.22
กลุ่ม 20% ที่ 5 (รวยที่สุด) 5th Quintile    57.23   56.53   56.13   57.45   55.91   54.86   56.29   55.06
  รวม                                100.0   100.0   100.0   100.0   100.0   100.0   100.0   100.0
สัดส่วนกลุ่มที่5/กลุ่มที่1 (เท่า)               14.07   13.52   13.06   14.55   13.23   12.10   14.66   12.81
สัดส่วนกลุ่มคนที่ใช้จ่ายมากที่สุด/กลุ่ม
คนที่ใช้จ่ายน้อยที่สุด (เท่า) (รวยที่สุด 20%
  /จนที่สุด20%)                          8.36    8.21    7.40    8.09    7.72    8.00    7.90    7.07
ที่มา: สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)


          ทั้งนี้ ความแตกต่างของรายได้สามารถวัดเป็นค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ (GINI Coefficient) ของไทยในปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ค่า 0.50 ลดลงเพียงเล็กน้อยจากค่า 0.52 ในปี 2537 ซึ่งแสดงถึงความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากนักในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GINI coefficient) ของรายได้จำแนกตามภาค และจำแนกตามเขตพื้นที่ ปี 2537-2550
ปี พ.ศ.   ทั่วประเทศ   กรุงเทพฯ   กลาง   เหนือ    อีสาน    ใต้     เขตเมือง   เขตชนบท
 2537      0.52      0.40     0.46   0.47    0.47    0.50    0.47      0.46
 2539      0.51      0.40     0.47   0.46    0.47    0.47    0.48      0.44
 2541      0.51      0.41     0.44   0.46    0.46    0.49    0.47      0.45
 2543      0.52      0.42     0.45   0.47    0.48    0.48    0.47      0.47
 2545      0.51      0.44     0.44   0.47    0.47    0.46    0.47      0.45
 2547      0.49      0.42     0.43   0.48    0.45    0.45    0.46      0.45
 2549      0.51      0.45     0.44   0.48    0.49    0.47    0.48      0.48
 2550      0.50      0.47     0.42   0.47    0.47    0.46    0.47      0.46
ที่มา: สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

          ทั้งนี้ จากผลการศึกษาทางวิชาการและประสบการณ์จากประเทศพัฒนาแล้ว พบว่าค่า GINI Coefficient ที่เหมาะสม (Optimal) ควรอยู่ที่ระดับค่าเท่ากับค่า 0.40 โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น มีค่า GINI Coefficient อยู่ที่ระดับดังกล่าว (ดูภาพที่ 2) ดังนั้น เป้าหมายเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ของไทยจึงควรทำให้โครงสร้างการกระจายรายได้ของไทยมีค่า GINI Coefficient ที่ลดลงจากค่า 0.5 เป็นค่า 0.4 ในอนาคต ซึ่งโครงสร้างรายได้ในระดับเหมาะสมดังกล่าว หากดำเนินการภายใต้กรณีให้กลุ่มคนชั้นกลาง (ร้อยละ 60 ของประชากร) ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการกระจายรายได้จะทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ หรือกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุดควรมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 51.6 ในขณะที่ประชากรกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 จำเป็นต้องมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.8 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการกระจายรายได้ดังกล่าว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกระจายรายได้คิดเป็นประมาณร้อยละ 3.5 ของ GDP หรือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท จากกลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ หรือกลุ่มประชากรร้อยละ 20 กับกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20

3. นโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
          เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมกระทรวงการคลังจึงมีภารกิจสำคัญในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยเป็นการเร่งด่วน ซึ่งสามารถแบ่งนโยบายการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
          1) นโยบายภาษีเพื่อช่วยสร้างความเป็นธรรมรัฐบาลได้มีนโยบายการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้ระบบภาษีเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการกระจายรายได้และช่วยสร้างความเป็นธรรมในสังคม เช่น (1) การปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้และการปรับปรุงแนวทางการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสร้างความเป็นธรรมและบรรลุในเป้าหมายการกระจายรายได้ (2) การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบันที่ร้อยละ 7.0 เพื่อทำให้รัฐบาลมีรายได้เพียงพอสำหรับใช้จ่ายงบประมาณในโครงการหรือแผนงานที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวต้องคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป และ (3) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นภาษีฐานทรัพย์สิน (Wealth tax) ที่จะสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ลดปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินโดยบุคคลเพียงบางกลุ่ม รวมถึงเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาที่ดินรกร้างว่างเปล่า และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ที่สอดคล้องกับการให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้น

          2) นโยบายรายจ่ายงบประมาณ
          รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 และปีงบประมาณ 2554 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิต เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย การขยายโอกาสให้คนไทยให้ได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันผ่านโครงการเรียนฟรี 15 ปี การเพิ่มโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการและคนชรา ให้ได้รับเบี้ยยังชีพและสวัสดิการสังคมที่เป็นธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทและประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น โครงการประกันรายได้เกษตร ซึ่งปัจจุบัน พบว่า เกษตรกรมีการขึ้นทะเบียนแล้วอย่างน้อย 1 ล้านครัวเรือน ที่เข้าสู่ระบบประกันภัยพืชผล โครงการจ้างงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการลงทุนในระบบชลประทานเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งการเพิ่มโอกาสให้คนในชนบทได้รับบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียมด้วยการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลตำบล เป็นต้น
          สำหรับในปีงบประมาณ 2554 กระทรวงการคลังได้เน้นการพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยได้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้จำนวน 624.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 30.2 ของวงเงินงบประมาณ (2,070.0 พันล้านบาท) โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้

รายละเอียดงบประมาณด้านการพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
หน่วย: ล้านบาท
การพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต                     ปี 2553        สัดส่วน          ปี 2554          สัดส่วน
และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม                   จำนวน        ปี 2553          จำนวน          ปี 2554
1.การขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษา            280,889         55.6         317,467           50.8
2.การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานแรงงาน          21,365          4.2          29,080            4.7
3.การพัฒนาด้านสาธารณสุข                    172,750         34.2         211,445           33.9
4.การส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม    8,218          1.6           7,990            1.3
5.การสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์        7,682          1.5          47,076            7.5
6.การสนับสนุนการประกอบอาชีพของผู้มีรายได้น้อย       491          0.1
7.การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม             4,343          0.9
8.การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสงเคราะห์ผู้สูงอายุ       365          0.1
9.การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค                        178          0.0
10.การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด                4,547          0.9           4,948            0.8
11.การส่งเสริมและพัฒนากีฬาและนันทนาการ         5,811          1.1           6,413            1.0
        รวม                             505,640        100.0         624,419          100.0
ที่มา: สำนักงบประมาณ

          3) นโยบายทรัพย์สินของรัฐ
          กระทรวงการคลังมีทรัพย์สินของรัฐที่เป็นที่ราชพัสดุที่สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์เชิงสังคม โดยจะได้ทำการจัดสรรที่ดินราชพัสดุภายใต้โครงการ 1 ล้านไร่มิติใหม่ที่ราชพัสดุ ทั้งนี้ นโยบายในการนำที่ดินราชพัสดุมาสนับสนุนการปลูกพืชอาหารและพืชทดแทนพลังงาน เพื่อจัดสรรให้แก่ราษฎรที่มีอาชีพเกษตรกรรม หรือผู้ที่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้เช่าที่ดินที่ราชพัสดุ เพื่อทำการเกษตรในอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม โดยในปี 2552 ได้จัดให้เกษตรกรเช่าที่ราชพัสดุจากโครงการดังกล่าวไปแล้วเนื้อที่ประมาณ 114,376 ไร่ เกษตรกรผู้เช่าประมาณ 6,927 ราย สำหรับในปีงบประมาณ 2553 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 เป็นต้น สามารถมาจัดที่ดินที่ราชพัสดุให้เกษตรกรเช่าแล้วประมาณ 13,590 ไร่ จำนวนผู้เช่าประมาณ 1,632 ราย ในเขตจังหวัดต่างๆ อาทิเช่น จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี ชุมพร กระบี่ และในปี 2553 คาดว่าจะสามารถจัดให้เกษตรกรเช่าได้ 100,000 ไร่

          4) นโยบายด้านการเงินเฉพาะกิจ
          กระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการใช้กลไกเครื่องมือนโยบายด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่ง เข้ามาเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเปิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น (1) การให้สถาบันการเงินของรัฐเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ซึ่งในปัจจุบัน พบว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ธนาคาร
          พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่งในปี 2552 สามารถอนุมัติสินเชื่อได้รวม 1,186,411 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 128.0 ของเป้าหมายจำนวน 927,000 ล้านบาท และเบิกจ่ายแล้วเป็นเงิน 1,096,592 ล้านบาท หรือคิดร้อยละ 118.3 ของเป้าหมาย และมีผู้ได้รับประโยชน์แล้ว 5.03 ล้านราย (2) โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) ซึ่งปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.19 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 1.2 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 103,000 บาท (3) โครงการฟื้นฟูและพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน และขณะนี้กำลังผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสให้
คนไทย 24 ล้านคนที่ยังไม่มีระบบประกันสังคมใดๆ ให้มีระบบการออมที่ช่วยให้มีรายได้ดูแลตนเองหลังเกษียณอายุและ (4) การผลักดันแผนแม่บทการเงินระดับฐานราก เพื่อให้เป็นแหล่งเงินออมและแหล่งทุนของชุมชนอย่างยั่งยืน และมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบโดยชุมชน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมดังนั้น การดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยลดความเหลี่ยมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศและทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันในอนาคตต่อไป


          ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
          Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ