ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปได้สร้างความกังวลต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น และทำให้เกิดประเด็นคำถามว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะประสบปัญหาหนี้สาธารณะเช่นเดียวกันกับในยุโรปหรือไม่
สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ PIIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน) มีปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 53-117 ของ GDP ในปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดดุลการคลังที่สะสมต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งทำให้รายได้รัฐบาลลดลงในขณะที่รายจ่ายรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างด้านภาระสวัสดิการสังคมที่ต้องใช้จ่ายมากขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ การใช้เงินสกุลเดียวกันของสมาชิกประเทศยุโรป (เงินสกุลยูโร) ทำให้เป็นข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในแต่ละประเทศเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบระหว่างสถานการณ์หนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศ PIIGS กับประเทศไทย จะพบว่า ในกรณีของประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 42.2 หรือคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 4.1 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่ามีโอกาสน้อยที่จะประสบปัญหาหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศ PIIGS ในยุโรป โดยมีเหตุผล ดังนี้ (1) หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำในเชิงเปรียบเทียบและกว่าร้อยละ 26.8 ของหนี้สาธารณะเป็นของรัฐวิสาหกิจเชิงพาณิชย์ที่มีผลประกอบการดีและมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ได้ (2) โครงสร้างหนี้สาธารณะเป็นหนี้สกุลเงินบาทและเป็นหนี้ระยะยาวเป็นหลักทำให้ไม่มีความเสี่ยงของการไม่สามารถชำระคืนเหมือนกรณีเป็นหนี้ต่างประเทศ และมีความยืดหยุ่นในการชำระหนี้จากการเป็นหนี้ระยะยาว(3) ความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลไทยมีสูงจากการมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงมาก และ (4) ความเสี่ยงของรัฐบาลที่ต้องรองรับภาระความเสียหายของสถาบันการเงินไทยอยู่ในระดับต่ำมากเนื่องจากสถาบันการเงินไทยมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรปถือเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยในการใช้นโยบายบริหารการคลังที่เหมาะสมโดยควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) การบริหารจัดการนโยบายการคลังเพื่อรักษาระดับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง (2) การดำเนินนโยบายเพื่อรองรับแนวโน้มค่าใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากภาระสวัสดิการสังคมและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาปรับโครงสร้างรายได้และรายจ่ายรัฐให้เหมาะสมกัน (3) การสร้างระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อป้องกันมิให้สถาบันการเงินประสบปัญหาวิกฤตและต้องเป็นภาระทางการคลัง และ (4) กรณีของการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการใช้เงินสกุลเดียวร่วมกันของภูมิภาคเอเชียในอนาคตจำเป็นต้องให้การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังให้มีความสอดคล้องกันในแต่ละประเทศ
ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ PIIGS (โปรตุเกสไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน) ได้สร้างความกังวลต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สามารถจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดประเด็นคำถามว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะประสบปัญหาหนี้สาธารณะในระดับที่สูงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลและมีการใช้จ่ายลงทุนในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่ต้องมีภาระการกู้เงินเป็นจำนวนมาก
บทความนี้จึงวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์หนี้สาธารณะของยุโรปและของไทย เพื่อเปรียบเทียบและประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในประเทศไทย รวมถึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป
2.1 สภาพทั่วไปของปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในสหภาพยุโรป
ปัญหาหนี้สาธารณะของหลายประเทศในยุโรปได้เริ่มเป็นที่กังวลขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 โดยเฉพาะสำ หรับประเทศในกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์อิตาลี กรีซ และสเปน ตามลำดับ) ซึ่งมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับที่สูง เช่น ในกรีซอยู่ที่ระดับร้อยละ 116.8 ของ GDP และในอิตาลีที่ร้อยละ 115.2 ของ GDP รวมถึงมีการขาดดุลการคลังของประเทศเหล่านี้อย่างต่อเนื่องที่สูงกว่าเกณฑ์ใน Maastricht Treaty ที่กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP จึงสร้างความกังวลว่าปัญหานี้จะมีกระทบต่อเนื่องไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันจนอาจเกิดวิกฤตทางการเงินขึ้นได้ นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศเหล่านี้ลง ทั้งในส่วนของความเสี่ยงของประเทศโดยรวมความเสี่ยงจากพันธบัตรรัฐบาล ความเสี่ยงจากค่าเงิน และความเสี่ยงของภาคธนาคาร
การถูกปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศ PIIGS
วันที่ ประเทศ ระดับความน่าเชื่อถือ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 27 เมษายน 2553 กรีซ BB+ จาก BBB+ Standard & Poor’s 27 เมษายน 2553 โปรตุเกส A- จาก A+ Standard & Poor’s 28 เมษายน 2553 สเปน AA- จาก AAA Standard & Poor’s 29 พฤษภาคม 2553 สเปน AA+ จาก AAA Fitch 14 มิถุนายน 2553 กรีซ Ba1 (Junk Bond) จาก A3 Moody’s ที่มา: รวบรวมโดย สศค. 2.2 ความเป็นมาของวิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศในสหภาพยุโรป ต้นตอของปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังในระดับที่สูงของประเทศในสหภาพยุโรปมีลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 2.2.1 ภาระหนี้สาธารณะที่สูงก่อนมีการใช้เงินสกุลยูโร ในช่วงตั้งแต่ก่อนที่ประเทศในสหภาพยุโรปรวมตัวกันใช้เงินสกุลยูโรเมื่อปี 2545 สมาชิกยุโรปบางประเทศได้ประสบกับสภาพการมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับที่สูงเกินร้อยละ 100 โดยเฉพาะกรีซและอิตาลี โดยสำหรับกรีซ ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 100 ติดต่อมาตั้งแต่ปี 2538 (ยกเว้นในปี 2541)รวมถึงมีการขาดดุลงบประมาณอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเคยสูงสุดถึงร้อยละ 15.1 ของ GDP ในช่วงปี 2535-2536 ทั้งนี้การใช้จ่ายของรัฐที่เพิ่มขึ้นและสูงกว่ารายได้อย่างต่อเนื่อง กรีซจึงต้องขาดดุลงบประมาณและกู้ยืมเงินเพื่อการใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายรัฐบาลในระดับสูงมาจากระบบสวัสดิการสำหรับสำหรับผู้เกษียณอายุ (Pension) และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขต่างๆ และเงินอุดหนุนช่วยเหลือเพิ่มเติมอื่นๆ 2.2.2 การขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ใช้เงินสกุลยูโร เมื่อประเทศในสหภาพยุโรปร่วมกันใช้เงินสกุลยูโรตั้งแต่ปี 2545 ทำให้ประเทศสมาชิกต้องใช้นโยบายการเงินร่วมกัน และในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมาจากภาวะสภาพคล่องล้นระบบ(Excess Liquidity) ส่งผลให้ประเทศที่มีความเจริญเติบโตที่ช้ากว่าโดยเปรียบเทียบ เช่น กรีซ จึงได้รับประโยชน์จากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้มีต้นทุนในการกู้ยืมเงินที่อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการสร้างแรงจูงใจให้ประเทศต่างๆ ก่อหนี้สาธารณะและขาดดุลการคลังมากขึ้นแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในบางประเทศ เช่น สเปน และไอร์แลนด์ ส่งผลให้ระดับราคาและอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของประเทศเหล่านี้สูงขึ้นในเวลาต่อมา ทำให้ประเทศเหล่านี้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว กลไกในการแก้ไขจะผ่านทางการเปลี่ยนแปลงทางอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินอ่อนมากขึ้น แต่ประเทศเหล่านี้ขาดความสามารถในการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน (เนื่องจากการใช้สกุลเงินร่วมที่เป็นเงินสกุลยูโร) นอกเหนือไปจากนโยบายการเงิน ผลที่ตามมาคือภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวและต้องมีการลดระดับการจ้างงาน 2.2.3 วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก วิกฤตการเงินโลกเมื่อปลายปี 2551 ได้ส่งผลให้เกิดการหดตัวของอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศ และได้ส่งผลกระทบทางด้านลบมากขึ้นต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศในยุโรป นอกจากนี้ การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐกลายเป็นเครื่องมือสำ คัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นในหลายประเทศ อย่างไร ก็ตาม หากรัฐบาลเพียงแต่ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ในขณะที่รายได้รัฐบาลลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ได้ส่งผลให้ขาด ดุลการคลังและทำให้ยอดหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น และทำให้เกิดปัญหาทางด้านความเชื่อมั่นที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของภาครัฐในการชำระหนี้ในอนาคต ซึ่งหลายประเทศในสหภาพยุโรปได้ประสบกับปัญหาดังกล่าว เช่น โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน จนเป็นที่มาของตัวย่อของกลุ่มประเทศ PIIGS กรีซเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีปัญหาหนี้สาธารณะและปัญหาการใช้จ่ายของรัฐบาลในระดับที่สูงในปี 2552 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้นมากจากปีก่อนหน้า ที่ร้อยละ 116.8 จากร้อยละ 102.6 ดุลการคลังมีการขาดดุลอย่างต่อเนื่องจนอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ของ GDP โดยสัดส่วนผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่เป็นนักลงทุนต่างชาติ(ส่วนใหญ่ในยุโรป) มีประมาณร้อยละ 70 หรือเป็นจำนวนเงิน 213 พันล้านยูโร ปัญหาที่เกิดคือ กรีซมีภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนหนี้และดอกเบี้ย ในปี 2553 สูงถึงกว่า 53 พันล้านยูโร ซึ่งกึ่งหนึ่ง (ประมาณ 25 พันล้านยูโร) ต้องชำระภายในเดือนพฤษภาคม 2553 ทำให้หากรัฐบาลกรีซต้องมีการผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลกระทบถึงธนาคารพาณิชย์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารในยุโรปที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลกรีซเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลถึงวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซที่จะส่งผลกระทบไปถึงไอร์แลนด์อิตาลี โปรตุเกส และสเปน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการขาดดุลงบประมาณในระดับสูง ในขณะที่มีการเจริญเติบโตในระดับต่ำและหนี้สาธารณะในระดับที่สูง ประเทศที่มีปัญหาในลักษณะคล้ายกับกรีซคือโปรตุเกสและสเปน ซึ่งมีสัดส่วนของชาวต่างชาติที่เป็นพันธบัตรที่สูง ในขณะที่ขนาดหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงถึงร้อยละ 115.2 ของอิตาลี ก็ได้สร้างความกังวลว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศข้างต้นได้ แม้ว่าโดยเปรียบเทียบแล้ว อิตาลีมีวินัยทางการคลังที่เข้มงวดกว่า รวมถึงสภาพเศรษฐกิจทั่วไปของอิตาลียังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงนัก 2.3 แนวทางแก้ไข ตามสนธิสัญญาประชาคมยุโรป (European Community Treaty) ได้กำหนดระเบียบและวิธีการจัดการสำหรับการขาดดุลการคลังที่สูง (Excessive Deficit Procedure — EDP) หรือการขาดดุลการคลังเกินร้อยละ 3 ของ GDP โดยประเทศที่ประสบปัญหานี้จะต้องปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่จัดทำโดย European Council เพื่อแก้ไขการขาดดุลการคลังที่มากเกินไป รวมถึงรายงานความคืบหน้าทุกเดือน ประเทศไม่ปฏิบัติตามอาจได้รับบทลงโทษ ซึ่งรวมถึงการถูกปฏิเสธการกู้เงินจาก European Investment Bank ทั้งนี้ ไอร์แลนด์ กรีซและสเปน ถูกประกาศให้ปฏิบัติตาม EDP ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 ส่วนโปรตุเกส และอิตาลี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ซึ่งตัวอย่างของนโยบายที่ถูกใช้เพื่อแก้ปัญหามีดังนี้ (1) กรีซได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อที่จะผ่อนคลายปัญหาหนี้ โดยตั้งเป้าที่จะลดการใช้จ่ายงบประมาณลง 30 พันล้านยูโรในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อลดการขาดดุลการคลังจากปัจจุบันที่ร้อยละ 13.6 ลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 3 ภายในปี 2557 ทั้งจากการเพิ่มรายได้รัฐ ได้แก่ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 23 และการขึ้นภาษีเชื้อเพลิง แอลกอฮอล์และบุหรี่ขึ้นอีกร้อยละ 10 การควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐ ได้แก่ การรักษากรอบค่าใช้จ่ายบำนาญและเงินเดือนข้าราชการ การงดจ่ายเงินโบนัสในภาครัฐ การลดเงินเดือนของภาครัฐ เพื่อทำให้การขาดดุลการคลังลดลง รวมไปถึงการระดมเงินทุนเพื่อชำระหนี้ที่ถึงเวลาชำระคืนจากการโดยการออกขายพันธบัตรรัฐบาลเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังกังวลถึงความสามารถในการจ่ายคืนดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละปีและเงินต้นอยู่ ซึ่งปัจจุบันส่วนต่างของดอกเบี้ยเทียบกับของพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีในระยะ 10 ปีสูงถึง 640 จุด (Basis points) ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน หลังจากที่ถูกลดระดับจนมีสถานะ Junk โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s (2) สำหรับสเปน ในปี 2553 คาดไว้ว่าจะลดการใช้จ่ายของรัฐลง 5 พันล้านยูโร และวางแผนนโยบายการคลังที่เข้มงวด (Austerity Plan) ระหว่างปี 2553 — 2556 ที่จะลดการขาดดุลการคลังลงจากร้อยละ 11.4 ของ GDP ในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 3 ของ GDP (ตามเพดานของสนธิสัญญาประชาคมยุโรป) ในปี 2556 ภายใต้การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเจริญเติบโตสูงขึ้น (ทำให้รายได้ภาษีที่สูงขึ้น) ประกอบกับการลดการใช้จ่ายของรัฐซึ่งรวมถึงการยกเลิกการกระตุ้นทางการคลัง (Fiscal Stimulus Measures) และการเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน (3) ไอร์แลนด์วางแผนที่จะเพิ่มรายรับของรัฐผ่านการขึ้นอัตราภาษีที่มีอยู่เดิมและเริ่มต้นเก็บภาษีใหม่ (เช่น ภาษีคาร์บอน) รวมถึงการลดเงินเดือนที่เป็นตัวเงินของภาครัฐถึงประมาณร้อยละ 5 — 20 นอกจากนี้ การขายตราสารหนี้ระยะยาวในช่วงต้นปีได้ประมาณ 8.4 พันล้านยูโร ซึ่งทำให้ประเทศสามารถจ่ายคืนได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของ Borrowing Requirement สำหรับปี 2553 (4) โปรตุเกสวางแผนที่จะลดการขาดดุลงบประมาณจากร้อยละ 9.4 ในปี 2552 ลงเหลือต่ำกว่าเพดานตามสนธิสัญญาประชาคมยุโรป ที่ร้อยละ 3 ในปี 2556 โดยภาครัฐได้ออกมาตรการในการแปรรูปกิจการของรัฐให้มีความเป็นเอกชนมากขึ้น การลดการใช้จ่ายผ่านการระงับการเพิ่มเงินเดือนภาครัฐและการยกเลิก/เลื่อนเวลาสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (5) อิตาลีได้มีมาตรการเพื่อสร้างความแข็งแรงทางการคลังและลดการขาดดุลงบประมาณ โดยเพิ่มฐานะการคลังสุทธิประมาณ 25 ล้านยูโร หรือร้อยละ 1.5 ของGDP ในปี 2554-2556 ซึ่งจะทำให้ขาดดุลการคลังลดลงจากร้อยละ 5 ของ GDP ในปี 2553 เป็นร้อยละ 2.7 ในปี 2555 ทั้งนี้ การลดรายจ่ายที่สำคัญมาจากการลดเงินโอนสู่รัฐบาลท้องถิ่นในทุกระดับ และยังรวมถึงการระงับการขึ้นเงินเดือนและการจ้างภาครัฐ การเริ่มมีผลการขยายอายุสำหรับการเกษียณเป็น 65 ปี ในปี 2555 (เดิม จะมีผลในปี 2559) การเพิ่มความเข้มงวดในสวัสดิการสำหรับผู้พิการมากขึ้น และการปิดสถาบันเพื่อการวิจัยหรือวัฒนธรรมบางแห่งลง สำหรับการเพิ่มรายรับของรัฐ อิตาลีวางแผนที่จะจัดการกับปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2553 กลุ่มประเทศใน Eurozone อีก 15 ประเทศ ได้ตกลงที่จะให้เงินกู้ระยะ 3 ปีแก่กรีซ ในจำนวน 80 พันล้านยูโร โดยประมาณ 30 พันล้านยูโรแรกคาดว่าจะให้กรีซกู้ในเดือนพฤษภาคมหรือรอบการจ่ายหนี้ครั้งล่าสุดของกรีซ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะให้เงินกู้ช่วยเหลือแก่กรีซอีก 30 พันล้านยูโร รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 110 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอที่กรีซจะสามารถทดแทนการขาดดุลการคลังและจ่ายคืนหนี้ที่หมดอายุสำหรับปี 2553 ได้ อย่างไรก็ตาม จากความผันผวนของตลาดและการลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลกรีซ สเปน และโปรตุเกส ทำให้มีแนวโน้มในการพิจารณาจำนวนเงินกู้ช่วยเหลือในขนาดที่มากขึ้นเพื่อสนับสนุนกรีซในระยะกลาง (2-3 ปี) ต่อไป นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งกลไกการสร้างเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป (European Financial Stabilization Mechanism) โดยมีวงเงินประมาณ 750 พันล้านยูโร ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการจัดสรรเงินกู้ให้แก่ประเทศที่ประสบปัญหา โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์การกู้ยืมของ IMF ทั้งนี้ กลไกการสร้างเสถียรภาพฯ ดังกล่าว จะได้รับเงินทุนสบทบจากประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปกว่า 440 พันล้านยูโร และได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก IMF อีกอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ประกาศแนวทางการดำเนินงานในอนาคตที่จะมุ่งเน้นให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามกรอบเสถียรภาพด้านการคลังอย่างเคร่งครัด 3. ประเมินสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศไทย จากวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปทำให้ต้องกลับมาพิจารณาถึงสถานะหนี้สาธารณะของไทย โดยจะพบว่า สถานะหนี้สาธารณะในปัจจุบันของไทยนั้น มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 42.2 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP ในขณะที่สถานะหนี้สาธารณะของกรีซมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 116.3 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากจนก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะและบั่นทอนเสถียรภาพของสกุลเงินยูโร ทั้งนี้ จากการประเมินสถานะหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันจะเห็นว่าอยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้และไม่อยู่ในระดับที่จะก่อให้เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับประเทศกรีซและบางประเทศในยุโรป โดยมีความแตกต่างของหนี้สาธารณะของประเทศไทยและของกลุ่มประเทศ PIIGS ดังนี้ 3.1 หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำในเชิงเปรียบเทียบและส่วนหนึ่งเป็นหนี้สาธารณะของรัฐวิสาหกิจเชิงพาณิชย์ที่มีผลประกอบการดีและมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ได้ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 ประเทศไทยมียอดหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 4.11 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.2 ของ GDP ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP ทั้งนี้ เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพียง 2.77 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67.5 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด ในขณะที่หนี้สาธารณะของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมีจำนวน 1.08 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ26.4 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด โดยหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์และมีผลประกอบการที่มีผลกำไรและสามารถชำระคืนหนี้ของตนเองได้ เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มียอดหนี้รวม 256.13 พันล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมียอดหนี้รวม 198.68 พันล้านบาทเป็นต้น ซึ่งรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งที่มีหนี้ในระดับสูงนี้มีผลการดำเนินธุรกิจที่ได้ผลกำไรที่ดีมาโดยตลอดและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จากผลประกอบการที่ได้กำไรของบริษัท 3.2 โครงสร้างหนี้สาธารณะเป็นหนี้สกุลเงินบาทและเป็นหนี้ระยะยาวเป็นหลัก โครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยเป็นหนี้สกุลเงินบาทมากกว่าหนี้สกุลเงินต่างประเทศ โดยหนี้สกุลเงินบาทคิดเป็นร้อยละ 91.3 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ระยะเวลามากกว่า 1 ปี)ซึ่งแสดงถึงความมั่นคงของสถานะหนี้สาธารณะ เนื่องจากหากหนี้สาธารณะของไทยเป็นหนี้สกุลเงินต่างประเทศและหนี้ระยะสั้นเป็นจำนวนมากจะมีโอกาสในการเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินสำคัญของโลกอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ โครงสร้างหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้ระยะยาวทำให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการชำระคืนมากขึ้น 3.3 ความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลไทยมีสูงจากการมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงมาก ประเทศไทยมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ จำนวน 147.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่25 มิถุนายน 2553 ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล ทั้งนี้ เงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ต่างประเทศของไทยทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนกว่า 5.0 เท่า นอกจากนี้ ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่เคยผิดนัดหรือต้องหยุดพักชำระหนี้ที่ครบกำหนดวันชำระคืนที่จะทำให้ประเทศสูญเสียความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือล่าสุดของ Fitch Ratings (19 เมษายน 2553) ที่ใช้ Sovereign Foreign Currency Ratings (Short term) ในการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศของไทย พบว่า ประเทศไทยมีระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (Short — term Foreign Currency IDR) อยู่ที่ระดับ F3 ซึ่งสะท้อนถึงสถานะด้านการเงินต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่งและสนับสนุนความเชื่อมั่นของไทยในรูปเงินตราต่างประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาการเมืองรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศและทำให้ไทยมีดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินต่ำลงจากการที่ไม่ต้องชดเชยความเสี่ยงในการชำระหนี้เมื่อต้องการกู้เงินจากต่างประเทศ 3.4 ความเสี่ยงของรัฐบาลที่ต้องรองรับภาระความเสียหายของสถาบันการเงินไทยอยู่ในระดับต่ำมากเนื่องจากสถาบันการเงินไทยมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินและระบบสถาบันการเงินในปี 2540 ได้สร้างความเสียหายต่อสถาบันการเงินจำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินและกลายเป็นภาระความเสียหายจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และต้องแบกรับภาระหนี้สินเหล่านั้นมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อกำกับตรวจสอบและรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินให้มีประสิทธิภาพโปร่งใสและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งการส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีธรรมาภิบาลและบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยการกำกับนโยบายด้านสถาบันการเงินที่สำคัญคือ การกำกับดูแลให้สถาบันการเงินจะต้องมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio—CAR) ที่สามารถรองรับความเสี่ยงอย่างเพียงพอ และการกำกับดูแลเงินกองทุนตาม Basel II เพื่อกำกับดูแลเงินกองทุนให้สามารถสะท้อนความเสี่ยงของสถาบันการเงินได้ดียิ่งขึ้นตามภาวะตลาดการเงินที่มีความซับซ้อนขึ้นและครอบคลุมประเภทความเสี่ยงที่สำคัญจากการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันสามารถบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น สะท้อนจากการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและมาตรฐานการดำรงเงินกองทุนตาม Basel II ณ เดือนมีนาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 16.0 และ 8.5 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ร้อยละ 8.5 และ 8.0 ตามลำดับ นอกจากนี้ สถาบันการเงินไทยยังมีการบริหารสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมาก โดยยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Non-Performing Loans) ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีจำนวน 201.48 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.5 ของยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิทั้งหมด ซึ่งปัจจัยสำคัญต่างๆ เหล่านี้ย่อมจะเป็นการแสดง ให้เห็นถึงสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคงและมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง และเป็นการจำกัดโอกาสที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือสถาบันการเงินในยามที่เกิดปัญหาในอนาคตจนอาจกลายเป็นภาระทางการคลังของประเทศเช่นเดียวกับเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจการเงินและระบบสถาบันการเงินในปี 2540 4. ประเมินทิศทางหนี้สาธารณะในอนาคตของประเทศไทย แม้ว่าในปัจจุบันสถานะหนี้สาธารณะของไทยจะมีความเสี่ยงต่ำที่จะทำให้เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป แต่รัฐบาลไทยยังจำเป็นที่จะต้องระวังแนวโน้มหนี้สาธารณะในอนาคต โดยมีประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง ดังนี้ 4.1 หนี้สาธารณะของไทยมีแนวโน้มที่อาจเพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลและแผนการลงทุนของรัฐบาลในอนาคต เนื่องจากเหตุการณ์วิกฤตการเงินโลกเมื่อปลายปี 2551 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการหดตัวลงของภาวะเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น ในปี 2552 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 505,404 ล้านบาท สำหรับในปีงบประมาณ 2553 และ 2554 รัฐบาลวางแผนการขาดดุลงบประมาณ 350,000 ล้านบาท และ 420,000 ล้านบาทตามลำดับ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 จำนวน 400,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการกู้เงินฉุกเฉินสำหรับการลงทุนภาครัฐตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 4.2 ค่าใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ในอนาคตรัฐบาลมีนโยบายที่จะเป็นรัฐสวัสดิการเพื่อเสริมสร้างระบบสวัสดิการสังคมให้ดีและ ให้เกิดความเท่าเทียมกันของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ โครงการเรียนฟรี 15 ปี เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น อีกทั้งการที่ประเทศไทยกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยข้อมูลในปี 2550 ประเทศไทยจะมีคนวัยทำงาน 6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอีก 20 ข้างหน้า คาดว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นคนวัยทำงาน 3 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งหมายความว่า อัตราส่วนการพึ่งพิง (Dependency Ratio) ของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อัตราส่วนภาระพึ่งพิงของประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.11 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 23.07 ในปี 2570 อันจะเป็นการบ่งชี้ว่าสังคมไทยจะมีสัดส่วนคนทำงานที่จะสามารถรับภาระเลี้ยงดูและทำงานเสียภาษีให้กับรัฐ เพื่อดูแลสวัสดิภาพของกลุ่มคนในวัยเกษียณน้อยลง นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องรับภาระในการจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยในปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณกว่า 129,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ภาระงบประมาณในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 256,000 ล้านบาท หรือเกือบ 2 เท่า ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อภาระทางการคลังของรัฐบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability) ในระยะต่อไป เช่น การรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ให้เกินร้อยละ 60 เป็นต้น สำหรับทิศทางหนี้สาธารณะในอนาคตของไทยนั้น กระทรวงการคลังได้ประมาณการหนี้สาธารณะของไทยภายใต้สมมุติฐานสำคัญของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP) ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 3.0 ต่อปี และรัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบสมดุลภายในปีงบประมาณ 2562 คาดว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยจะสูงสุดในปีงบประมาณ 2556 ที่ร้อยละ 51.7 และคาดว่าจะปรับตัวลดลงหลังจากนั้นจนอยู่ที่ระดับร้อยละ 43.5 ในปีงบประมาณ 2562 ดังนั้น กระทรวงการคลังคาดว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของ GDP ในระยะปานกลาง ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ 5. บทเรียนจากวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป ปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรปในปัจจุบันเริ่มต้นจากวิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศกรีซที่มีปัญหาการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาล ถือเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยได้เป็นอย่างดีถึงผลกระทบของความละเลยการรักษาวินัยทางการคลัง แม้ว่าในอดีต รัฐบาลไทยมีการใช้นโยบายบริหารการคลังที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาฐานะการคลังและวินัยการคลังมาโดยตลอด แต่ความจำเป็นในการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาและการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการต่างๆ ในอนาคต ทำให้รัฐบาลจะต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งต้องรองรับมือกับความเสี่ยงของโลกที่อาจผันผวนได้อีกในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้ 5.1 รัฐบาลควรบริหารจัดการนโยบายการคลังเพื่อรักษาระดับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ในส่วนของรายได้รัฐบาล รัฐบาลจำเป็นต้องมีการบริหารการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงขึ้นจากเดิมที่ระดับร้อยละ 16 ของ GDP เป็นร้อยละ 20-25 ของ GDP โดยการปรับปรุงโครงสร้างภาษีของไทยทั้งระบบและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เพื่อชดเชยกับการลดลงของรายได้ภาษีศุลกากรจากการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และยังต้องมีการบริหารทรัพย์สินของรัฐบาลและที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับรัฐบาล ในขณะที่ในเรื่องของการใช้จ่ายรัฐบาลจะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด และเพื่อการบริหารโครงการต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการบริหารจัดการหนี้สาธารณะโดยเฉพาะหนี้สาธารณะในอนาคตที่มีแนวโน้มสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงเกินกว่าร้อยละ 60 ซึ่งรัฐบาลจะต้องบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อไม่ให้มีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป 5.2 การดำเนินนโยบายเพื่อรองรับแนวโน้มค่าใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากภาระสวัสดิการสังคมและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย รัฐบาลควรส่งเสริมวินัยทางการเงินและสนับสนุนการออมเงินของภาคครัวเรือนอย่างเป็นระบบ โดยให้เร่งดำเนินการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้กำลังแรงงานที่ไม่มีระบบการคุ้มครองเพื่อการชราภาพประมาณกว่า 23.5 ล้านคน ได้มีกลไกการออมอย่างเป็นระบบ ซึ่งเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยในการออม สร้างความมั่นคงทางการเงินในวัยชราที่จะสามารถดูแลตนเองได้ ช่วยลดภาระของลูกหลาน และไม่พึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวในวัยเกษียณ 5.3 การสร้างกลไกการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินของไทยให้มีความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาระทางการคลังเช่นเดียวกับเหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงินในปี 2540 ในอนาคตควรมีการสร้างระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการเงินของไทยในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการเงิน และการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่อาจทำให้สถาบันการเงินมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ การเปิดเสรีบัญชีทุนจะทำให้สถาบันการเงินและนักลงทุนสามารถลงทุนที่สินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ของต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสทางธุรกิจและความเสี่ยงที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มิฉะนั้น อาจสร้างความเสียหายเหมือนเช่นในกรณีของสหรัฐอเมริกา 5.4 กรณีของการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการใช้เงินสกุลเดียวร่วมกันของภูมิภาคเอเชียในอนาคตจะต้องเน้นการประสานทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของทุกประเทศสมาชิก การรวมตัวทางการเงินและการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปมีข้อดีในการส่งเสริมการค้าการลงทุนภายในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันทำให้แต่ละประเทศสมาชิกขาดความเป็นอิสรภาพในการดำเนินนโยบายการเงินของตัวเอง สะท้อนจากวิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศ PIIGS ที่ประสบข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยไม่สามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขวิกฤตด้วยการปรับลดค่าเงินของตัวเอง (Devaluation) หรือการเพิ่มปริมาณเงิน (ซึ่งจะทำให้เกิด Inflation Tax) นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศยุโรปแม้ว่าจะดำเนินนโยบายการเงินเดียวกัน แต่นโยบายการคลังยังไม่สอดคล้องกัน เช่น เยอรมันมีวินัยทางการคลังมากกว่าประเทศอื่นๆ ในขณะที่ประเทศกลุ่ม PIIGS ขาดวินัยทางการคลัง ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตที่เยอรมันต้องใช้เงินของประเทศตนเองมาช่วยเหลือประเทศกลุ่ม PIIGS ดังนั้น ในกรณีของนโยบายด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจการเงินและนโยบายการใช้เงินสกุลเดียวร่วมกันของภูมิภาคเอเชียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตนั้น แต่ละประเทศสมาชิกควรให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่สอดคล้องกัน และรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤตเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับยุโรปในวันนี้ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ประสบการณ์การรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปถือเป็นบทเรียนที่ดีของการดำเนินนโยบายการคลังที่เหมาะสม การดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการจำเป็นต้องคำนึงถึงภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง เพื่อรักษาสมดุลทางการคลัง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้บทเรียนในเรื่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในอนาคตและความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการคลังที่เหมาะสมเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง โดยจะเห็นได้ว่าประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปเน้นการรวมตัวทางการเงินผ่านการใช้เงินสกุลเดียวกัน ในขณะที่นโยบายการคลังของแต่ละประเทศยังไม่มีความสอดคล้องกัน ทำให้มีบางประเทศที่ขาดวินัยทางการคลัง ดังนั้น ในอนาคตหากประเทศในภูมิภาคเอเชียมีการรวมตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกับของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความสอดคล้องกันของการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อมิให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปในวันนี้ ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th