รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 11:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 กันยายน 2553

Summary:

1. ธปท. มองภูมิภาคเอเชียต้านผลกระทบจากเงินทุนไหลเข้าได้ยาก

2. ดัชนีอุตฯ ส.ค. ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี ต่อเนื่อง 10 เดือนติดต่อกัน หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจโลก

3. เอดีบีปรับคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปีนี้ขยายตัว 8.2 ต่อปี

Highlight:
1. ธปท. มองภูมิภาคเอเชียต้านผลกระทบจากเงินทุนไหลเข้าได้ยาก
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า เงินทุนที่ไหลเข้ามาในเอเชียมีสาเหตุหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมากกว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ค่าเงินแข็งค่า นั้น ยากจะต้านทานได้เพราะตลาดเงินโลกมีขนาดใหญ่มาก และไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในเอเชียใช้มาตรการค่าเงินอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออก ขณะนี้ทุกประเทศในเอเชียอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งเป็นปัญหาทั้งภูมิภาค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2553 แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ประมาณร้อยละ 8.28 (จาก 33.33 บาทเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 53 เป็น 30.57 บาทเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 53) ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเกิดจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ดี โดยในช่วงครึ่งปีแรกของ53 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี รวมทั้งเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 53 เป็นบวกกว่า 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกที่ขยายในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 34.4 จากปีก่อน และดุลปัญชีทุน (Capital Account) 7 เดือนแรกของปี 53 เป็นบวกกว่า 11.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้น 3.2 พันล้านบาทและตลาดพันธบัตร 89 พันล้านบาท ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินคู่ค้าสำคัญ (NEER) แข็งขึ้นร้อยละ 6.35 จากต้นปี 53 โดยเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนสิงหาคม 2553 กว่าร้อยละ 4.65
2. ดัชนีอุตฯ ส.ค. ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี ต่อเนื่อง 10 เดือนติดต่อกัน หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจโลก
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนส.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 184.14 ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน หลังจากเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อกลางปีโดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 64.0 ของกำลังการผลิตรวมโดยเป็นการขยายตัวจาก การผลิตรถยนต์ การผลิตเครื่องปรับอากาศ การแปรรูปสัตว์น้ำ ขณะที่การผลิต Hard disk drive มีการชะลอลงเล็กน้อย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนส.ค.53 มาจากการผลิตรถยนต์ (สัดส่วนร้อยละ 5.4 ของ MPI) ขยายตัวร้อยละ 44.9 ต่อปี การผลิตเครื่องปรับอากาศ (สัดส่วนร้อยละ 3.7 ของ MPI) ขยายตัวร้อยละ 62.6 ต่อปีในขณะที่การผลิตเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องประดับ(สัดส่วนร้อยละ 7.2 และ 7.5 ของ MPI ตามลำดับ) มีการหดตัวลงที่ร้อยละ -4.7 และ -13.1 ต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่า MPI จะมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแต่เมื่อเทียบลักษณะเป็นเดือนต่อเดือนพบว่า มีการหดตัวลงที่ร้อยละ -3.1 ต่อเดือน (m-o-m SA) สะท้อนถึงการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่อาจมีสัญญาณแผ่วลงในช่วงครึ่งปีหลังปี 53
3. เอดีบีปรับคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปีนี้ขยายตัว 8.2 ต่อปี
  • สำนักข่าว Reuters รายงานว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของ GDP ของภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย ในปี 2553 เพิ่มเป็นร้อยละ 8.2 และ 7.0 ต่อปี ตามลำดับ เป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการณ์เงินโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มของการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชีย เป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 53 ภูมิภาคเอเชียยังคงมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งจากการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีจำนวนมาก ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง อย่างไรก็ดี สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในปี 53 จะยังสามารถขยายตัวได้ดี เช่น เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี และเศรษฐกิจสิงคโปร์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.0 ต่อปี เป็นต้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ