รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 1, 2010 11:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2553

Summary:

1. กรมส่งเสริมการส่งออก ดันเอสเอ็มอี หวังรักษายอดส่งออกให้โตตามเป้า 20%

2. ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในเดือน ส.ค. 53 เกินดุลเล็กน้อยที่ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. Moody’s ได้ปรับลดลำดับความน่าเชื่อของประเทศสเปนลง จากเดิมที่อยู่ที่ AAA มาเป็น Aa1

Highlight:
1. กรมส่งเสริมการส่งออก ดันเอสเอ็มอี หวังรักษายอดส่งออกให้โตตามเป้า 20%
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนา DEP Day นำ SME ไทยก้าวไกลสู่ตลาดโลก ว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินนโยบายเชิงรุก เพื่อผลักดันตัวเลขการส่งออกช่วงครึ่งปีหลังให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 20 ต่อปี โดยการส่งออกของไทยที่มีมูลค่าปีละกว่า 5 ล้านล้านบาท โดยเป็นการส่งออกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเอสเอ็มอีกว่าร้อยละ 90 โดยสินค้าที่ทำรายได้ให้กับภาคส่งออกเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ คือ ของใช้ในบ้าน ของขวัญ ของชำร่วย ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออก จะส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจส่งออก และสร้างนักธุรกิจรายใหม่ๆ ให้เติบโตและนำเงินหมุนเวียนเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้ามีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจไทย โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของ GDP ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 53 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยล่าสุดมูลค่าการส่งออกสินค้า (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) เดือน ส.ค. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ที่ร้อยละ 23.9 ต่อปี ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 32.6 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงที่เหลือของปีได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 53 การส่งออกสินค้า (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) จะขยายตัวที่ร้อยละ 25.0 ต่อปี
2. ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยในเดือน ส.ค. 53 เกินดุลเล็กน้อยที่ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยในเดือน ส.ค. 53 เกินดุลเล็กน้อยที่ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเกินดุลจากดุลการค้าที่ 851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลที่ประมาณ 571 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าที่ยังเกินดุลมาจากการขยายตัวมูลค่าของการส่งออกสินค้าที่ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 23.6 ต่อปีจากการขยายตัวของหมวดสินค้ายานยนต์ ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก อย่างไรก็ตาม ดุลบริการ เงินโอน และรายได้ที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล 209 ดอลลาร์สหรัฐมาจากรายจ่ายผลประโยชน์การลงทุน และรายจ่ายบริการอื่นๆ โดยเฉพาะค่าลิขสิทธิ์อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นแม้ว่ารายรับจากการท่องเที่ยวได้ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเงินทุนที่เกินดุลในปริมาณที่สูงต่อเนื่องที่ 2,972 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ส่งผลให้ดุลการชำระเงินรวมเป็นบวกที่ 3,589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดุลการชำระเงินที่เกินดุลปริมาณมากในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมามีสาเหตุสำคัญจากการไหลเข้าของเงินทุนในบัญชีเงินทุนผ่านช่องทางเงินลงทุนในตลาดพันธบัตรโดยในเดือน ส.ค. ไหลเข้ามาถึง 25 พันล้านบาทจากการที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง ประกอบกับนักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นช่วงปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 3.06 ต่อปี ทั้งนี้ เงินลงทุนต่างชาติยังคงไหลเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรของไทยต่อเนื่องในเดือน ก.ย. ที่ประมาณ 32 และ 20 พันล้านบาทตามลำดับประกอบกับภาคการส่งออกที่ยังไม่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงนั้นทำให้คาดว่าดุลบัญชีการชำระเงินในเดือน ก.ย. น่าจะยังเกินดุลอย่างต่อเนื่อง
3. Moody’s ได้ปรับลดลำดับความน่าเชื่อของประเทศสเปนลงมา 1 ลำดับ จากเดิมที่อยู่ที่ AAA มาเป็น Aa1
  • Moody’s ได้ปรับลดลำดับความน่าเชื่อของประเทศสเปนลงมา 1 ลำดับ จากเดิมที่อยู่ที่ AAA มาเป็น Aa1 จากการที่สเปนมีปัญหาหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลของประเทศที่จะต้องรักษาระดับของดุลการคลัง ในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะการชะลอตัว ทั้งนี้ Moody’s ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าทางการสเปนน่าจะลดภาระหนี้สาธารณะโดยการเพิ่มภาษีและลดงบประมาณรายจ่าย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดระดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวถือเป็นสัญญาณสำคัญที่ชี้ว่าปัญหาหนี้สาธาณะยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยุโรปต้องแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ สศค. มองว่าหากรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะรุนแรง (กลุ่มประเทศ PIIGS: โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ สเปน) ใช้มาตรการลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐลง เพื่อรักษาระดับดุลการคลัง ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป กล่าวคือ การปรับลดรายจ่ายภาครัฐ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการชะลอลง ผนวกกับการที่เศรษฐกิจยุโรปยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก อาจส่งผลให้ระยะเวลาในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปช้าลงและต่ำกว่าคาดการณ์ได้ โดย สศค. คาดว่าในปี 2553 เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ