รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 4, 2010 11:36 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2553

Summary:

1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อก.ย.เพิ่ม 3% คาดตลอดทั้งปีไม่เกิน 3.0 — 3.5 %

2. หอการค้าไทยคาดปัญหาค่าเงินบาทกระทบการส่งออก

3. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่

Highlight:
1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อก.ย.เพิ่ม 3% คาดตลอดทั้งปีไม่เกิน 3.0 — 3.5 %
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย. 53 เท่ากับ 108.49 คิดเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.0 ซึ่งต่ำกว่าเดือน ส.ค. 53 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.3 และถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าช่วงปลายปีเงินเฟ้อจะลดลง และปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น สำหรับภาวะเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ซึ่งอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-3.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. 53 ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปีนั้นลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากฐานการคำนวณในช่วงเดียวกันปีก่อนที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.ย. 53 มีราคาสินค้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.7 ต่อปี จากภาวะน้ำท่วม รวมถึงข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง จากผลผลิตข้าวสารเหนียวที่ลดลง ขณะที่ราคาไฟฟ้าและน้ำประปาขยายตัวในระดับเดิม เนื่องจากหมดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.2 - 3.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 53)
2. หอการค้าไทยคาดปัญหาค่าเงินบาทกระทบการส่งออก
  • รองเลขาธิการหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ปัญหาค่าเงินบาทจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 53 โดยขณะนี้ค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 30 บาทเศษแล้ว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้การแข่งขันของผู้ส่งออกไทยยากลำบากขึ้น ซึ่งทำให้การกำหนดราคาสินค้ายากขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและฐานการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายปี 2552 ที่อยู่ในระดับสูง จะทำให้การส่งออกไตรมาสสุดท้ายปีนี้ไม่สูงมากและอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 20
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 53 คาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากเฉลี่ยปี 52 ที่ 34.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 31.7 ดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 31.2 — 32.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2553 คาดว่าจะยังคงเกินดุลต่อเนื่อง จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะยังคงขยายตัวได้ดี จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กลับสู่ภาวะปกติ และ 2) แนวโน้มเงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทยที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรปยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะและสหรัฐฯ ยังคงมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง ทั้งนี้ ค่าเงินเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ม.ค. - ก.ย. 53) อยู่ที่ 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
3. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่
  • ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าในปีนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียจะขยายตัวร้อยละ 38 ฟิลิปปินส์จะขยายตัวร้อยละ 34 และประเทศไทยจะขยายตัวร้อยละ 33 ในขณะที่จีนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11 ทั้งนี้นักลงทุนบางส่วนยังคงเลือกลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพด้านต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงหากเกิดวิกฤติขึ้นอีก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยในกลุ่ม G3 ได้แก่ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญีปุ่น จะยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง แต่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย. 53 สศค. ได้ปรับเพิ่มสมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ 14 ประเทศจากร้อยละ 4.1 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.3 ต่อปี ซึ่งส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 53 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก .ย. 53) จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 53)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ