Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2553
Summary:
1. ธปท. ยอมรับห่วงบาทแข็งเข้าสู่จุดวิกฤต
2. สนพ. คาดปี 54 ความต้องการใช้แอลพีจี เพิ่มขึ้นร้อยละ 8-9 ต่อปี
3. เบอร์นันเก้ส่งสัญญาณเฟดเตรียมผ่อนคลายการเงิน
Highlight:
1. ธปท. ยอมรับห่วงบาทแข็งเข้าสู่จุดวิกฤต
- ธนาคารแห่งประเทศไทยไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการศึกษามาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า และติดตามปัญหาการแข็งค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ซึ่งธปท.มีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท เพราะปัจจุบันค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาแล้วถึงกว่าร้อยละ 10 แม้ยังเป็นรองค่าเงินริงกิตมาเลเซียที่แข็งค่าร้อยละ 11 และค่าเงินเยนญี่ปุ่นที่แข็งค่าขึ้นมาร้อยละ 10 กว่าๆ ขณะที่ค่าความผันผวนของเงินบาทอยู่ที่ร้อยละ 3-4 ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค
- สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2553 แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ประมาณร้อยละ 9.42 (จาก 33.33 บาท เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 53 เป็น 30.19 บาทเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 53) ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเกิดจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ดี โดยในช่วงครึ่งปีแรกของ53 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี รวมทั้งเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 53 เป็นบวกกว่า 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกที่ขยายในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 32.6 จากปีก่อน และดุลบัญชีทุน (Capital Account) 8 เดือนแรกของปี 53 เป็นบวกกว่า 11.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้น 42.0 พันล้านบาท และตลาดพันธบัตร 110.0 พันล้านบาท นอกจากนี้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินคู่ค้าสำคัญ (NEER) แข็งขึ้นร้อยละ 6.63 จากต้นปี 53
2. สนพ. คาดปี 54 ความต้องการใช้แอลพีจี เพิ่มขึ้นร้อยละ 8-9 ต่อปี
- ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ได้ประเมินปริมาณการผลิต และการใช้แอลพีจี ในไตรมาส 4 ของปี 53 และในปี 54 พบว่า ปริมาณการใช้น่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8-9 และต้องนำเข้าแอลพีจีอีกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 40,000-50,000 ตัน แม้จะเริ่มมีการผลิตก๊าซจากโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ของ ปตท. แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิต เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมโรงงาน
- สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมัน ที่ปรับเพิ่มขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้ราคาแอลพีจีตลาดโลกขยับขึ้น โดยอยู่ที่ตันละ 690 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กองทุนน้ำมัน ต้องจ่ายส่วนต่างการนำเข้าให้ปตท. เพิ่มขึ้น แต่โดยภาพรวมยังไม่ต้องปรับเปลี่ยนการเรียกเก็บเงินกองทุนฯ ซึ่งยังมีเงินไหลเข้าเฉลี่ย 700 -800 ล้านบาทต่อเดือน
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลกรมส่งเสริมพลังงานพบว่ากองทุนน้ำมันต้องใช้เงินอุดหนุน แอลพีจี (LPG) จำนวน 0.99 บาทต่อกิโล ในขณะที่ปริมาณการใช้แอลพีจีรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนตันต่อเดือน โดยส่วนหนึ่งเป็นใช้เพื่อการคมนาคม 5.5 หมื่นตันต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 27.5 ต่อปริมาณการใช้แอลพีจีรวม ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันจะต้องใช้เงินอุดหนุนสำหรับการคมนาคมจำนวน 54 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการจ่ายเงินอุดหนุนซึ่งยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงควรหาทางเลือกใหม่ เช่น พลังงานทดแทน (Alternative Energy) หรือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นต้น
3. เบอร์นันเก้ส่งสัญญาณเฟดเตรียมผ่อนคลายการเงิน
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เปิดเผยเศรษฐกิจสหรัฐจะได้ประโยชน์หากเฟดตัดสินใจเข้าซื้อพันธบัตร และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) อีกครั้ง ซึ่งการแสดงความคิดเห็นครั้งล่าสุดของเบอร์นันเก้ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า คณะกรรมการเฟดจะประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) (QE) ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ย.นี้ การเข้าซื้อพันธบัตรและตราสาร MBS มีเป้าหมายที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในภาคเอกชน หลังจากที่เฟดได้เข้าซื้อตราสารหนี้และพันธบัตรไปแล้วทั้งสิ้น 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเบอร์นันเก้ระบุว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการผ่อนคลาย (QE) ดังกล่าวนับเป็นมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง หลังจากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีสัญญาณการชะลอตัวลงในหลายเครื่องชี้ เช่น ดัชนีคำสั่งซื้อผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม (ISM Purchasing Manufacturing Index) เดือน ก.ย.53 อยู่ที่ระดับ 54.4 จุด นับเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย.53 อยู่ที่ระดับ 48.5 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สศค.คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปีจะขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก โดยทั้งปี 53 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th