-เศรษฐกิจไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 5.3 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสที่สอง จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากในขณะที่การนำเข้าชะลอลง การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.4 หลังจากหดตัวอย่างต่อเนื่องมา 6 ไตรมาส โดยมีผลผลิตของพืชที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเหลือง ผักผลไม้ และปาล์มน้ำมัน
-โดยรวมใน 3 ไตรมาสแรกปี 2548 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.4 สูงกว่าการคาดการณ์ของแหล่งต่างๆ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.6 เ นื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นมาก ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อยในไตรมาสที่สาม ภายหลังจากที่ขาดดุลอย่างต่อเนื่องในสองไตรมาสแรก
-เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้สูงในหมวดอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์และชิ้นส่วน การท่องเที่ยวฟื้นตัวมากขึ้น นอกจากนั้นผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ต่อเนื่องและการปรับเพิ่มเงินเดือนราชการที่มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคมจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายครัวเรือน
-ตลอดทั้งปี 2548 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.7 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเท่ากับร้อยละ 4.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP และอัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับร้อยละ 1.9
-ในปี 2549 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.7-5.7 จากแรงกระตุ้นของการลงทุน การฟื้นตัวอย่างเต็มที่มากขึ้นของการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายครัวเรือนซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานและเงินเดือน ทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐที่สูงขึ้นในขณะที่แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเท่ากับร้อยละ 3.5-4.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณร้อยละ 2.2-2.7 ของ GDP
ภาพรวม
ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสสามและแนวโน้มปี 2548-2549
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 5.3 สูงกว่า การขยายตัวร้อยละ 3.9 ในครึ่งแรกอย่างชัดเจน ประเด็นหลัก
-เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 5.3 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในครึ่งแรกของปี และเมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามขยายตัวจากไตรมาสที่สองด้วยอัตราร้อยละ 9.0 ต่อปี (Annualized rate of growth) เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งต่อผลผลิตทางการเกษตรบรรเทาความรุนแรงลง ภาวะการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มขยายตัว และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดีเพื่อสนับสนุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากในไตรมาสที่สามและตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นสำหรับการส่งมอบสินค้าในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกแสดงว่าคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และยางพารา เป็นต้น
-ในไตรมาสที่สามเศรษฐกิจด้านการผลิตขยายตัวช้ากว่าการขยายตัวด้านอุปสงค์หรือด้านการใช้จ่าย เนื่องจากมีการนำสะต็อกที่สะสมไว้ออกจำหน่าย โดยที่ไตรมาสนี้ สต๊อกสินค้าทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป มูลค่าลดลง 53,432 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสินค้าที่สะสมสะต๊อกไว้ในช่วงไตรมาสก่อนหน้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์โทรคมนาคม น้ำตาลทราย และกุ้งแช่แข็ง เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีสินค้าบางชนิดที่สะสมสต็อกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์โดยรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ มีปริมาณจำหน่ายลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งในปีนี้มีภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่นเดียวกับสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบได้แก่ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ที่ยังคงสะสมสะต๊อกเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นการสะสมสะต็อกที่ต่ำกว่าในครึ่งแรกของปี
-การส่งออกปรับตัวดีขึ้นมากในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวต่อเนื่องทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามมาจากการขับเคลื่อนของการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิเป็นสำคัญ ในไตรมาสที่สามมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 22.7 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 13.2 ในครึ่งแรกของปี ทั้งปี H1 H2 Q1 Q2 Q3 ต.ค. 10 ทั้งนี้โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 สินค้าส่งออกรายการสำคัญที่เพิ่มขึ้นมากได้แก่สินค้า อิเล็กทรอนิกส์รถยนต์แลส่วนประกอบ ไก่ กุ้ง ผลิตภัณฑ์ยาง และการส่งออกยางพารามีราคาดีขึ้น ตามลำดับ และรวมสามไตรมาสการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 80,778 ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยที่การส่งออกไปยังตลาดหลักทุกตลาดเพิ่มขึ้น 1
-และมูลค่าการนำเข้าเริ่มชะลอตัวในไตรมาสที่สามจึงทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเล็กน้อย ในไตรมาสที่สามดุลการค้าเกินดุล 204 ล้านดอลลาร์ สรอ.และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,153 ล้านดอลลาร์ สรอ.เทียบกับที่ขาดดุลการค้า 8,464 ล้านดอลลาร์ สรอ. และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 6,209 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในครึ่งแรกของปี ในไตรมาสที่สามมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 ซึ่งนับว่าชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 31.8 ในครึ่งแรกของปี โดยที่มูลค่าการนำเข้าชะลอลงทุกหมวด
-การนำเข้าหมวดสินค้าวัตถุดิบที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 ในครึ่งแรกของปี โดยที่กลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่การนำเข้าชะลอลงมาก ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และสินค้าวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูปอื่น ๆ ซึ่งจะเห็นว่าในไตรมาสที่สามการสะสมสะต็อกของเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเริ่มชะลอตัว และดัชนีการผลิตลดลงร้อยละ 14.6
-การนำเข้าหมวดสินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้าชะลอลงเล็กน้อย โดยขยายตัวร้อยละ 22.0 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 26.8 ในครึ่งแรกของปี ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ชะลอลงทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ โดยในไตรมาสที่สามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์รวมทั้งของภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 และ 16.7 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ตามลำดับ
-มูลค่าการนำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงในไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 61.6 และร้อยละ 91.8 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นผลจากการที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวชลอลงเป็นสำคัญแม้ว่าราคา น้ำมันดิบและเชื้อเพลิงนำเข้าจะเพิ่มขึ้นมาก ในไตรมาสที่สามราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.6 และ 44.5 ในสองไตรมาสแรกในไตรมาสที่สมปริมาณการนำเข้า น้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.7 หลังจากที่ลดลงร้อยละ 1.1 ในครึ่งแรกของปี(*) ปริมาณการนำเข้าที่แสดงแนวโน้มชะลอตัวชี้ว่าการใช้น้ำมันในประเทศเริ่มปรับตัวตอบสนองต่อราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและการปล่อยราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว จะเห็นว่าในไตรมาสที่สามปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 5.6 และโดยภาพรวมของการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จะเห็นว่ามีการปรับตัวในทิศทางที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยที่ในสามไตรมาสแรกของปี 2548 ปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เทียบกับร้อยละ 1.6, 0.8 และ 0.6 ใน 3 ปีก่อนหน้า
********************************************************************************************************
หมายเหตุ (*)ตามสถิติกรมศุลกากรปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.1 ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 ในครึ่งแรก
*********************************************************************************************************
(ยังมีต่อ).../อุปสงค์ภายใน..