(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ปี 2549 และแนวโน้มปี 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 12, 2007 16:17 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          * เงินฝากชะลอตัวและสินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่องเงินฝากรวม ณ สิ้นปี 2549 เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 5.7 แต่ชะลอตัวลงจากร้อยละ 11.6 ในช่วงครึ่งแรกของปี และร้อยละ 8.3 ในไตรมาสที่สาม ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 โดยที่ในส่วนของเงินฝากประจำนั้นยังคงขยายตัวสูงแต่เงินฝากออมทรัพย์ลดลงต่อเนื่อง สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน ณ สิ้นปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ซึ่งชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ในปี 2548 และร้อยละ 4.4 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยมีทิศทางชะลอตัวในเกือบทุกสาขา
* สภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง สัดส่วนสินเชื่อ (รวมเงินลงทุนในหลักทรัพย์เอกชน) ต่อเงินฝาก ณ สิ้นปี 2549 อยู่ที่ร้อยละ 93.2 สูงขึ้นจากไตรมาสที่สามเล็กน้อย แต่โดยรวมยังต่ำกว่าในปี 2548 สภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ที่คำนวณเป็นสัดส่วนของสภาพคล่องที่พร้อมนำไปใช้จึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า ณ สิ้นปีประมาณ 730 พันล้านบาท
* ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2549 และปรับแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 9 ปี ที่ 35.15 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ก่อนจะอ่อนค่าลงร้อยละ 2 ในช่วงปลายเดือนหลังจากมีมาตรการสำรองเงินทุนนำเข้าร้อยละ 30 แต่อย่างไรก็ตามค่าเฉลี่ยเงินบาทในเดือนธันวาคมยังคงแข็งขึ้นเป็น 35.78 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และมีค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่สี่ที่ 36.53 บาทต่อ ดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสที่สาม
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในปี 2549 อยู่ที่ 37.89 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 5.8 และเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปี 2550 ในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยมีค่าเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์เท่ากับ 35.69 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แต่การแข็งค่าของเงินบาทในอัตราที่เร็วกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ และเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate ; REER) มีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดปีเช่นกัน โดยมีค่าเฉลี่ยใน ไตรมาสที่สี่แข็งขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 8.4 และ 9.9 ตามลำดับ
* การระดมทุนของภาคเอกชน การลงทุนที่ชะลอตัวลงและยังรอดูความชัดเจนของมาตรการต่าง ๆ ทำให้ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินชะลอการระดมทุน โดยมีการออกหุ้นทุนและหุ้นกู้ในไตรมาสที่สี่มูลค่า 89.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2548 และมีการระดมทุนทั้งปีรวม 262 พันล้านบาท ลดลงจากปี 2548 ร้อยละ 5.6 ประกอบกับผลประกอบการที่ชะลอลงและการกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ชะลอลงก็สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงมากในภาคเศรษฐกิจจริง
* ตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ภาวะตลาดหลักทรัพย์ในปี 2549 มีความผันผวนโดยปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกก่อนที่จะชะลอตัวลงในช่วงกลางปีเนื่องจากการถอนเงินลงทุนจากตลาดในภูมิภาคและความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ย ตลาดปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายก่อนที่จะปรับลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายภายหลังการดำเนินมาตรการดำรงเงินสำรองเงินทุนนำเข้า ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นเป็นจำนวนมาก ดัชนีราคาปิดตลาด ณ สิ้นปีที่ 679.8 จุดลดลงจากปี 2548 ร้อยละ4.7 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมเท่ากับ5.08 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.5
ด้านการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่าเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตลอดทั้งปี เป็น 37.9 พันล้านบาทในไตรมาสที่สี่ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 153 Yield ระยะสั้นปรับตัวในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่Yield ระยะยาวค่อนข้างทรงตัวและลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี และดัชนีผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับร้อยละ 5.45
(2.8) ฐานะการคลังมีการขาดดุลเงินสด 62,899 ล้านบาท จากการขาดดุลนอกงบประมาณเป็นสำคัญ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ2550 (ต.ค. - ธ.ค. 2549) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังจำนวน 286,915 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในปีงบประมาณ 2549 จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีน้ำมันสุรา ยาสูบ เบียร์ หลังจากที่หดตัวในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้าเนื่องจากการใช้น้ำมันลดลง การปรับเพิ่มอัตราภาษียาสูบ และการเร่งผลิตสุราและเบียร์ ประกอบกับรายได้นำส่งรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้นมาก แม้ว่ากรมสรรพากรจะนำส่งรายได้ในอัตราที่ชะลอตัวลง (จากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสำคัญ) และกรมศุลกากรนำส่งรายได้ลดลง รายจ่ายรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 300,179 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 17.0 จากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 และงบประมาณปีก่อนในอัตราที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2549 ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2550 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนได้เต็มที่ รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารายรับส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 13,264 ล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 49,635 ล้านบาท จากการถอนเงินฝากนอกงบประมาณเพื่อโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจ่ายเงินให้กองทุนรวมช่วยเหลือเกษตรกรทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 62,899 ล้านบาท ซึ่งขาดดุลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการขาดดุล 20,967 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2549
1.2 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สี่และทั้งปี 2549
เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สี่ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับไตรมาสที่สาม โดยเศรษฐกิจในกลุ่ม G3 (สหรัฐอเมริกา กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น)ขยายตัวดีขึ้น แต่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียชะลอตัว โดยรวมทั้งปี 2549 เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 2548 โดยประเทศส่วนใหญ่ขยายตัวดีขึ้น
* เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.1 ใกล้เคียงกับร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวได้ดีขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวทั้งการลงทุนในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและส่วนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในหมวดซอฟท์แวร์และอุปกรณ์ อย่างไรก็ตามตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นราคา อสังหาริมทรัพย์ลดลงแต่ไม่รุนแรงมาก
* เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรป ขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมัน อิตาลี และฝรั่งเศสขยายตัวได้ดี โดยที่การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวได้ดีขึ้น อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการบริโภคปรับตัวดีขึ้น
(ยังมีต่อ).../*เศรษฐกิจญี่ปุ่น..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ