(ต่อ4)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ปี 2549 และแนวโน้มปี 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 13, 2007 15:35 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          * เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.1 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการบริโภคและการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิชะลอตัว
* เศรษฐกิจจีน ยังคงขยายตัวได้สูงที่ร้อยละ 10.4 ชะลอตัวเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 10.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรชะลอตัวตั้งแต่ครึ่งหลังของปีจากผลกระทบของมาตรการเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เช่น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และการปรับ เพิ่มสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวที่ สำคัญ
* สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวเนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกของประเทศสิงคโปร์ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ชะลอตัว แต่การส่งออกของประเทศฮ่องกงและอินโดนีเซียเร่งตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามอุปสงค์ในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น การลงทุนรวมของประเทศอินโดนีเซียปรับตัวดีขึ้นมากในไตรมาสที่สี่ จากผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องสำหรับมาเลเซียการเร่งเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐในประเทศช่วยกระตุ้นการลงทุน การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในประเทศไต้หวัน และการบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ดีในฟิลิปปินส์เนื่องจากเงินส่งกลับจากแรงงานต่างประเทศที่ขยายตัวได้ดี
โดยรวมทั้งปี 2549 เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.9 และเป็นไปในลักษณะฐานกว้างกล่าวคือเศรษฐกิจสหรัฐ กลุ่มยูโร ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าในปี 2548 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิและการลงทุนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมญี่ปุ่นซึ่งได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวมากตามความต้องการในตลาดโลก และการลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดีในประเทศจีน ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ กลุ่มยูโร และกลุ่มประเทศอาเซียน แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มลดลงในไตรมาสที่สี่จากการที่ราคาน้ำมันลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของประเทศส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ และมาเลเซีย คงดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 5.25 และ 3.5 ตามลำดับ ในขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เหลือร้อยละ 9.75 ในเดือนธันวาคม ร้อยละ 9.5 ในเดือนมกราคม 2550 และร้อยละ 9.25 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพื่อกระตุ้นการลงทุน
สำหรับกลุ่มประเทศที่ยังกังวลเรื่องแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อและได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ประกอบด้วย ธนาคารกลางสหภาพยุโรป และอังกฤษ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่สี่ เป็นร้อยละ 3.5 และ 5.0 ตามลำดับ และธนาคารญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.25 ในเดือน สิงหาคม 2549 เป็นร้อยละ 0.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 เช่นเดียวกับธนาคารกลางจีนที่ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยปรับเพิ่มอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง เป็นร้อยละ 9.0 ในเดือนพฤศจิกายน และร้อยละ 10 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพื่อลดสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ และชะลอการขยายตัวของปริมาณเงินและสินเชื่อ
ปัญหาความไม่สมดุลเศรษฐกิจโลกยังคงมีมากขึ้น จากการที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และประเทศในภูมิภาคเอเชีย เกินดุลการค้ามากขึ้น ในขณะที่สหรัฐฯ ยังขาดดุลมากขึ้น โดยทั้งปี 2549 จีน ญี่ปุ่น และประเทศในภูมิภาคเอเชีย (สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) เกินดุลการค้า 177.5 69.3 และ 117.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ ในขณะที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 836.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
(ยังมีต่อ).../2.ประมาณการ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ