(ต่อ1)วาระแห่งชาติและวาระสำคัญของรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 26, 2007 13:46 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          นอกจากนี้  รัฐบาลสนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรงและการขจัดการเอารัดเอาเปรียบในสังคม โดยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรงในสังคม (ศปลร.) และสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายภาคประชาชนในการดำเนินงานศูนย์สันติยุติธรรมชุมชนระดับจังหวัด ๖๐ ศูนย์ใน ๔๖ จังหวัด เพื่อให้เป็นเสมือนคลินิกทางสังคมช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมในสังคม
๒. วาระสำคัญของรัฐบาล
๒.๑ ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนำแนวทางพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาเป็นหลักสำคัญในการดำเนินงานดังกล่าวจึงได้ริเริ่มดำเนินการปรับปรุงนโยบายให้มีความชัดเจนทั้งเป้าหมายและยุทธศาสตร์และปรับระบบกลไกในการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีเอกภาพในการดำเนินงานรวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ในด้านต่าง ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๐๗๕,๕๓๒,๓๒๗ บาทแยกเป็น กรณีเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส และทุพพลภาพ ผู้ประกอบการ ครอบครัวและบุตรผู้ได้รับผลกระทบจำนวน ๙,๖๑๐ ราย เป็นเงิน ๕๒๘,๑๘๐,๒๔๗ บาทและกรณีพิเศษ โดยจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการเป็นเงิน ๕๔๗,๓๒๕,๐๘๐ บาท และมีผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา สรุปได้ ดังนี้
๒.๑.๑ แนวทางการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ รัฐบาลได้เร่งสร้างความสมานฉันท์ของประชาชนในทุกภาคส่วน ดังจะเห็นได้จากแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ ดังนี้
๒.๑.๑.๑ การสร้างความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนความคิด และอำนวยความเป็นธรรม โดยได้จัดการประชุมเสวนากับนักวิชาการ และผู้รู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักศาสนาและการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการจัดให้มีโต๊ะข่าวสันติภาพ ทำหน้าที่วิเคราะห์ วางแผนและดำเนินการประชาสัมพันธ์และปฏิบัติการจิตวิทยาตอบโต้กับฝ่ายตรงข้ามและผู้ไม่หวังดี รวมทั้งการจัดทำข้อมูลชี้แจงทำความเข้าใจต่อโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) และเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ให้เข้าใจแนวทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนตามแนวทางสมานฉันท์และสันติวิธีของรัฐบาลไทยรวมทั้งได้มีการปรับปรุงระบบงานอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่ด้วยการปรับทัศนคติ สร้างจิตสำนึกให้แก่พนักงานสอบสวนในการดำเนินการออกหมายจับ ซึ่งต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันมิให้มีการร้องเรียนในภายหลัง รวมทั้งได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างสมาชิกเครือข่ายยุติธรรมชุมชน เพื่อพัฒนาระบบงานยุติธรรมให้มีความรวดเร็วและประชาชนมีความมั่นใจ
๒.๑.๑.๒ การประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดของเทศบาลสอนวิชาอิสลามศึกษา เพื่อให้นักเรียนไทย - มุสลิม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีโอกาสรับบริการทางการศึกษาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น ตลอดทั้งได้รับความสะดวกในเรื่องอาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอน และสวัสดิการต่าง ๆ และที่สำคัญให้
นักเรียนได้รับการถ่ายทอดความรู้ทั้งวิชาสามัญและวิชาอิสลามศึกษา ให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยมีการดำเนินการเกี่ยวกับ (๑) การเพิ่มชั่วโมงเรียนอิสลามศึกษาและพุทธศาสนาในหลักสูตรขั้นพื้นฐานจาก ๒ ชั่วโมง เป็น ๓ ชั่วโมง/สัปดาห์ รวม ๓๒ โรงเรียน (๒) จัดการเรียนการสอนหลักสูตรตาดีกา ๑๒ โรงเรียน และการจัดหลักสูตรผสมระหว่างการศึกษาพื้นฐานสหสามัญกับอิสลามศึกษา รวม ๑๒ โรงเรียน
๒.๑.๑.๓ การปรับปรุงนโยบายและกลไกบริหารจัดการนายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๖/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินงานการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปในลักษณะบูรณาการ มีเอกภาพ และปฏิบัติงานในเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ สามารถระงับและคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ สร้างความสมานฉันท์และไว้วางใจ ในระดับที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมพร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๕/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๙ จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบ โดยมี กอ.รมน. ภาค ๔ เป็นหน่วยกำกับการดำเนินงานในพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๐๗/๒๕๔๙ ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้น เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนา ควบคู่กับการจัดตั้งกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจ ทหาร (พตท.) เพื่อเป็นองค์กรหลักดำเนินงานด้านความมั่นคง ซึ่ง กอ.รมน. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในลักษณะบูรณาการขึ้น
๒.๑.๑.๔ ด้านการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพรัฐบาลได้สนับสนุนงบกลางในรายการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๐ รวมทั้งสิ้น ๕,๙๐๐ ล้านบาท โดยมอบให้ กอ.รมน. เป็นหน่วยรับผิดชอบบริหารจัดการ ซึ่งในวงเงินดังกล่าวได้รับการจัดสรรสนับสนุนโครงการสร้างงานและจ้างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจ้างงานสร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนและเยาวชนว่างงานในพื้นที่ประมาณ ๒๗,๐๐๐ คน มีงบประมาณดำเนินการประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ยังได้จัดสรรสนับสนุนการจัดทำโครงการพัฒนาภายใต้แผนการดำเนินงานของ ศอ.บต. รวม ๖๖๓ ล้านบาท
๒.๑.๑.๕ การดำเนินภารกิจด้านความมั่นคง นอกเหนือจากการจัดตั้ง กอ.รมน. ให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งระบบแล้วได้มีความก้าวหน้าในงานที่สำคัญ ประกอบด้วย การเพิ่มเติมกำลังเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นการพัฒนาระบบสื่อสาร การจัดระบบช่องทางการประชาสัมพันธ์สื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนการข่าว การจัดระเบียบหมู่บ้านและมวลชน การสร้างความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนความคิดและอำนวยความเป็นธรรมและการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
(ยังมีต่อ).../๑) การเพิ่มกำลัง..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ