(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 6, 2007 14:26 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                    2.1.2 รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจโดยที่โอกาสด้านการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มที่ดีในหลายตลาด ได้แก่ ตลาดจีน อินเดีย ตลาดอาเซียและญี่ปุ่น ซึ่งยังมีการขยายตัวสูงใน 4 เดือนแรกและชะลอลงจากในปี 2549 เพียงเล็กน้อย และเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้สูงในปี 2550 นี้ ทำให้คาดว่าตลาดเหล่านี้จะยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการส่งออกของไทยและช่วยชดเชยผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวได้บางส่วน โดยเฉพาะการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้าไปยังตลาดจีนอินเดีย และญี่ปุ่น นั้นมีสัญญาณการชะลอตัวเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมการส่งออกในช่วงหลังของปีจะมีข้อจำกัดมากขึ้นกว่าในช่วงต้นปีทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่มีแนวโน้มชะลอตัว ความเข้มงวดและข้อกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นภายใต้แรงกดดันให้กลุ่มประเทศเอเชียลดการแทรกแซงค่าเงิน และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น
ในด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณร้อยละ 8.0 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 13.78 ล้านคนในปี 2549 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการโรงแรมและภัตตาคารในประเทศโดยปัจจัยสนับสนุนประกอบด้วยการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และผลของความตกลงในเรื่องการ
อำนวยความสะดวกและการยกเว้นวีซ่าสำหรับหลายประเทศในกรณีที่เป็นการเดินทางเข้าประเทศไทยไม่เกิน 30 วัน
2.1.3 การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้มากขึ้นในครึ่งหลังของปีภายใต้มาตรการเร่งรัดการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2550 รัฐบาลได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายและวงเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าในปี 2549 โดยที่วงเงินงบประมาณรัฐบาลเท่ากับ 1,566,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 จากปี 2549 โดยเป็นงบลงทุนจำนวน 374,721 ล้านบาท และกรอบวงเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว 369,302 ล้านบาท สูงกว่ากรอบวงเงินลงทุน 303,430 ล้านบาท ในปี 2549 โดยที่ ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2550รัฐบาลได้เบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วร้อยละ 51.74 และสำหรับงบลงทุนรัฐวิสาหกิจนั้นมีการเบิกจ่ายแล้วร้อยละ 67.70 ซึ่งถ้าหากอัตราการเบิกจ่ายโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของงบประมาณรวมก็จะช่วยชดเชยการชะลอตัวของการลงทุนและการใช้จ่ายภาคเอกชนได้มาก และทำให้เศรษฐกิจทรงตัวได้ในครึ่งหลังของปี
2.1.4 การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะสนับสนุนรายได้ของประชาชน ในไตรมาสแรกมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับร้อยละ 1.6 แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าข้อมูลตลาดแรงงานชี้ว่าเริ่มมีความเสี่ยงต่อการว่างงานมากขึ้น ได้แก่ (i)อัตราการจ้างงานเริ่มชะลอตัวในสาขาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกและค้าส่ง และการเงินการ
ธนาคาร (ii) การจ้างงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นจากประมาณ 520,000 คนในไตรมาสแรกปีที่แล้วเป็น 630,000 คนในไตรมาสแรกของปี 2550 นี้ (iii) สัดส่วนของตำแหน่งงานว่างต่อจำนวนผู้สมัครงานใหม่ที่ลดลง และประกอบกับสัดส่วนของผู้สมัครงานใหม่ต่อจำนวนการบรรจุงานที่ค่อนข้างทรงตัว แสดงว่าการจ้างงานมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อไปหากภาคการผลิตและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และในขณะเดียวกันก็ชี้ว่าความต้องการแรงงานและประเภทของแรงงานที่มีอยู่ในตลาดมีความไม่สอดคล้องกัน และ (iv) แม้อัตราการว่างงานจะต่ำลงในไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ตลาดแรงงานยังไม่สามารถรองรับแรงงานใหม่ได้ทั้งหมดเพราะกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในปีที่แล้ว จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06 ในไตรมาสแรกของปีที่แล้วเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.47 ในไตรมาสแรกของปีนี้
2.2 ปัจจัยเสี่ยง / ประเด็นที่ต้องระมัดระวัง
2.2.1 ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงกว่าที่คาดการณ์เดิม โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยใน 5 เดือนเท่ากับบาเรลละ 57.91 ดอลลาร์สรอ. และเท่ากับ 64.59 ดอลลาร์ สรอ. ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งราคาที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งนั้นเป็นไปตาม
ฤดูกาลที่ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่มีการเดินทางมาก มีการปิดโรงกลั่นของสหรัฐฯ ที่ทำให้สต็อกน้ำมันในสหรัฐฯ ลดลงกว่าระดับปกติ และจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปคลงวันละ 1.1 ล้านบาเรลตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2549 ทำให้สต็อกน้ำมันดิบของประเทศกลุ่ม OECD ลดลงประมาณวันละ 1.1 ล้านดอลลาร์ สรอ.ในช่วงที่เหลือของปี 2550 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยังอยู่ในระดับสูงเนื่องจาก ความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปริมาณการผลิต ทั้งนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา International Energy Agency (IEA) คาดว่าในปี 2550 ปริมาณการผลิตน้ำมันรวมของโลกจะเท่ากับ 85.3 ล้านบาเรล เพิ่มขึ้นวันละ 0.6 ล้านบาเรลจากปี 2549 ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวันละ 85.1 ล้านบาเรลต่อวันในปี 2549 เป็นวันละ 86.5 ล้านบาเรล โดยเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาเรลต่อวัน เทียบกับที่เพิ่มขึ้นวันละ 0.6 ล้านบาเรลในปี 2549 ทั้งนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกนั้น เป็นของสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่ความต้องการใช้ของประเทศ OPEC เองก็เพิ่มขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.3 ของความต้องการรวมของโลก เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 8.0 ในปี 2545 ซึ่งเป็นผลเนื่องจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน2-3 ปีที่ผ่านมาได้กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ความต้องการของประเทศอินเดียก็เพิ่มขึ้นด้วยตามภาวะเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวสูงโดยที่คาดว่าประมาณร้อยละ 8 ของปริมาณความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกนั้นเป็นความต้องการของประเทศอินเดีย
- ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2550 กรมสารนิเทศการพลังงาน กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าราคาน้ำ มันดิบอ้างอิง West Texas Intermediate (WTI) ในปี 2550 จะอยู่ที่ระดับ 64 ดอลลาร์ สรอ. ต่ำกว่าบาเรลละ 66 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2549 เล็กน้อยโดยปกติราคาอ้างอิง WTI จะสูงกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบประมาณบาเรลละ 3-5ดอลลาร์ สรอ.(5)
- ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2550 Lehman Brothers คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 2550 จะเท่ากับ บาเรลละ 67.5 ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจาก บาเรลละ 66.2 ดอลลาร์ในปี 2549 โดยเฉลี่ยราคาน้ำ มันดิบเบรนท์จะสูงกว่าราคาน้ำ มันดิบดูไบประมาณบาเรลละ 3 - 8 ดอลลาร์ สรอ.(6) สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากลิตรละ 26.49 บาท ณ วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นราคาล่าสุดลิตรละ 30.39 ณ วันที่ 1 มิถุนายน สำหรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้นจากลิตรละ 23.34 บาท เป็นลิตรละ 25.34 บาทในช่วงเวลาเดียวกัน และล่าสุดเท่ากับลิตรละ 23.34 บาท
*********************************************************************************************************
หมายเหตุ (5) Short-Term Energy Outlook, EIA, 8 May 2007
(6) Global Weekly Economic Monitor, Lehman Brothers, 1 June 2007
*********************************************************************************************************
อย่างไรก็ดีนโยบายด้านพลังงานได้เริ่มส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนปรับตัวดีขึ้น โดยที่ปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรวมของทั้งประเทศลดลงร้อยละ 5.3 ใน 4 เดือนแรกของปีนี้แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ได้มีการปรับตัวไปใช้ก๊าซโซฮอล์มากขึ้นโดยใน 4 เดือนแรกปีนี้ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากที่ได้มีการปรับตัวไปมากในปี 2549 ซึ่งปริมาณการใช้ต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 90 ในขณะที่ปริมาณการใช้เบนซิน 95 ลดลงร้อยละ 34 ในปีที่แล้ว และลดลงอีกร้อยละ 20.3 ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ เช่นเดียวกับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ลดลงร้อยละ 5.8 และ 0.7 ในช่วงเวลาเดียวกัน
2.2.2 การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลหลังเลือกตั้ง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก และความล่าช้าของกระบวนการอนุมัติรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนที่อยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งกำลังซื้อของประชาชนลดน้อยลงจากภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมทั้งความล่าช้าของการตรวจรับงานก่อสร้างของภาครัฐทำ ให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าตามไปด้วย
2.2.3 การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอ่อนตัวมาโดยลำดับตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายของประชาชนที่ต้องปรับตัวมาโดยตลอดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และยังคงมีสัญญาณอ่อนตัวต่อเนื่องในปี 2550 โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนถาวร ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการคาดการณ์ระดับราคาที่จะลดลงอีกจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลง และอีกส่วนหนึ่งมาจากการรอเปลี่ยนรุ่นและแบบสินค้าของผู้ประกอบการ และเป็นการปรับตัวจากภาวะการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าในหมวดนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งเป็นผลของความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ
2.2.4 ราคาสินค้าเกษตรชะลอตัวจะกระทบรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะราคายางพารา ข้าวโพด และข้าวเปลือก ในปี 2548-2549 ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนฐานรายได้เกษตรกรที่สำคัญ แต่ในปี 2550 ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากมีการปรับราคาไปมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และภาวะการผลิตในตลาดโลกมีแนวโน้มปกติ
(ยังมีต่อ).../2.3 สมมุติฐานการ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ