- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 6.7 รวม 9 เดือนแรกของปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.3 โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความมั่นใจของนักลงทุน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร และอัตราการว่างงานที่ต่ำ
- หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยหดตัวจากไตรมาสที่สองร้อยละ 0.2(%QoQ SA) เป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
- ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ภายในประเทศที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 13.9 และ 4.9 ตามลำดับ การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สรอ. ขยายตัวร้อยละ 25.1
- การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 — 4.5ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ในปี 2553 จากการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท โดยที่การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 11.7การบริโภคและการลงทุนเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 9.8 ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 — 3.5 อัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 — 1.3 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.3 ของ GDP
- ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2554 ได้แก่ 1) การเร่งฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยในปลายปี 2553 ทั้งด้านการชดเชยรายได้เกษตรกร และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้เร่งวางแผนในระยะยาวในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและบริโภค ทั้งในกรณีภัยแล้ง และอุทกภัย 2) การบริหารจัดการด้านราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากความเสียหายของผลผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 3) การส่งเสริมและจูงใจให้ภาคธุรกิจส่งออกใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำ เสมอ โดยมีผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย ง่ายต่อการใช้ และมีต้นทุนต่ำ 4) การเร่งแก้ปัญหาและบริหารจัดการแรงงานทั้งในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และแรงงานที่ขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆและแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และ 5) การเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการรักษาภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวต่างชาติ
เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 6.7 โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความมั่นใจของนักลงทุน ส่งผลให้การส่งออก การลงทุน และการบริโภคของภาคเอกชนยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 โดยปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว หดตัวร้อยละ 0.2 (%QoQ, SA)รวม 9 เดือนแรกของปี 2553 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.3
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสาม ปี 2553
(1) ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสนี้สูงถึง 49,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นมูลค่าสูงที่สุดในประวัติการณ์ โดยขยายตัวร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าหลักที่ส่งออกได้แก่ ยานพาหนะและชิ้นส่วน แผงวงจรรวม เครื่องปรับอากาศ และยางพารา ขยายตัวร้อยละ 60.1 17.0 38.2 และ 93.9 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงขยายตัว ยกเว้นตลาดออสเตรเลียที่ลดลง
(2) ภาคการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยในไตรมาสสามมีจำนวน 3.69 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินเดีย เป็นหลัก ส่งผลให้ GDP ในสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 10.1 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่ผ่านมา
(3) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 5.0 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกรจากราคาพืชผลหลัก เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับภาวะการจ้างงานอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 อัตราการว่างงานต่ำที่ร้อยละ 0.9 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 80.5 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 75.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา
(4) การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 14.5 เป็นการขยายตัวในการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในขณะที่การลงทุนในเครื่องจักร เครื่องมือชะลอลง ดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (Business Sentiment Index : BSI) ในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 50.4 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 49.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2553
จากการประเมินศักยภาพเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.3 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการปรับตัวของอุปสงค์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีประเทศไทยประสบกับปัญหาอุทกภัย แต่ความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของภาคการส่งออก ดังนั้น สศช. จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2553 จากร้อยละ 7.0 — 7.5 ที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 เป็นร้อยละ 7.9
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554
สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 ชะลอตัวจากร้อยละ 7.9 ในปี 2553เป็นผลมาจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2554 ชะลอตัวจากปี 2553 ประกอบกับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและรายได้จากการส่งออกสินค้าของไทยรวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในบางกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม และจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2553 ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 โดยคาดว่าในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.5 — 3.5 การบริโภคของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.3 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 8.0 มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวร้อยละ 11.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 3.3 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลร้อยละ 4.3ของ GDP ในปี 2553
- ด้านการใช้จ่าย
การใช้จ่ายครัวเรือน: ในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 5.0 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสสองที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 สอดคล้องกับการชะลอลงของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่สาม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 13.0 และ 16.3 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.1 และ 34.9ตามลำดับ โดยปัจจัยที่สนับสนุนการใช้จ่ายครัวเรือน ได้แก่ (1) อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (2) รายได้เกษตรกรสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตลดลง ในขณะที่ความต้องการของตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และ (3) อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้การบริโภคสินค้าคงทน ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 โดยเฉพาะสินค้าประเภทรถยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง หลังจากที่ขยายตัวในอัตราที่สูงในไตรมาสก่อนหน้าก็ตาม ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้เท่ากับ 72.6ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 68.0 เนื่องจากผู้บริโภคมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน และรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย
"...การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 5.0 เป็นผลจากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ..."
การใช้จ่ายภาคครัวเรือน
%YoY 2552 2553 ทั้งปี Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 Q2 Q3 การใช้จ่ายภาคเอกชน -1.1 -2.6 -2.3 -1.3 1.6 3.9 6.4 5.0 สินค้าคงทน -7.1 -16.7 -14.9 -6.4 10.7 28.9 32.8 23.7 สินค้ากึ่งคงทน -8.8 -10.4 -11.3 -12.4 -1.3 9.5 6.7 5.8 สินค้าไม่คงทน 0.7 -1.6 -0.6 1.9 3.2 2.0 1.1 2.0 - อาหาร 0.6 -0.9 -1.2 2.9 1.8 0.7 1.1 0.6 - มิใช่อาหาร 0.7 -2.0 -0.3 1.2 4.1 3.1 1.2 3.1 บริการ 2.2 6.9 4.8 1.2 -3.1 -4.8 5.9 2.4
ที่มา: สศช.
"...การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเป็นสำคัญ..."
การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวร้อยละ 14.5 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 17.8 เป็นผลมาจากการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรร้อยละ 15.2 ในขณะที่การก่อสร้างยังคงขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 12.7 สอดคล้องกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยร้อยละ 20.0 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 21.8 โดยการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 27.1 จากการนำเข้าเครื่องจักร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ นอกจากนี้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 39.5 เป็นผลมาจากการผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนรายได้เกษตรกร และความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ขยายตัวร้อยละ18.1 โดยเฉพาะที่อยู่ในอาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอยู่ที่ระดับ 50.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 49.3 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งข้อจำกัดในการปรับราคาสินค้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะต่อไป นอกจากนี้ ยังพบว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเกี่ยวกับต้นทุนการประกอบการยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ระดับ 37.0 และความเชื่อมั่นในภาคบริการในไตรมาสนี้อยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับ 52.7 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 56.1 หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองได้คลี่คลายลง
การส่งออก: มูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สาม มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สรอ. ยังคงขยายตัวได้ดี และเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงถึง 49,721 ล้านดอลลาร์ สรอ. สูงสุดในประวัติการณ์ แต่เมื่อพิจารณาในรูปของอัตราการขยายตัว มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 22.2 ชะลอตัวจากไตรมาสสองที่ขยายตัวร้อยละ 41.8 โดยปริมาณและราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 และ 7.4 ตามลำดับ เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 24.8 การที่มูลค่าการส่งออกเริ่มขยายตัวลดลงเป็นผลมาจากมูลค่าฐานที่ปรับตัวสูงขึ้น การชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของอียู รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ที่ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 13.7
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวได้จากราคาการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 35.2 แต่ปริมาณการส่งออกชะลอลงร้อยละ 8.4ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรมที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกเริ่มขยายตัวลดลง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 และ 21.9 ตามลำดับ จากไตรมาสที่สองที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.0 และ 42.9 ตามลำดับ ส่วนราคาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.2 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.0 และ 24.3 ตามลำดับ เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมส่งออก พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 และ 13.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 110.0ของไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่ปรับตัวลดลง
ตลาดส่งออก: ชะลอตัวทั้งในตลาดหลักและตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน (9) ที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 45.3 เช่นเดียวกับจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15)ที่ขยายตัวร้อยละ 26.9 25.4 32.0 และ 19.4 ตามลำดับ สำหรับตลาดใหม่ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ฮ่องกง (ร้อยละ 21.7) ไต้หวัน (ร้อยละ 38.6) อินเดีย (ร้อยละ 24.7) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 12.6) ส่วนตลาดใหม่ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง คือ ออสเตรเลีย (หดตัวร้อยละ 16.2) เนื่องจากการลดลงของการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป
"...มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 13.7 เป็นผลมาจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท..."
"...มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 30.7 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 44.8 สินค้านำเข้าทุกหมวดขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง..."
การนำเข้า: มูลค่า ปริมาณและราคานำเข้าขยายตัวในอัตราที่ลดลง ในไตรมาสที่สามของปี 2553 มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 30.7 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 44.8 โดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 23.0ขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 32.6 ในไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าทุกภาคเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า สินค้านำเข้า (ปรับฤดูกาลแล้ว) ทุกหมวดขยายตัวในอัตราที่ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า สินค้าทุนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงทั้งปริมาณและมูลค่า โดยมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 27.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 23.6 และ 41.2 ในไตรมาสแรกและสอง ตามลำดับ เนื่องจากการลงทุนภายในประเทศที่ยังคงทรงตัว และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องจักร เช่นเดียวกับสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงทั้งปริมาณและมูลค่านำเข้า โดยมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 31.9 ชะลอลงจากไตรมาสแรกและสอง ที่ขยายตัวร้อยละ 71.5และ 55.9 ตามลำดับ ตามการส่งออกและการผลิตที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปบางรายการที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่า ปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยมูลค่านำเข้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 19.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 33.3 และ 39.2 ในสองไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ สินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นมีราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าหดตัว โดยมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 43.8 และ 48.0 ในสองไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ (ปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.3 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5) เนื่องจากฐานการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสามของปีที่ผ่านมา
"...อัตราการค้าปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 1.3..."
อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากราคาส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นมากกว่าราคานำเข้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สามของปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นผลดีต่อรายได้ของผู้ส่งออก
"...เกินดุลลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า..."
ดุลการค้า: เกินดุลลดลง ในไตรมาสที่สามของปี 2553 เกินดุล 3,303 ล้านดอลลาร์ สรอ. (101,291 ล้านบาท) ต่ำกว่าการเกินดุล 4,645 ล้านดอลลาร์ สรอ. (150,437 ล้านบาท) ในไตรมาสที่แล้ว
"...ภาคเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ 3.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสสอง ผลผลิตพืชผลลดลงร้อยละ 3.1 ขณะที่ราคาพืชผลและรายได้เกษตรกรขยายตัวอยู่ในระดับสูง..."
ด้านการผลิต
สาขาเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ 3.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสสอง โดยผลผลิตพืชลดลงร้อยละ 3.1 จากการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง และสภาพอากาศแห้งแล้งตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงกลางปี ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ51.7 26.9 และ 11.8 ตามลำดับ ราคาพืชผลโดยรวมขยายตัวร้อยละ 38.0 ตามราคามันสำปะหลัง ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขยายตัวร้อยละ 121.6 70.0 และ 50.7 ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของราคาพืชทั้งสามชนิดเป็นผลมาจากอุปทานที่ลดลงในขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกขยายตัวต่อเนื่องอย่างไรก็ตามราคาข้าวเปลือกยังคงลดลงร้อยละ 13.1 สอดคล้องกับราคาข้าวในตลาดโลก นอกจากนี้การเร่งระบายข้าวของผู้ประกอบการมีส่วนสนับสนุนให้ราคาข้าวภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 7.4 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาตามราคาไก่เนื้อและสุกร เนื่องจากปริมาณการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ การเพิ่มขึ้นของราคาพืชที่สำคัญส่งผลให้รายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 33.7 รวม 9เดือนแรกของปีสาขาเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ 1.4
"...ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.5 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศ..."
สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.5 เป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สี่ โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ(1) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลักขยายตัว และ (2) รายได้เกษตรกรสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงความสำเร็จของโครงการประกันรายได้เกษตรกร ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เน้นการใช้เทคโนโลยีในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 43.3 37.1 15.7 และ 2.6 ตามลำดับ และอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานในการผลิตบางกลุ่ม เช่น เครื่องหนัง เครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้ในบ้านเรือนขยายตัวร้อยละ 18.7 16.0 และ 23.2 ตามลำดับ
"อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ร้อยละ 64.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 57.8 ในไตรมาสก่อน..."
อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 64.3 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 57.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเกินร้อยละ 80 ได้แก่ การผลิตเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องใช้สำนักงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 103.9 90.7 85.0 82.6 และ 82.1 ตามลำดับ สำหรับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในไตรมาสนี้ขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.6 สะท้อนว่าภาพรวมอุตสาหกรรมยังมีการผลิตเพื่อบริหารสินค้าคงคลังในระยะต่อไป รวม 9 เดือนแรกของปีสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 17.2
"...สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 8.0 ในไตรมาสสองตามการก่อสร้างภาครัฐ..."
สาขาก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 5.2 ชะลอตัวจากร้อยละ 8.0 ในไตรมาสสอง ตามการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ชะลอตัวจากร้อยละ 5.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็กที่ชะลอตัว ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 12.7 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 8.8ในไตรมาสที่ผ่านมา เห็นได้จากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 18.1 โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมที่ขยายตัวถึงร้อยละ 26.5 และ 40.0 ตามลำดับ แสดงว่าภาคเอกชนเริ่มมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้มีการขยายการลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างมากขึ้น รวม 9 เดือนแรกของปีสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 6.9
ราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสที่สาม ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการที่ราคาเหล็กเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงร้อยละ 4.4 ประกอบกับราคาสินค้าหมวดอื่นๆ เช่น ซีเมนต์และคอนกรีต ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.6 และ 1.3 ตามลำดับ ยกเว้น ราคาหมวดไม้ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0
"...สาขาอสังหาริมทรัพย์เร่งสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง..."
สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 6.5 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากอุปสงค์ที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ประกอบกับมูลค่าของค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ทั้งดัชนีราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาวส์พร้อมที่ดินเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 2.2 และ 1.1 ตามลำดับ เป็นผลจากราคาวัสดุก่อสร้างและราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะดัชนีราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ต่อเนื่องจากไตรมาสสองที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 รวม 9 เดือนแรกของปีสาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 5.2
"...สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 10.1 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชีย..."
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 10.1 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยจำนวน 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินเดีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.7 26.9 และ 28.1 ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 48.4 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 47.2ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ภาคการท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ เห็นได้จาก (1) จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ลดลงร้อยละ 3.6 (2) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้ อยู่ที่ร้อยละ 48.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 39.3 (3) จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารของสายการบินราคาต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 และ 26.7เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ รวม 9 เดือนแรกของปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 11.2ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 12.6 9.9 และ 8.1 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่นบางส่วนเปลี่ยนเป้าหมายการท่องเที่ยวไปเที่ยวงาน เซี่ยงไฮ้ เวิลด์เอ็กซ์โป 2010 (Shanghai World Expo 2010) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม — 31 ตุลาคม 2553 รวม 9 เดือนแรกของปี สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 8.6
"...การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ0.1 อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ตลาดแรงงานยังคงตึงตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา..."
การจ้างงาน ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีการจ้างงาน 38.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามการจ้างงานของนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 โดยเฉพาะสาขาบริหารราชการแผ่นดิน สาขาค้าส่งและค้าปลีก และสาขาก่อสร้าง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 4.8 และ 4.0 ตามลำดับการจ้างงานในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 6.6 จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่อนคลายลง
สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 3.49 แสนคน ลดลง 1.12 แสนคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 24.2 โดยมีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 ส่งผลให้จำนวนผู้ขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงร้อยละ 16.8
ตลาดแรงงานยังคงตึงตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีสะท้อนจากสัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่ เท่ากับ 1.0 0.7 และ 1.0 ในไตรมาสแรก สอง และสาม ตามลำดับ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น