(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม และแนวโน้มปี 2553-2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2010 14:22 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ภาวะการคลัง:

ในไตรมาสที่สี่ ของปีงบประมาณ 2553 (ก.ค.— ก.ย. 53) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิเป็นจำนวน 448,041.9 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการร้อยละ 25.8 และสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.5 รวมปีงบประมาณ 2553 (ต.ค. 52 — ก.ย. 53) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,678,911 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 328,912 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.4 และสูงกว่าปี 2552 ร้อยละ 19.0 จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้

"...รัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2553 สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย..."

ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย ในไตรมาสที่สี่ ของปีงบประมาณ 2553 มีการเบิกจ่ายงบประมาณ 419,153 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.7 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ที่ร้อยละ 26.0 โดยรายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ร้อยละ 25.4 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ร้อยละ 19.8 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน เมื่อรวมทั้งปีงบประมาณ 2553 มีการเบิกจ่ายงบประมาณ 1,627,846.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95.8 ของวงเงินงบประมาณสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 94.0

สำหรับโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (SP2) ในไตรมาสที่สี่ ปีงบประมาณ 2553 มีการเบิกจ่ายจำนวน 55,531.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.3 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร (320,760.9 ล้านบาท) โดยรวมแล้ว ทั้งปีงบประมาณ 2553 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 219,515.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 68.4 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร

"...ในปีงบประมาณ 2553 เบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็งได้ร้อยละ 68.4 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร..."

ฐานะการคลังรัฐบาล ในไตรมาสที่สี่ ปีงบประมาณ 2553 ขาดดุลงบประมาณ 15,900.9 ล้านบาทเมื่อรวมดุลนอกงบประมาณที่เกินดุล 82,211.5 ล้านบาท และรัฐบาลได้ออกพันธบัตรและตั๋วเงินคลัง จำนวน 3,003.0 ล้านบาท ส่งผลให้เกินดุลเงินสด 69,313.5 ล้านบาท รวมทั้งปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลขาดดุลเงินสด 97,088.0 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 232,575.0 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้เกินดุล 135,487.0 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ ต้นปีงบประมาณ จำนวน 293,835.0 ล้านบาท ส่งผลให้มีเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 จำนวน 429,322.0 ล้านบาทหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 มีจำนวน 4,266,701.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.7ของ GDP เพิ่มขึ้นจาก 4,144,260.8 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ภายในประเทศที่รัฐบาลกู้โดยตรง ได้แก่ เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555)

"...ฐานะการคลังอยู่ในเกณฑ์ดี หนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 42.7 ของ GDP..."

กรอบวงเงินงบประมาณปี 2554

ในปีงบประมาณ 2554 (ต.ค.2553-ก.ย.2554) วงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 2,070,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1,662,604 ล้านบาท หรือร้อยละ 80.3 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 344,495 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 32,554 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 30,346 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6 และ 1.5 ตามลำดับ และคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมไว้ที่ร้อยละ 93 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย และกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนไว้ที่ร้อยละ 72 ของวงเงินรายจ่ายลงทุน สำหรับเงินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 กำหนดการเบิกจ่ายร้อยละ 100 ของวงเงินตามแผนที่ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาสที่สามของปี 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งรวมร้อยละ 0.50 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.25 ณ สิ้นไตรมาสที่สอง เป็นร้อยละ 1.75 ณ สิ้นไตรมาสที่สาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียได้แก่ ประเทศอินเดีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสสาม เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2553 ประเทศจีนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25ต่อปี จากร้อยละ 5.31 เป็นร้อยละ 5.56 ต่อปี และไต้หวันจากร้อยละ 1.275 เป็นร้อยละ 1.5 ต่อปี เพื่อลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจากร้อยละ 0.1 เป็นระหว่าง ร้อยละ 0-0.1 ต่อปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดแรงกดดันที่ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.12 และ 6.00 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อ ณ สิ้นไตรมาสที่สามปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงเท่ากับร้อยละ -2.18 และ .00 ต่อปีตามลำดับ

"...เงินฝากและตั๋วแลกเงินขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ส่วนสินเชื่อเอกชนขยายตัวดี โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์..."

เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 9.7 เทียบกับการขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตั๋วแลกเงินร้อยละ 36.0 เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และประจำค่อนข้างมาก และส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว ในขณะที่สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ของสถาบันรับฝากเงิน ขยายตัวร้อยละ 10.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.5 ในไตรมาสที่แล้ว จากการขยายตัวดีของสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวขึ้น ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย ตามการสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมิถุนายน ส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นในทุกสาขาตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจำนวนบัตรเครดิตและยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของคนไทยที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สัดส่วน NPLs2 ต่อสินเชื่อคงค้างลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อน จากการชำระคืนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และจำหน่ายหนี้ เป็นสำคัญ

"...สภาพคล่องส่วนเกินเพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธปท. และ Net R/P Position..."

สัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 91.0 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 90.5 เนื่องจากสินเชื่อเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าการขยายตัวของเงินฝาก ส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 1.18 ล้านล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 1.26 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ธปท. และ Net R/P position

"...ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการไหลเข้าของเงินทุน..."

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไตรมาสที่สามของปี 2553 เท่ากับ 31.562 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.4 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากการไหลเข้าของเงินลงทุนตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 2 (Quantitative Easing Measures: QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2553 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 29.921 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และเฉลี่ยในวันที่ 1-19 พฤศจิกายนเท่ากับ 29.736 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ ในไตรมาสที่สาม ปี 2553 เงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุล 8.1 พันล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากเงินทุนไหลเข้าในภาคธนาคาร ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จาก 2.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และเงินทุนไหลเข้าภาคนอกธนาคารที่ปรับเป็นการไหลเข้าที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการไหลออกที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สรอ.

"...เงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นทั้งภาคธนาคารและภาคนอกธนาคาร..."

"...เงินทุนสำรองระหว่างประเทศณ สิ้นเดือนตุลาคม เท่ากับ 171.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ...."

ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่สามเกินดุล 2,047 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 101,291 ล้านบาท)เกินดุลต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วที่เกินดุล 1,698 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นผลจากการเกินดุลการค้า 3,303 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอน 1,256 ล้านดอลลาร์ สรอ.

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2553 เท่ากับ 171.06 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net Forward Position อีก 12.59 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 3.7 เดือน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สามของปี 2553 เงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.3 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดประเภทผักผลไม้และสินค้าอุปโภคเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งได้รับความเสียหายจากฝนตกชุก ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับเป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้บางชนิด โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ส่วนดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 สาเหตุหลักมาจากการยกเลิกมาตรการลดภาระค่าครองชีพเกี่ยวกับค่าน้ำประปาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า แสดงถึงราคาสินค้าทั่วไป (นอกเหนือจากราคาอาหารสดและพลังงาน) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

"...อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สามเท่ากับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.3..."

ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สามของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 10.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.3 ในไตรมาสที่สองสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตเกษตรอันเนื่องมาจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากฝนตกชุกส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในปะเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะราคาวัตถุดิบที่มิใช่อาหาร และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหารสด ซึ่งมีความผันผวนสูงและอาจเป็นสถานการณ์ที่ทำให้กำไรส่วนเพิ่มของผู้ประกอบลดลง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขอปรับขึ้นราคาสินค้าในปี 2554

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าการซื้อขายปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากตลอดทั้งไตรมาส ในไตรมาสที่สามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 975.3 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 797.3 จุด คิดเป็นร้อยละ 22.3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เนื่องจาก (1) แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่ดีกว่าประเทศอุตสาหกรรมหลัก (2) การคาดการณ์ผลตอบแทนจากแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินสกุลเอเชีย และ(3) สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวม 60.0 พันล้านบาทเทียบกับการขายสุทธิ 59.9 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 21.4พันล้านบาท เป็น 35.6 พันล้านบาท และตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมจนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ตามการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน ปิดที่ 1,004.7 จุด ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 1,049.8 จุด ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 38.4 พันล้านบาทและนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม — 18 พฤศจิกายน 2553 รวม 9.2 พันล้านบาท

"...ดัชนีตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าการซื้อขายปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากตลอดทั้งไตรมาสตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ..."

ตลาดตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ มูลค่าการซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright) ในไตรมาสที่สาม เพิ่มขึ้นเป็น 70.9 พันล้านบาทต่อวัน จาก 64.8 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสที่สอง ดัชนีราคาปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณความต้องการตราสารหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเห็นได้จากปริมาณการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากถึงระดับ 131.2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาเป็นไปอย่างจำกัดจากปริมาณพันธบัตรหมุนเวียนในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในเดือนตุลาคม 2553 นักลงทุนต่างชาติยังเพิ่มการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย โดยมียอดซื้อสุทธิสะสมต่อเนื่อง มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันเพิ่มสูงขึ้น แต่ดัชนีราคาปรับลดลงเล็กน้อย จากผลกระทบของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทของภาครัฐ

"...มูลค่าการซื้อขายและดัชนีราคาในตลาดตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามปริมาณการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น..."

การระดมทุนของภาคเอกชนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 การระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีมูลค่ารวม 245.9 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก 254.2 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สามของปี 2552 โดยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในตราสารหนี้ 224.2 พันล้านบาท โดยเฉพาะภาคการเงินอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนการระดมทุนในตราสารทุนเท่ากับ 21.7 พันล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของทั้งปี 2552 ที่ 29.5 พันล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนจากภาคการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้าและการคมนาคม และภาคการผลิต ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นและความต้องการลงทุนของธุรกิจในหลากหลายสาขามากขึ้น ต่างจากไตรมาสก่อนหน้าที่การระดมทุนจะอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก

"...การระดมทุนผ่านตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้อยู่ในระดับสูง ตามความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น..."
2. ความเคลื่อนไหวและแนวโน้มราคาน้ำมันปี 2553 - 2554

ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสสาม ปี 2553

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก: ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงซึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีที่แล้ว ในไตรมาสที่สามของปี 2553 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 75.03 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ที่ราคา 68.32 ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเป็นผลมาจากฐานที่สูงขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาสสามของปี 2552 จากความต้องการใช้น้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

"...ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากฐานที่สูงในช่วงปลายปีที่แล้ว..."

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2553 - 2554

ราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2553 คาดว่าจะอยู่ที่ 77 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่า 61.60 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2552 โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเท่ากับ 76.23ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล และ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 อยู่ที่ราคา 81.75 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ทั้งนี้หลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการราคาน้ำมัน WTI โดย Energy Information Administration (EIA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรับลงมาอยู่ในช่วง 79 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในปี 2553 ส่วน Nomura ประเทศญี่ปุ่นได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 85 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี 2554 และปี 2555 จะอยู่ที่ 95 และ 110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาน้ำมัน คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหลายฝ่ายมีความเชื่อมั่นว่าราคาจะสูงขึ้นและจะมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นตลอดช่วงฤดูหนาว

ในปี 2554 ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับสูงกว่าราคาเฉลี่ยของปี 2553 โดย EIA คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ WTI ในปี 2554 จะอยู่ที่ 85 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล และหลายสถาบันคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2554 จะอยู่ในช่วง 80-100 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล สูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 2553 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 77ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล ทั้งนี้ สศช. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2554 จะอยู่ที่ 80-90ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรลสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2553 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปี 2554

"...คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะอยู่ที่ 77 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ส่วนในปี 2554 คาดว่าจะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล..."
3. ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสสามของปี 2553 และแนวโน้มปี 2553 — 2554

เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสามของปี 2553 ชะลอตัวลง ยกเว้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะขยายตัวดีขึ้นจากการบริโภคภายในประเทศ การสะสมสินค้าคงคลัง การใช้จ่ายในภาครัฐ และการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น แต่สหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงปรับตัวจาก Twin deficits ทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลงบประมาณระดับสูง อย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นและภาวะเงินฝืดที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และจำกัดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ และการชะลอการลงทุนของรัฐบาลจีน โดยสรุปภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญๆ ดังนี้

-เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 3.1 (%YoY) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.0 ในไตรมาสสองของปี 2553และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.0 (%QoQ, s.a.) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสสองของปี 2553เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การสะสมสินค้าคงคลัง การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก ซึ่งชดเชยกับการหดตัวลงในภาคอสังหาริมทรัพย์และการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น การนำเข้าและการส่งออกขยายตัวร้อยละ 20.4 และ 17.0 ตามลำดับ (%YoY) ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ดุลการค้าขาดดุล 133.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 สหรัฐฯขาดดุลการค้า 379.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดดุล 270.2 พันล้านดอลลาร์สรอ. มูลค่าการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน 81.78 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจาก 67.74 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับการขาดดุลกับญี่ปุ่นและกลุ่มยูโรโซนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสสามเช่นกัน การผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 5.4 (%YoY) ชะลอตัวลงสอดคล้องกับดัชนี PMI ที่ลดลงอยู่ที่ระดับ 55.4 อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคมได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 56.9 จากการขยายตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาสสามของปี 2553ที่ระดับ 0.3 และลดลงที่ระดับ 0.1 ในเดือนกันยายน ซึ่งอาจเกิดภาวะเงินฝืด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในกรอบร้อยละ 0.0-0.25 ตามเดิมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ6 ส่วนอัตราการว่างงานในไตรมาสสามของปี 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 9.6 ลดลงจากร้อยละ 9.7 ในไตรมาสก่อน เมื่อสิ้นสุดไตรมาสสามของปี 2553 ผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 14.8 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 15.6 ล้านคนในเดือนตุลาคม ซึ่งมีการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 151,000 คน เป็นเพียงการจ้างงานใหม่ในบางสาขา อาทิ ค้าปลีก เนื่องจากเป็นช่วงเตรียมการจับจ่ายซื้อของก่อนเทศกาลคริสต์มาส

"...ศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะขยายตัวดีขึ้นจากการบริโภคภายในประเทศ การสะสมสินค้าคงคลัง การใช้จ่ายในภาครัฐ และการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น แต่สหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงปรับตัวจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลงบประมาณ..."

-เศรษฐกิจประเทศกลุ่มยูโรโซน เศรษฐกิจประเทศกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.9 (%YoY) เท่ากับไตรมาสที่แล้ว และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.4 (%QoQ, s.a.) ชะลอตัวจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสสองของปี โดยประเทศส่วนใหญ่มีอัตราการขยายตัวลดลง โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์และโรมาเนียที่ขยายตัวเป็นลบยกเว้นกรีซ ฮังการี และโปรตุเกสมีการปรับตัวดีขึ้น สำหรับสหราชอาณาจักร และประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเช่น นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสองของปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนและการสะสมสินค้าคงคลังรวมทั้งดุลการค้าและบริการที่ยังเป็นบวกแต่ขยายตัวได้ในอัตราที่ลดลง ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้นทำให้ระดับเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.7 โดยประเทศที่มีระดับเงินเฟ้อสูงที่สุดในกลุ่มยูโร คือ กรีซ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3 ในด้านอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับบาทและเยน แล้วยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสที่ผ่านมา โดยบาทต่อยูโรอยู่ที่ประมาณ 40.82 (อ่อนค่าลงร้อยละ 17.1 จากไตรมาสสี่ของปี 2552 หรือร้อยละ 0.8 จากไตรมาสที่ผ่านมา)และเยนต่อยูโรอยู่ที่ 110.67 (อ่อนตัวลงร้อยละ 17.3 จากไตรมาสสี่ของปี 2552 หรือร้อยละ 5.5 จากไตรมาสที่ผ่านมา) ในขณะที่เมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แล้วจะแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 1.5 มาอยู่ที่ประมาณ 1.29 ดอลลาร์ สรอ.ต่อยูโร

"...เศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำเนื่องจากมาตรการการคลังที่เข้มงวดเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ..."

-เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 4.4 (%YoY) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสสองของปี 2553 เนื่องจากฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.9 (%QoQ,s.a.) เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสสองของปี ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศโดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มสูงขึ้นของยอดซื้อรถยนต์ประหยัดน้ำมัน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐได้ออกมาเพื่อส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะสิ้นสุดลงก่อนกำหนดในเดือนกันยายน 2553 อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มชะลอตัวลง เห็นได้จากดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สามอยู่ที่ระดับ 50.8 ลดลงจากระดับ 54.1 ในไตรมาสสอง โดยในเดือนกันยายน 2553 ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 49.5 ลดลงต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ประกอบกับการส่งออกในเดือนกันยายนเติบโตร้อยละ 14.4 ชะลอตัวจากร้อยละ 15.8 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งนับว่าเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศลดลง และค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ด้านเสถียรภาพ ภาวะเงินฝืดยังคงเป็นปัญหาสำคัญ จะเห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกันยายนที่ลดลงร้อยละ 0.6 ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ตัดสินใจปรับดอกเบี้ยลงสู่ระดับร้อยละ 0-0.1 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและจะคงอัตรานี้ไว้จนกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มสูงกว่าร้อยละ 1.0 ส่วนอัตราการว่างงานในไตรมาสสามปี 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 5.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.3

"...เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น แต่การแข็งค่าของเงินเยน และภาวะเงินฝืดยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ..."
(ยังมีต่อ).../-เศรษฐกิจจีน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ