- เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 9.6 (%YoY) ชะลอตัวจากร้อยละ 10.3 ในไตรมาสสองของปี 2553 เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 15.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนี PMI ในภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงอยู่ที่ระดับ 52.2 เทียบกับระดับ 53.9 ในไตรมาสสอง บ่งชี้ถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์และการลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ และการชะลอการลงทุนของภาครัฐด้านการค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคใน 9 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 18.3 คิดเป็นมูลค่ากว่า 11,102พันล้านหยวน การนำเข้าและส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่ลดลง โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 32.2 ชะลอตัวจากร้อยละ 40.9 ในไตรมาสสอง ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 27.4 ชะลอตัวจากร้อยละ 44.1 ในไตรมาสที่ 2 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินหยวนนับตั้งแต่ที่จีนปรับนโยบายแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของจีน ด้านอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สามสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.5 สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ3.0 เนื่องจากราคาอาหารที่สูงขึ้นจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ธนาคารกลางจีนประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี เพิ่มจากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี เพิ่มจากร้อยละ 5.31 เป็นร้อยละ 5.56 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันพุธที่ 20 ตุลาคม 2553 เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของจีนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้มุ่งที่จะควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนด
"...เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ชะลอลงจากร้อยละ 10.3 เป็นร้อยละ9.6 ในไตรมาสสาม โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น..."
-เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่และอินเดีย โดยสิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ10.6 9.8 และ 4.5 ตามลำดับ ชะลอตัวลงจากร้อยละ 19.5 12.9 และ 7.2 ขณะที่ฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 6.8สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้การขยายตัวมาจากภาคการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และการบริโภคภาครัฐบาลร้อยละ 3.4 ในขณะที่อินเดียคาดว่าการขยายตัวจะลดลงจากร้อยละ 8.8 (%YoY) ในไตรมาสที่สองของปี เห็นได้จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 (%YoY) ในเดือนกันยายน 2553 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 5.6 ในเดือนสิงหาคม และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 15.2 ในเดือนกรกฎาคม สถานการณ์เงินเฟ้อของอินเดีย (WPI) ได้ปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 8.6 ลดลงจากที่พุ่งขึ้นสูงในเดือนเมษายนถึงร้อยละ 11.0 สำหรับเกาหลีใต้คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสหน้า ทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินวอนที่แข็งขึ้น ตลอดจนอุปสงค์โลกที่ลดลง โดยได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และออกมาตรการควบคุมการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และขนาดของอนุพันธ์เงินตราต่างประเทศเพื่อสกัดการเติบโตของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของเกาหลีใต้ และบรรเทาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงินที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
"...เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่และอินเดียยังคงขยายตัว แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสสอง..."
-เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยรวมชะลอตัวลงจากไตรมาสสองปี 2553 ทั้งนี้มาเลเซีย อินโดนีเซียและ เวียดนาม เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับแต่ละประเทศได้ชะลอการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ทำไปแล้วในช่วงต้นปี รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวของแต่ละประเทศต้องใช้ระยะเวลาก่อนที่จะส่งผลอย่างเต็มที่ โดยอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.8ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.2 เป็นผลมาจากการบริโภคในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง ส่วนเวียดนามขยายตัวร้อยละ 7.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่สอง เป็นผลจากการส่งออกซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 36.9 ในขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 ไตรมาสแรก
"...เศรษฐกิจอาเซียนโดยรวมชะลอตัวลงเนื่องจากการลดลงของอุปสงค์ในประเทศ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง..."
แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 และ 2554
เศรษฐกิจโลกในปี 2553 และ 2554 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 และ 3.8 ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง คือ การปรับนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศการใช้มาตรการการคลังแบบหดตัวในยุโรปเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ และการปรับตัวของดุลการค้าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน โดยประเทศที่มีดุลการค้าสุทธิเป็นบวกจะมีแนวโน้มการเกินดุลลดลง ในขณะที่ประเทศที่ขาดดุลการค้าจะสามารถลดภาวะการขาดดุลลง และเข้าสู่สมดุลของการค้าโลกได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศและการสะสมสินค้าคงคลังรอบใหม่เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ทั้งนี้จากการประมาณการของแต่ละประเทศ ในปี 2553 คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน จะขยายตัวร้อยละ 2.7 1.6 2.7 และ 9.6 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง จะขยายตัวร้อยละ 13.0 6.1 7.9 และ 5.5ตามลำดับ ในขณะที่อินเดียคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.3 ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซียอินโดนีเซีย และเวียดนาม จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 6.0 และ 6.0 ตามลำดับ
ในปี 2554 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีนขยายตัวร้อยละ 2.2 1.4 1.3 และ 9.0 ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง จะขยายตัวร้อยละ 4.8 4.0 4.2 และ 4.5 ตามลำดับ ด้านอินเดียจะขยายตัวร้อยละ 8.3 ทั้งนี้กลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 6.1และ 6.4 ตามลำดับ
"...เศรษฐกิจโลกในปี 2553 และ 2554 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 และ 3.8 ตามลำดับ..."
กลุ่มยูโรคาดว่านับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี อัตราการขยายตัวโดยรวมจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริโภคในไตรมาสสี่ของปี แต่คาดว่าหลังจากนั้นมาตรการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้สถานะการคลัง (fiscal consolidation) ในหลายประเทศ ประกอบกับอุปสงค์โลก และข้อจำกัดด้านสินเชื่อจะส่งผลให้การขยายตัวชะลอลงไปอีกระยะหนึ่ง อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากระดับร้อยละ 10 ในปัจจุบัน การบริโภคน่าจะขยายตัวได้ในกรอบจำกัดไม่เกินร้อยละ 0.2 ซึ่งทำให้เงินเฟ้อไม่น่าจะสูงมากนัก โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะทั้งปีของกลุ่มยูโรโซนจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 72-85
ประเทศที่จะมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังภาวะฟื้นตัวคือประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีน และอินเดีย ซึ่งหากพิจารณาจากสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP พบว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน 5 มีสถานะเกินดุลมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.2 ต่อ GDP รองลงมาคือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น (ร้อยละ 1.54) และกลุ่มยูโร (ร้อยละ 0.17) สำหรับสหรัฐอเมริกาและประเทศกลุ่ม PIIGS ยังมีปัญหาการขาดดุลอย่างต่อเนื่องมากที่สุด เทียบกับญี่ปุ่นที่มีสถานะเกินดุลสูงถึงร้อยละ 3.05 ในขณะที่ภาระหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังเป็นปัญหา โดยจากการคาดการณ์ของ IMF พบว่าญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนในปี 2553 ที่ร้อยละ 225.8 และ 92.7 ตามลำดับ สูงกว่ากลุ่มยูโรโซน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 72.6 และเป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังมีสัดส่วนที่ต่ำ และไม่น่ากังวลในขณะนี้ ซึ่งเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป
สถานะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะส่งผลให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนประเภทสถาบันมีแนวโน้มจะกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีผลตอบแทนดีกว่า ทำให้แนวโน้มของการใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนในประเทศกำลังพัฒนามีความจำเป็น ร่วมกับการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศโดยการกระตุ้นให้มีเปลี่ยนสภาพเงินออมไปเป็นการลงทุนใน non-tradable goods and services ให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อที่อาจเป็นปัญหาได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร ซึ่งน่าจะทำให้ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น และอาจนำไปสู่การปรับอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคเป็นระยะๆ
จากภาวะเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.3 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงส่งต่อการขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยในช่วงไตรมาสสี่ ปี 2553 ประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาอุทกภัยซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายชะลอตัวจาก 3 ไตรมาสที่ผ่านมา
ปัจจัยสนับสนุน
(1) เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2553 เศรษฐกิจประเทศที่สำคัญยังมีความเปราะบางในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งประเทศญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป แต่โดยรวมเศรษฐกิจโลกยังคงเอื้อต่อการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญลำดับต้นๆ ของไทย นอกจากนี้โครงสร้างตลาดการส่งออกไทยมีการกระจายตัวมากขึ้นทำให้สามารถลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ
(2) การลงทุนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากแรงส่งของการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศและเมื่อรวมถึงปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนบางส่วนได้ปรับแผนการลงทุนให้เร็วขึ้น โดยการขยายการลงทุนในการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรมากขึ้น
(3) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ที่มีปัจจัยสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว ทำให้คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2553 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องขยายตัวได้ดี ทั้งสาขาโรงแรม ภัตตาคารการค้า และคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
(4) สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ยังอยู่ในเกณฑ์สูงถึง 1.26 ล้านล้านบาท ในขณะที่การปรับตัวดีขึ้นของตลาดทุนและตลาดพันธบัตรยังเอื้ออำนวยต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังอยู่ในสถานะที่เอื้ออำนวยต่อการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยกู้ไปแล้วทั้งสิ้น 830,925ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายการปล่อยกู้ทั้งปีจำนวน 777,220ล้านบาท
(5) อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ จะเห็นได้จากในเดือนตุลาคมอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบร้อยละ 1.68 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจนถึงครึ่งแรกของปี 2554 อัตราดอกเบี้ยของไทยจะยังคงอยู่ระดับต่ำ และเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด
(1) การแข็งค่าของเงินบาท จากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาททำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยในสินค้าที่แข่งขันกับประเทศซึ่งมีค่าเงินอ่อนกว่าไทย เช่น จีน และเวียดนาม ลดลง
(2) ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นจะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญลดลง และจะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงส่งให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย
(3) ความผันผวนของราคาน้ำมัน จากการที่สหรัฐได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณเงินรอบ2 (Quantitative Easing: QE2) จำนวน 600,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. จะทำให้ปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกจำนวนมากและทำให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนตัวลงส่งผลให้แนวโน้มผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐลดลง ทำให้นักลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงการลงทุน โดยมีแนวโน้มถือเงินสกุลอื่นๆ และลงทุน
ในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมัน เมื่อรวมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความตึงตัวของอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันมีสูงกว่าช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย อาจส่งผลให้มีการเก็งกำไรในราคาน้ำมันมากขึ้น ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันในไตรมาสสุดท้ายของปีจะอยู่ในช่วงประมาณ 80 - 85 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรล
(4) การลดลงของแรงขับเคลื่อนของการบริโภคสินค้าคงทน เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา โดยใน 3 ไตรมาสแรกของปีขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.7 และส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.1 แต่คาดว่าในไตรมาสที่4 แนวโน้มการบริโภคในสินค้าคงทนจะมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากการปรับเข้าสู่ฐานที่สูงขึ้น และการบริโภคในช่วงก่อนหน้าเป็นการบริโภคเพื่อชดเชยการชะลอการบริโภคในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย
"...เศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 7.9 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ3.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.3 ของ GDP..."
ประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2553
คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 7.9 เทียบกับหดตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2552 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.2 เทียบกับร้อยละ -0.9 ในปี 2552 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 4.3ของ GDP จากที่เกินดุลประมาณร้อยละ 8.3 ของ GDP ในปี 2552
ในการแถลงข่าววันที่ 23 สิงหาคม 2553 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงร้อยละ 7.0 - 7.5 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ3.0 - 3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9 ของ GDP
สำหรับการแถลงข่าว วันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 สศช. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 เป็นร้อยละ 7.9 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.3 ของGDP ด้วยเหตุผลดังนี้
(1) เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวถึงร้อยละ 4.3 และ 7.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 - 4.3 และ 7.5 ตามลำดับ ในการประมาณการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกบางส่วน แต่จากปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกยังอยู่ในระดับเดียวกับการประมาณการครั้งก่อน
(2) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ประกอบกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะด้านการผลิต และการลงทุน แม้ว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ประสบกับอุทกภัย ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรมีแนวโน้มหดตัว แต่จะถูกชดเชยจากการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
(3) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานที่ต่ำ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี การบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 5.1ดังนั้นคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.9 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1
(4) ปริมาณการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 25.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 24.9 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม
(5) ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุล 13.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการคาดว่าจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 13.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณร้อยละ 4.3 ของ GDP ซึ่งเป็นการปรับลดลง จากการปรับเพิ่มขึ้นของการประมาณการการนำเข้าสินค้า