4. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554
ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก การเพิ่มขึ้นของฐานรายได้ของผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างภาคเอกชน รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรหลักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวังหลายประการ โดยเฉพาะแรงกดกันจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม และความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน
- ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
(1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าหลายประเทศยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อยู่ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออก การผลิตและการท่องเที่ยว นอกจากนี้โครงสร้างตลาดการส่งออกที่มีการกระจายตัวมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ
(2) รายได้ของผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภาคครัวเรือนจากปัจจัย (1) การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างภาคเอกชน (2) รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการที่ราคาสินค้าเกษตรหลักๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย รวมทั้งการดำเนินมาตรการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล และ (3) อัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้การดำเนินนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดค่าครองชีพ การเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อยจะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวได้ดี
(3) สถาบันการเงินมีเสถียรภาพ โดยมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPLs) อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.9 และสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่สี่ ปี 2553 ยังอยู่ในเกณฑ์สูงถึง 1.24 ล้านล้านบาทซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
(4) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าในปี 2554 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศประมาณ 16.8-17.0 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการที่เกี่ยวเนื่องมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน
- ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด
(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของสหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่นยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีความเสี่ยงในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ
เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในภาพรวมยังมีความอ่อนแอในหลายภาคเศรษฐกิจ เช่น (1) ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงค่อนข้างมาก หากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น จีนชะลอตัวลงอย่างรุนแรง (2) การฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมยังมีความอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนี PMI ในไตรมาสที่ 4/2553 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ47.6 (ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงหดตัว) ลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 54.4 และ 50.8 ในไตรมาสที่สองและสามของปี 2553 ตามลำดับ (3) การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการว่างงานสูง และการคงอัตราค่าจ้างระดับเดิม และ (4) หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง คาดว่าในปี 2553 หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 200 ต่อ GDP ประกอบกับในเดือนมกราคม 2554สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นจาก AA เป็น AA-
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจาก (1) หนี้สาธารณะยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผ่านผลกระทบจากภาคการคลังสู่ภาคการเงิน และนำไปสู่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินทำให้ต้นทุนของสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยทั้งสองภาคเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (2) ข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายการคลัง โดยสหภาพยุโรปมีเป้าหมายจะลดการขาดดุลงบประมาณจากร้อยละ 6.0ต่อ GDP ในปี 2553 เหลือร้อยละ 3.0 ต่อ GDP ในปี 2555 ทำให้มีความจำเป็นต้องลดรายจ่ายภาครัฐจำนวนมาก ในปี 2554 และ 2555 (3) ความไม่เท่าเทียมและความแตกต่างด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก จะเห็นได้จากในปี 2553 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปนำโดยการขยายตัวสูงของเศรษฐกิจประเทศเยอรมันเป็นหลัก ในขณะที่การฟื้นตัวของประเทศอื่นๆ ยังมีความเปราะบาง และ (4) แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีเหตุผลหลักมาจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวยังไม่เต็มที่
เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจาก (1) การปรับตัวของตลาดแรงงานยังไปเป็นอย่างเชื่องช้า ทั้งอัตราการว่างงานสูงและการไม่ปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง (2) การฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง (3) การขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและหนี้สาธารณะที่ยังสูงมาก อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2554 จะขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ส่วนปัญหาด้านการคลังจะเป็นแรงกดดันและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป
เศรษฐกิจจีน มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ โอกาสที่จะเกิดการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาทำให้ราคาสินค้าและราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้น รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยการลดเป้าหมายปริมาณสินเชื่อ และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 จีนได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะเวลา 1 ปี) ร้อยละ 0.5 เป็น 6.1 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มครั้งที่ 3 นับจากเดือนตุลาคม 2553 การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนของจีน
(2) การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และแรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง โดยจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การชะลอการลงทุน นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้ดุลการค้าลดลง ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
(3) ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำตลอดปี 2554 และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายรอบ 2 (Quantitative Easing : QE2) ซึ่งมีความแตกต่างค่อนข้างมากกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลทำให้มีความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท ตลาดทุน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
(4) สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งของกลุ่มคนในสังคม แม้ว่าความรุนแรงของสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักลงทุน
(5) สถานการณ์การผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกร ยังมีความไม่แน่นอนจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน
(6) การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานจะทำให้สูญเสียโอกาสในการแข่งขันและยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
- ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2554
(1) เศรษฐกิจโลกในปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.8 - 4.2 และปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.6-7.6 เป็นการปรับเพิ่มจากการประมาณการครั้งก่อน ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ3.6-4.0 และปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวร้อยละ 6.5-7.5
(2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2554 เท่ากับ 85-95 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก80-90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ (1) แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของเอเชีย รวมถึงมาตรการตรึงราคาขายปลีกภายในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ทำให้อุปสงค์ต่อพลังงานบางประเภทเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (2) การเก็งกำไรจากภาวะความตึงตัวของอุปทานน้ำมัน เนื่องจากการผลิตของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกของOPEC ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น (3) สภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงการมีฤดูหนาวที่ยาวนาน และ (4) ความไม่สงบของประเทศผู้ผลิตน้ำมันโดยเฉพาะประเทศอียิปต์และประเทศแถบตะวันออกกลาง
(3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติ (2) ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มราคาน้ำมัน และ (3) การปรับขึ้นราคาสินค้า หลังจากมีการตรึงราคาอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการในช่วงเศรษฐกิจหดตัว ตามนโยบายจากภาครัฐบาล ทำให้มีการปรับอัตราการขยายตัวของราคาส่งออกเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิม โดยคาดว่าราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.3 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน
(4) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2554 คาดว่าจะมีประมาณ 16.8-17.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2553ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 15.8 ล้านคน
- ประมาณการเศรษฐกิจปี 2554:
คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในปี2553 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.8-3.8 เทียบกับร้อยละ 3.3 ในปี 2553 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.5 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลร้อยละ 4.6 ของ GDP ในปี 2553
ในการแถลงข่าววันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 สศช. ได้คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้เท่ากับการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 แต่ได้ปรับองค์ประกอบการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อสมมติฐาน โดยมีช่วงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.5-4.5อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.8-3.8 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.5 ของ GDP
- องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2554
(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี2553 เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนชะลอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนจากรายได้ของภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนข้าราชการ และค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งฐานรายได้ของครัวเรือนภาคเกษตรยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 จากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
(2) การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.3 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 9.4 ในปี 2553 โดยที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่ชะลอลงจากร้อยละ 8.5 เทียบกับร้อยละ 13.8 ในปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงขึ้น ประกอบกับในปี 2554 การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นโดยเฉพาะแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 เทียบกับหดตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2553
(3) การส่งออกสินค้ารูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทำให้อุปสงค์จากต่างประเทศยังคงขยายตัวตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านปริมาณการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.8 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ชะลอลงจากขยายตัวร้อยละ 14.7ในปี 2553
(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 14.6 ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 36.8 และปริมาณการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.1โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุดิบ และสินค้าทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวจากการผลิตเพื่อการส่งออกและการขยายการลงทุนในบางอุตสาหกรรม ส่วนปริมาณการนำเข้าทั้งสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.1 ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.5 ในปี 2553
(5) ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุลประมาณ 12.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเกินดุล 14.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าการขยายตัวของการส่งออก โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น เมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะเกินดุล 0.5 พันล้านดอลาร์ สรอ. จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 12.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 3.5 ของ GDP ซึ่งลดลงจากการเกินดุล 14.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี2553
(6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2554 มีแนวโน้มเผชิญกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อระดับสูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.8-3.8 ส่วนอัตราการว่างงานยังคงระดับต่ำอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.9สะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานตึงตัว ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
- การประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีสูงและกรณีต่ำ
(1) กรณีสูง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 ภายใต้เงื่อนไข (1) เศรษฐกิจโลกขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.2 ปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรปสามารถได้รับการแก้ไขและบริหารจัดการได้ดีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดด้วยเครื่องมือต่างๆ ของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวเร็ว ไม่ก่อให้เกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรงต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพและปัญหาด้านหนี้สาธารณะระดับสูงและความเปราะบางภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ก่อให้เกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรง (2) สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของไทยไม่มีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และการท่องเที่ยว (3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 95ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล (4) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งและงบลงทุนไม่ล่าช้าและเป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่าย ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 94 ของวงเงินงบประมาณ (5) อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่สูงกว่าร้อยละ 3.5 และ (6) ปัญหาภัยธรรมชาติไม่รุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของผลผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
(2) กรณีต่ำ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.5 ในกรณีที่ (1) เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ต่ำกว่าร้อยละ3.8 (2) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและความขัดแย้งในประเทศมีความรุนแรงส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการผลิตที่สำคัญ (3) ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 95 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล (4)การดำเนินนโยบายด้านการคลังไม่ต่อเนื่องส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนและรายจ่ายประจำไม่เป็นไปตามเป้าหมาย (5) อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าร้อยละ 3.5 ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน และ (6) ปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของผลผลิตภาคการเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น