2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันปี 2553 และแนวโน้ม ปี 2554
- ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสสี่ และทั้งปี 2553
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก: เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวในไตรมาสที่สี่ของปี2553 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 85.24 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ราคาเฉลี่ย 75.63 ดอลลาร์ สรอ. จากทั้งปี 2553ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 78.90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ราคา 61.90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล
-แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2554
ราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2554 คาดว่าจะอยู่ที่ 85-95 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ยที่77.91 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2553 โดยในเดือนแรกของปี 2554 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสเท๊กซัส(WTI) เฉลี่ยเท่ากับ 92.16 และ 89.71 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ตามลำดับ และ ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554อยู่ที่ราคา 97.80 และ 84.99 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ทั้งนี้ หลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการ
ราคาน้ำมัน WTI เพิ่มขึ้น โดย Energy Information Administration (EIA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในช่วง 93 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในปี 2554 ส่วน Business Monitor International ของประเทศอังกฤษ คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี 2554 จะอยู่ที่ 81.93 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในขณะที่ Morgan Stanley และ Goldman Sachs คาดว่าในปี 2554 ราคาน้ำมันดิบ WTI จะมีราคาสูงกว่า 100 และ 105ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าราคาน้ำมัน WTI ในปี 2554 จะสูงกว่าราคาเฉลี่ยในปี2553 ซึ่งเท่ากับ 79.41 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาน้ำมัน ได้แก่ (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่ง EIA คาดว่าในปี 2554 จะมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (3) กำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน และ(4) สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอียิปต์และประเทศแถบตะวันออกกลาง
3. ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสสี่ของปี 2553 และแนวโน้มปี 2554
เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการเร่งการส่งออกเพิ่มขึ้นเพื่อลดการขาดดุลการค้าลง และเร่งการใช้จ่ายในการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและจีนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยหลายประเทศในกลุ่มยูโรโซนยังประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะสะสม จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 5.879 ล้านล้านดอลลาร์สรอ. แซงหน้าญี่ปุ่นซึ่งกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับสามของโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี 2553 จำนวน 5.474 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. อัตราการว่างงานที่สูงยังเป็นปัญหาสำคัญในสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และพลังงาน ทำให้หลายประเทศมีการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ โดยสรุปภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญๆ ดังนี้
- เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 2.8 ลดลงจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่สาม (%YoY) แต่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่สาม (%QoQ, s.a.) เป็นผลจากการเร่งการส่งออกเพิ่มมากขึ้นและลดการนำเข้าลง ทำให้ดุลการค้าขาดดุลลดลง ในขณะที่ดัชนี PMI ในไตรมาส 4/2553อยู่ที่ระดับ 57.9 สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2554 เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 60.8 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการผลิตเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 ในไตรมาสที่สี่ สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 รวมทั้งการซื้อบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.3 จากไตรมาสที่สาม โดยในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงานในไตรมาส 4/2553 เป็นร้อยละ 9.6 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า เมื่อสิ้นไตรมาส 4/2553 มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 14.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี ในเดือนมกราคม 2554 อัตราการว่างงานลดลงเหลือร้อยละ 9.0 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลงเป็น 13.9 ล้านคน โดยรวมคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาทั้งปี 2553 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 สูงขึ้นจากปีก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 2.6 (%YoY)
- เศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่สาม (%YoY) และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.3 เท่ากับไตรมาสที่สาม (%QoQ, s.a.) โดยเศรษฐกิจโปรตุเกส (รวมทั้งสหราชอาณาจักร) หดตัวลงเนื่องจากมาตรการเข้มงวดทางการคลังของรัฐบาลเริ่มส่งผล เศรษฐกิจกรีซยังคงหดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 ในขณะที่เนเธอร์แลนด์ สเปน และเอสโตเนีย ปรับตัวดีขึ้น โดยอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนและการสะสมสินค้าคงคลังยังคงขยายตัว รวมทั้งดุลการค้าและบริการที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง (เกินดุล 0.7 พันล้านยูโร เทียบกับ 16.6 พันล้านยูโรในปีที่แล้ว) เป็นปัจจัยสำคัญของการขยายตัวโดยรวมทั้งปีขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยสวีเดน สโลวาเกีย และเยอรมนี ขยายตัวสูงที่สุด (ร้อยละ 4.8 4.4 และ3.6 ตามลำดับ) ในขณะที่ราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้นทำให้ระดับเงินเฟ้อโดยทั่วไปสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.0 ในไตรมาสสุดท้ายของปี และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2553 สูงถึงร้อยละ 2.2 ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต สำหรับประเทศที่มีระดับเงินเฟ้อสูงที่สุดในกลุ่มยูโรคือสาธารณรัฐเอสโตเนีย (เฉลี่ยร้อยละ 5.0) ในด้านอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับบาท เยน และเหรียญ สรอ. แล้ว ยูโรแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสที่แล้วเล็กน้อย แต่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่าลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น สำหรับอัตราการว่างงานและอัตราดอกเบี้ยยังคงระดับที่ร้อยละ 10 และ 1 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.2 (%YoY) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่สามของปี 2553 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ 0.3 (%QoQ, s.a.) ลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากการส่งออกที่ลดลง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐบางมาตรการได้สิ้นสุดลง โดยทั้งปี2553 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 3.9 สูงขึ้นจากหดตัวร้อยละ 6.3 ของปีก่อนหน้า การบริโภคภาคเอกชนของญี่ปุ่นในไตรมาสสี่หดตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และอัตราการค้าปลีกในไตรมาสที่สี่หดตัวลงร้อยละ 0.4 สะท้อนถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สี่อยู่ที่ระดับ 47.6 ลดลงจากระดับ 50.8 ในไตรมาสที่สาม ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 48.3นับเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันที่ดัชนี PMI ต่ำกว่าระดับ 50 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 10.0 ลดลงจากร้อยละ 17.8ในไตรมาสที่สาม เนื่องจากภาวะชะลอตัวของตลาดส่งออกสำคัญ และค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.2 ลดลงจากร้อยละ 14.5 ในไตรมาสที่สาม ภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นดีขึ้น จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะเงินฝืดยังคงเป็นปัญหาสำคัญ จะเห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสสี่อยู่ที่ร้อยละ 0.1 คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระหว่างร้อยละ 0 ถึง ร้อยละ 0.1 ต่อไป จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าร้อยละ 1 ส่วนอัตราการว่างงานในไตรมาสที่สี่อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า
- เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 9.8 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 9.6 ในไตรมาสที่สามของปี 2553 (%YoY) สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ทั้งปี 2553 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 10.3 เศรษฐกิจของจีนในไตรมาสสุดท้ายของปี2553 ปรับตัวดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของภาคการผลิต ที่สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน ซึ่งอยู่ที่ระดับ54.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 52.2 ในไตรมาสที่สาม ในเดือนมกราคม 2554 ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 52.9 และได้อยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงขยายตัวได้ดีในปี 2554 ส่งผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13.3 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 13.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งปี 2553 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 15.7 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 11.0 ในปีก่อนหน้า ในขณะที่การขยายตัวของจีนยังคงขยายตัวในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อในจีนก็เพิ่มขึ้นเช่นกันโดยในเดือนพฤศจิกายน อัตราเงินเฟ้อได้พุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 สูงสุดในรอบ 28 เดือน แม้จะลดลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 4.6 ในเดือนธันวาคมก็ตาม ส่งผลให้รัฐบาลจีนประกาศใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มสัดส่วนสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อและฟองสบู่ภายในประเทศ โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นถึงสองครั้ง และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเป็นร้อยละ 6.06 จากร้อยละ 5.81 โดยทั้งปี 2553 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.3 สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3.0 และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกในปี 2554 เนื่องจากปัจจัยด้านราคาอาหารที่สูงขึ้น
- เศรษฐกิจอินเดีย การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีความผันผวนค่อนข้างมากในไตรมาสที่สี่ โดยในเดือนตุลาคมอัตราการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.3 และขยายตัวร้อยละ 2.7 และ 1.6 ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาดัชนี HSBC PMI จะเห็นได้ว่าในไตรมาสสี่ดัชนี PMIอยู่ที่ระดับ 57.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 56.5 ในไตรมาสสาม ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจอินเดียทั้งปี 2553 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 8.8 ด้านสถานการณ์เงินเฟ้อของอินเดีย (Whole Sale Inflation- WPI) ในไตรมาสสี่ปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 8.2 เนื่องจากทางการอินเดียได้ใช้นโยบายทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ธนาคารกลางอินเดียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (repo rate)เป็นร้อยละ 6.5 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 6.25 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 7 ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปีและคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมายระยะกลางที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 4.0-4.5 ในขณะที่สัดส่วนทุนสำรองเงินสด (CRR) ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 6
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ12.5 และ 4.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.5 และ 4.4 ในไตรมาสที่สามตามลำดับ จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ไต้หวันขยายตัวร้อยละ 6.5 ลดลงจากร้อยละ 9.8 ในไตรมาสที่สามเนื่องจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน อัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่เร่งขึ้นต่อเนื่องจากราคาอาหารและพลังงาน ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ โดยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ธนาคารกลางไต้หวันปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Discount Rate) ร้อยละ 0.125มาอยู่ที่ร้อยละ1.625 ต่อปี และในวันที่ 13 มกราคม 2554 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.75 ต่อปี
- เศรษฐกิจของออสเตรเลีย ในไตรมาสสี่มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลลดลงแม้ภาคการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์จะยังคงหดตัวต่อเนื่องจากค่าเงินที่แข็งขึ้น โดยราคาอสังหาริมทรัพย์และยอดขายรถยนต์ลดลงต่อเนื่องกระทบต่อการนำเข้าเหล็ก และรถยนต์ (ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ขยายตัวร้อยละ -24.2 -0.3 3.6 และ -4.9 ตามลำดับ) อย่างไรก็ดี ค่าเงินที่แข็งขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศเล็กน้อย เนื่องจากมีอุปสงค์ในประเทศขนาดใหญ่ และสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ และสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ยังมีความจำเป็นต่อตลาดโลก สำหรับการว่างงานยังคงระดับที่ร้อยละ 5 ตลอดช่วงไตรมาสที่ 4 ในขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเล็กน้อย ตลาดเงิน และตลาดทุนยังหดตัวต่อเนื่อง แต่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2551 และ 2552 สำหรับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 0.4 เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.7 ซึ่งน่าจะคงระดับนี้ไปจนถึงกลางปีหน้า โดยรวมคาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียทั้งปี 2553 จะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.7-3.0 ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก และความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินเชื่ออันเนื่องมาจากสัดส่วนภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการควบคุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางซึ่งมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 3.0
- เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน เวียดนามมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 7.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในไตรมาสที่สาม (%YoY) โดยเฉลี่ยทั้งปีขยายตัวร้อยละ 6.8 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 6.5 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนจากภาครัฐ ประกอบกับการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นการส่งออก โดยภาคอุตสาหกรรมและบริการมีสัดส่วนต่อการขยายตัวของ GDP สูงถึงร้อยละ 93 ในขณะที่อินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 6.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสที่สาม (%YoY) แต่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสที่ 3 ทั้งปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 6.1 การที่ราคาอาหารและพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เวียดนามและอินโดนีเซียมีปัญหาเงินเฟ้อระดับสูงต่อเนื่องและสูงกว่ากรอบที่กำหนด ซึ่งน่าจะเป็นแรงผลักดันให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง(6) สำหรับในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ระดับเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลมากนัก
ค่าเงินของสกุลต่างๆ ในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเทียบกับดอลล่าร์สรอ. ยกเว้นเวียดนามที่มีการควบคุมจากภาครัฐให้ทรงตัวในระดับที่อ่อนกว่าค่าที่แท้จริง และมีการปรับลดค่าเงินอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปรับลดลงอีกร้อยละ 8.5 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เนื่องจากมีแรงกดดันจากการขาดดุลบัญชีเงินสะพัดต่อเนื่องจำนวนมหาศาล(7)
หมายเหตุ
(6) ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 เวียดนามได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 200 BPS เป็นร้อยละ 11 จากเดิมร้อยละ 9
(7) ประมาณเกือบ 8 พันล้านเหรียญสรอ. หรือเกือบร้อยละ 8 ของ GDP
- แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปี 2554
จากที่เศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และในอัตราสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ซึนำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของจีนซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการประมาณการของ IMF ณ เดือนตุลาคม 2553 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.8 และล่าสุดเดือนมกราคม 2554 ได้ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปี 2553เป็นร้อยละ 5.0 จากเศรษฐกิจโลกปรับตัวได้ดีในปี 2553 จะเป็นแรงส่งต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2554มีการขยายตัวทีมีเสถียรภาพมากขึ้น
ประเทศสหรัฐอเมริกา การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2553 การว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นโดยเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่สอง (QE2) จำนวน 650 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐอเมริกาขาดดุลน้อยลง ทำให้ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจด้านการค้าและภาคเศรษฐกิจแท้จริงของโลกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่เกิดความไม่สมดุลในระบบการเงินโลก เงินทุนระยะสั้นไหลออกจากยุโรปและสหรัฐฯ ที่มีผลตอบแทนต่ำไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียที่มีผลตอบแทนสูงกว่า จนทำให้ค่าเงินเอเชียแข็งค่าอย่างรวดเร็วพร้อมกับส่งสัญญาณการเกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นในบางประเทศ ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญให้ประเทศในเอเชียจำต้องดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดมากขึ้นในปี 2554
กลุ่มประเทศยูโรโซนยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาหนี้สาธารณะ และปัญหาวิกฤติการเงินของไอร์แลนด์และกรีซ คาดว่าปี 2554 การขยายตัวยังอยู่ในอัตราที่ร้อยละ 1.4 อัตราการว่างงานอยู่ในเกณฑ์ที่สูงที่ร้อยละ10.1 เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ย และมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางยุโรปจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณเช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3 ชะลอลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2553 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการชะลอตัวลงอย่างมากของการส่งออกซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินเยน โดยในปี 2553 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 20-25 (ณ ราคาคงที่) และคาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 5.0-10.0 ในปี 2554 ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคภาครัฐและภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ด้านการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะหดตัว ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ระดับสูง
เศรษฐกิจจีน คาดว่ายังมีการขยายตัวที่เข้มแข็งในปี 2554 ที่ร้อยละ 9.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน อัตราการขยายตัวของการส่งออกยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงพร้อมกับการเติบโตของการลงทุนและการบริโภค อย่างไรก็ตาม มีแรงกดดันเงินเฟ้อ การแข็งค่าของเงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาค และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ในขณะที่มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จีนจะเพิ่มการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจแบบเข้มงวดในปีนี้
กลุ่มประเทศอาเซียน โดยรวมคาดว่าอัตราการขยายตัวของในปี 2554 จะชะลอตัวลงเล็กน้อย และมีภาระของรัฐบาลในการควบคุมเงินเฟ้อ และบริหารอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรักษาดุลการค้าอย่างต่อเนื่องให้ได้