- ด้านการผลิต
สาขาเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ 3.3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง และน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกทั่วทุกภาคของประเทศในช่วงปลายปี ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวเปลือกลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.0 22.5 5.7 และ 5.7ตามลำดับ ส่วนราคาพืชผลขยายตัวร้อยละ 25.7 ตามราคามันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขยายตัวร้อยละ 71.9 59.0 54.0 และ 31.7 ตามลำดับ เป็นผลจากภาวะตึงตัวของอุปทานทั้งในตลาดโลกและภายในประเทศ เนื่องจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ขณะที่อุปสงค์ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ราคาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากเกษตรกรขยายการผลิตตามแรงจูงใจของราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีตลอดสามไตรมาสแรกของปี ส่วนราคาในหมวดประมงขยายตัวร้อยละ 6.9 ตามราคากุ้งที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปทานกุ้งในตลาดโลกลดลงจากปัญหาโรคระบาดในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งปัญหาน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 19.4 รวมทั้งปี 2553 สาขาเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ 2.2 แต่รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0
สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอตัวจากร้อยละ 11.6 ในไตรมาสก่อน กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางสำหรับยานยนต์ ปูนซีเมนต์ และการผลิตเม็ดพลาสติกที่ขยายตัวร้อยละ 21.4 12.8 6.1 7.0 และ 23.5 ตามลำดับ เป็นผลมาจาก (1) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศทำให้ยังมีคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมหลักทั้งต้นน้ำและปลายน้ำเช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกและวัสดุก่อสร้าง (2) การคลี่คลายลงของปัญหามาบตาพุดส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และ (3) การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการประกันรายได้เกษตรกร และการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม คือ (1) การขาดแคลนแรงงานในบางสาขาการผลิต เช่น ยานยนต์ สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์ (2) การขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเล และ (3) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตทั้งในส่วนวัตถุดิบ พลังงานและค่าประกอบการ
อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 63.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 60.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำ ลังการผลิตเกินร้อยละ 80 ได้แก่อุตสาหกรรมเคมีขั้นมูลฐาน การผลิตเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 82.6 98.5 89.2 และ 84.7 ตามลำดับ รวมทั้งปี 2553 สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13.8
สาขาก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 6.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนจากการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อน ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 9.4 ชะลอตัวจากร้อยละ 12.8 ในไตรมาสก่อน สะท้อนได้จากจำนวนพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างที่หดตัวร้อยละ 23.7 โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ 15.9 และ 52.9ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการขออนุญาตก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1ต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่สี่ จากการเพิ่มขึ้นของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และราคาไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ร้อยละ 4.4 และ 4.1 ตามลำดับ ส่วนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีตลดลงร้อยละ 3.5 และ 0.4 ตามลำดับรวมทั้งปี 2553 สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 6.8
สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 2.1 ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้อุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เห็นได้จากปริมาณสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.2 ประกอบกับการเร่งโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในเดือนสุดท้ายของปีเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV)(1) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ทำให้จำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 88.5 เทียบกับไตรมาสก่อน ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งดัชนีราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.0 และ 3.6 ตามลำดับ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง ส่วนดัชนีราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.1 ในไตรมาสสาม รวมทั้งปี 2553 สาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 3.8
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 7.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาเมืองไทยจำนวน 4.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย เกาหลี และจีน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.241.1 และ 26.6 ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 54.1 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 38.9 และ46.7 ในไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร และเยอรมันเดินทางมาประเทศไทยลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่สองเป็นต้นมา เนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว รวมทั้งปี 2553 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 15.8ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
การท่องเที่ยวภายในประเทศยังขยายตัว สะท้อนจากจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารของสายการบินราคาต่ำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 และ 26.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งปี 2553 สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 8.4
หมายเหตุ
(1) ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการกำหนด LTV ratio เพื่อเป็นหลักเกณฑ์สำหรับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการซื้อคอนโดมิเนียม กล่าวคือ สถาบันการเงินสามารถกำหนดวงเงินสินเชื่อที่ให้กับลูกหนี้โดยเทียบกับมูลค่าซื้อขายไม่เกินร้อยละ 90 หากเกินร้อยละ 90 สถาบันการเงินดังกล่าวต้องมีเงินกองทุนรองรับ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับลูกค้าที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป
การจ้างงาน ไตรมาสที่สี่ ปี 2553 มีการจ้างงาน 38.44 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการจ้างงานของภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.3 เป็นผลมาจากการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาก่อสร้าง และสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.8 3.0 และ 2.1 ตามลำดับ
สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสที่สี่ มีจำนวน 3.37 แสนคน ลดลงจำนวน 0.47 แสนคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 12.2 โดยมีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 ส่งผลให้จำนวนผู้ขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงร้อยละ 11.1
รวมทั้งปี 2553 การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 มีผู้ว่างงานเฉลี่ย 4.03 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ส่วนตลาดแรงงานยังตึงตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่ในไตรมาสที่หนึ่งถึงไตรมาสที่สี่ เท่ากับ 1.0 0.7 1.0 และ 1.2 ตามลำดับ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังขาดแคลนแรงงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น
-ภาวะการคลัง:
ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน การจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณก่อนและการเบิกจ่ายงบประมาณสูงกว่าเป้าหมาย รวมทั้งยอดหนี้สาธารณะลดลงเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นไตรมาสก่อน
ในไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม— ธันวาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 392,328 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 41,050.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.7 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งยังคงรักษาระดับการขยายตัวค่อนข้างสูงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีงบประมาณก่อน เป็นผลมาจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการบริโภคและการซื้อสินค้าคงทน โดยภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เป็นต้น
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 598,371.0 ล้านบาท การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีจำนวน45,048.0 ล้านบาท และงบประมาณปี 2554 จำนวน 553,323.0 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 28.9สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 20.0 โดยเป็นการเบิกจ่ายในส่วนของรายจ่ายงบประจำ 520,091.0 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 31.3 ของงบรายจ่ายประจำ และรายจ่ายงบลงทุน 33,226 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของงบรายจ่ายลงทุน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 10
โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ สิ้นสุดไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554 ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 334,914.3 ล้านบาท เป็นเงินจัดสรรที่ได้รับจากการอนุมัติรอบ 1 จำนวน 192,646.4ล้านบาท และการอนุมัติรอบ 2 จำนวน 142,267.9 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ได้มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น จำนวน257,061.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.8 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรแล้ว
ฐานะการคลังในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554 ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุล168,914 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 206,043 ล้านบาท และการเกินดุลเงินนอกงบประมาณจำนวน 37,129 ล้านบาท รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน รวมทั้งสร้างความมั่นคงของฐานะการคลัง โดยการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 53,021 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุล 115,893 ล้านบาทและเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น313,429 ล้านบาท
หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 มีจำนวน 4,166,322 ล้านบาท ลดลง 64,423 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 จากสิ้นเดือนกันยายน 2553 โดยมีสัดส่วน 2553 คิดเป็นร้อยละ 41.4 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ42.3 ของ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553
-ภาวะการเงิน
อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในไตรมาสสี่ของปี 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.75 ณ สิ้นไตรมาสสาม 2553 เป็นร้อยละ 2.00 ณ สิ้นไตรมาสสี่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง และภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสสี่ เพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย
ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2553 ในช่วงครึ่งปีแรกเป็นการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ต่อมาในครึ่งปีหลังเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 3 ครั้ง และล่าสุดในเดือนมกราคม 2554ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน สำหรับประเทศในภูมิภาคที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2554 เพื่อลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่ประเทศเกาหลีใต้ อินเดีย และจีน
อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 1.26 และ 6.00 ต่อปี ณ สิ้นไตรมาสสาม มาอยู่ที่ร้อยละ 1.55 และ 6.12 ต่อปี ณ สิ้นไตรมาสสี่ ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อ ณ สิ้นไตรมาสสี่เท่ากับร้อยละ 3.0 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงเท่ากับร้อยละ -1.45และ 3.12 ต่อปีตามลำดับ
เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยตั๋วแลกเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2 เนื่องจากการเร่งระดมเงินเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต
ในขณะที่สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ขยายตัวร้อยละ 12.5 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 10.8 ในไตรมาสที่สาม จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นในทุกสาขาตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวนบัตรเครดิตลดลงแต่ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น และปริมาณการใช้จ่ายของคนไทยขยายตัวสูง สัดส่วน NPLs2ต่อสินเชื่อคงค้างลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อน จากการรับชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และจำหน่ายหนี้ เป็นสำคัญ
ทั้งปี 2553 เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งการครบกำหนดของกองทุนพันธบัตรเกาหลี สำหรับสินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
สัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 90.5 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 92.1 จากการที่สินเชื่อขยายตัวมากกว่าเงินฝาก ส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงเล็กน้อยจาก 1.26 ล้านล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 1.24 ล้านล้านบาท แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีศักยภาพในการสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต
อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไตรมาสที่สี่ของปี2553 เท่ากับ 29.988 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.99 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 9.84 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น ตามการไหลเข้าของเงินลงทุนจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของสหรัฐฯ (Quantitative Easing Measures: QE) ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย ซึ่งมีแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.52 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER)เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85
ตลอดปี 2553 เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 29.563 — 33.255 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 31.665 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 7.60 เมื่อเทียบกับปี 2552และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.48
ล่าสุดในเดือนมกราคม 2554 การแข็งค่าของเงินบาทเริ่มชะลอตัวลง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 30.580 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. และเฉลี่ยในวันที่ 1-17 กุมภาพันธ์เท่ากับ 30.765 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ(3) ในไตรมาสที่สี่ ปี 2553 เงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุล 3.02 พันล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงอย่างมากจาก 7.31 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการขาดดุลของภาคนอกธนาคารที่ 2.25 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการเกินดุลที่ 1.72 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่ 3 ตามการเพิ่มขึ้นของธุรกรรมการให้สินเชื่อการค้าแก่คู่ค้าต่างชาติของผู้ส่งออกไทยเป็นสำคัญ
ในปี 2553 เงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุล 15.21 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวจากการขาดดุลสุทธิที่ 2.78 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2552 ซึ่งเป็นผลจากปรับตัวดีขึ้นในทุกภาค โดยเฉพาะภาคธนาคารที่มีการนำเข้าเงินกู้ระยะสั้นจากธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาทของผู้ส่งออกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเงินทุนไหลเข้าในภาครัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย จากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดรอง
หมายเหตุ
(3) ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้าย ณ สิ้นไตรมาสสี่ปี 2553 เป็นตัวเลขประมาณการที่อ้างอิงจากข้อมูลเร็วบางส่วนจากธนาคารแห่งประเทศไทยและจะมีการปรับในเดือนถัดไป
ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 5,509 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 164,910 ล้านบาท) เกินดุลต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วที่เกินดุล 2,047 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นผลจากการเกินดุลการค้า 4,072 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ และเงินโอน 1,436 ล้านดอลลาร์ สรอ.
รวมทั้งปี 2553 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14,784 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ และเงินโอน 753 ล้านดอลลาร์ สรอ.
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในปี 2553 เท่ากับ 172.13 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจาก 138.42 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2552 หรือขยายตัวร้อยละ 34.4 เมื่อเทียบกับปี 2552 และ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2554เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เท่ากับ 173.98 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net Forward Position อีก 19.30พันล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4.1 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 3.6 เดือน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สี่ของปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้เป็นหลัก ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ส่วนดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ1.4 สาเหตุหลักมาจากการยกเลิกมาตรการลดภาระค่าครองชีพเกี่ยวกับค่าน้ำประปาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน2553 ส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าน้ำประปาเพิ่มขึ้น ตลอดจนการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (นอกเหนือจากราคาอาหารสดและพลังงาน) เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ร้อยละ 1.2 แสดงถึงราคาสินค้าทั่วไป มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2553 ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่คาดว่าจะสูงขึ้นในปี 2554 และรักษาเสถียรภาพของระดับราคาภายในประเทศ
ทั้งปี 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.3 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเท่ากับร้อยละ 5.4และมิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ทั้งนี้ มาตรการเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาลได้ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย ค่าหนังสือ อุปกรณ์การศึกษา และเครื่องแบบนักเรียนลดลง(4)
ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สี่ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 6.3 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตเกษตรอันเนื่องมาจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ในขณะที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะราคาวัตถุดิบที่มิใช่อาหาร และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหารสด ซึ่งมีความผันผวนสูงและอาจเป็นสถานการณ์ที่ทำให้กำไรส่วนเพิ่มของผู้ประกอบการลดลง ซึ่งจะนำไปสู่การขอปรับขึ้นราคาสินค้าในปี 25545
หมายเหตุ
(4) ในเดือนมกราคม 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.0 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 1.3
(5) ในเดือนมกราคม 2554 ดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวร้อยละ 6.0
ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิลดลง ในไตรมาสที่สี่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,032.8 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จาก 975.3 จุด ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนของกองทุนในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้นักลงทุนมีการขายหลักทรัพย์เพื่อทำกำไรในบางส่วน โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 40.1 พันล้านบาท ลดลงจาก 60.0 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 35.7 พันล้านบาท เป็น 35.9 พันล้านบาท
ทั้งปี 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 40.6 โดยเร่งตัวขึ้นมากในช่วงครึ่งปีหลังเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมีการคาดการณ์ผลตอบแทนจากราคาหลักทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งปีนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสะสม 81.7 พันล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นมาก มูลค่าการซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด(Outright) ในไตรมาสที่สี่อยู่ที่ 77.0 พันล้านบาทต่อวัน ลดลงเล็กน้อยจาก 78.6 พันล้านบาทต่อวัน ในไตรมาสที่สาม นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสูงถึง 142.2 พันล้านบาท จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของภูมิภาคเอเชียประกอบกับผลของการยกเลิกการยกเว้นภาษีกำไรจากการขายตราสารหนี้ ภายใต้มาตรการลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมีค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ อุปทานที่มีมากในตลาด ทำให้ระดับราคาปรับลดลง
ทั้งปี 2553 มูลค่าการซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright) เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2552 นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 323.7 พันล้านบาท เทียบกับการซื้อสุทธิ 26.9 พันล้านบาทในปีก่อนหน้า โดยมีแรงซื้อเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งปีหลัง ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเป็นขาขึ้น
การระดมทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีมูลค่ารวม 275.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 267.5 พันล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในตราสารหนี้ 258.8 พันล้านบาท จากธุรกิจภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนการระดมทุนในตราสารทุนอยู่ที่ 16.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.23 สะท้อนการปรับตัวที่ดีขึ้นของตลาดตราสารทุน
ในปี 2553 การระดมทุนของภาคเอกชนมีมูลค่ารวม 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2552 โดยการระดมทุนผ่านตราสารหนี้อยู่ที่ 965.7 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าตามวัฎจักรอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเป็นขาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่การระดมทุนผ่านตราสารทุนปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 219.66 มาอยู่ที่ 94.3 พันล้านบาท ตามภาวะตลาดตราสารทุนที่ปรับตัวดีขึ้น