2. ประมาณการเศรษฐกิจปี 2550
เศรษฐกิจไทยในปี 2549 โดยรวมขยายตัวได้ดีและมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานต่ำ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลง แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อลดลงมาก ซึ่งแรงกดดันด้านราคาและการเงินที่ลดลงมากประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวทำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงต้นปี 2550 และสถาบันการเงินบางแห่งได้เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตาม ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จึงคาดว่าปัจจัยบวกเหล่านี้จะสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2550
แต่อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ต้องระมัดระวังในปี 2550 ทั้งปัจจัยภายนอกและข้อจำกัดภายในประเทศ โดยที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอกประกอบด้วย ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนำโดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งการปรับตัวจากความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะรุนแรงและเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนลงต่อเนื่อง ในขณะที่การขาดดุลแฝดยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบอาจจะเพิ่มสูงกว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2550 และมีความผันผวนได้เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ในเรื่องการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศอิหร่านยังไม่คลี่คลาย สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้นต้องระมัดระวังภาวะการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ โดยจะต้องสร้างความเข้าใจและความมั่นใจของประชาชนทั่วไปและของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และดำเนินมาตรการที่จะสร้างโอกาสในการค้าและลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวได้อย่างมีเสถียรภาพและไม่เกิดภาวะชะลอตัวรุนแรง
2.1 ปัจจัยบวก / สัญญาณ สำหรับเศรษฐกิจปี 2550
2.1.1 แรงกดดันด้านราคาและภาวะการเงินลดลง จะเป็นปัจจัยบวกต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของประชาชน
(1) ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มทรงตัวในปี2550 ในปี 2549 ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงมากตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนและต่อเนื่องถึงช่วงปลายปี2549 แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่สูงในช่วง 8เดือนแรกทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2549 เท่ากับ 61.52 ดอลลาร์ สรอ. สูงขึ้นร้อยละ 24.2 ราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2549 จูงใจให้กลุ่มโอเปคลดกำลังการผลิต 1 ครั้งในเดือนพฤศจิกายนและลดอีก 1 ครั้งโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันยังลดลงต่อเนื่องจนถึงล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2550 นี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลง ต่อเนื่อง ประกอบด้วย (i) ปริมาณความต้องการน้ำมันชะลอตัว (ii) ปริมาณน้ำมันในสินค้าคงคลังของกลุ่มประเทศ OECD เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับปกติ(iii) อุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยตามฤดูกาลปกติ และ (iv) กำลังการผลิตที่มีพร้อมที่จะทำการผลิตภายในระยะเวลา 3 เดือน (spare capacity) เพิ่มสูงขึ้นเป็นเกือบ 2 ล้านบาเรลต่อวันในช่วงปลายปี 2549 จากระดับ 1.5 ล้านบาเรลต่อวันในช่วงเดียวกันของปี 2548
สำหรับในปี 2550 คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีจะใกล้เคียงกับในปี 2549 โดยที่ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในช่วงต้นปีและปรับเพิ่มในช่วงปลายปีเนื่องจากความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปริมาณการผลิต แต่กำลังการผลิตที่มีพร้อมที่จะทำการผลิตภายในระยะเวลา 3 เดือนที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันราคาน้ำมัน ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 International Energy Agency (IEA) คาดว่าในปี 2550 ปริมาณการผลิตน้ำมันรวมของโลกจะเท่ากับ 86.0 ล้านบาเรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากปี 2549 ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวันละ 85.1 ล้านบาเรลต่อวันในปี 2549 เป็นวันละ 86.7 ล้านบาเรล โดยเพิ่มขึ้น 1.6 ล้าน บาเรลต่อวัน เทียบกับที่เพิ่มขึ้นวันละ 0.6 ล้านบาเรลในปี 2549 โดยที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกนั้นเป็นของสหรัฐฯและจีน ประกอบกับความต้องการใช้ของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเองก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เป็นที่คาดว่าปริมาณสต็อกน้ำมันของประเทศ OECD จะลดลงสู่ระดับปกติในช่วงกลางปี2550 และเมื่อประกอบกับความต้องการที่ยังสูงกว่า
ในปี 2549 จึงคาดว่าราคาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2550 แต่โดยภาพรวมราคาเฉลี่ยทั้งปีจะใกล้เคียงกับในปี 2549 ซึ่งราคาน้ำมันดิบสูงมากในช่วงครึ่งแรกของปี
* ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 กรมสารนิเทศการพลังงาน กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (EIA)คาดว่าราคาน้ำมันดิบอ้างอิง West Texas Intermediate (WTI) ในปี 2550 จะอยู่ที่ระดับ59.50 ดอลลาร์ สรอ. ต่ำกว่าบาเรลละ 66 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2549 โดยปกติราคาอ้างอิง WTI จะสูงกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบประมาณบาเรลละ 3-5 ดอลลาร์ สรอ.(3)
* ณ วันที่ 2 มีนาคม 2550 Lehman Brothers คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 2550 จะเท่ากับ บาเรลละ 69 ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากบาเรลละ 66 ดอลลาร์ในปี 2549 โดยเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะสูงกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบประมาณบาเรลละ 3-8 ดอลลาร์ สรอ.(4)
สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 9 5 ภายในประเทศลดลงจากลิตรละ 28.49 บาท ณ วันที่ 1 กันยายน 2549 เป็นลิตรละ 25.69 ณ วันที่ 1 ธันวาคม และล่าสุด ณ วันที่ 2 มีนาคม 2550 ราคา ลิตรละ 26.39 บาท สำหรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลงจากลิตรละ 27.54 บาท เป็นลิตรละ 23.84 บาทในช่วงเวลาเดียวกัน และล่าสุดเท่ากับลิตรละ 23.34 บาท
**********************************************************************************************************
(3) Short-Term Energy Outlook, EIA, 6 February 2007
(4) Global Weekly Economic Monitor, Lehman Brothers, 2 March 2007
**********************************************************************************************************
(2) อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงซึ่งจะทำให้กำลังซื้อที่แท้จริงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากร้อยละ 5.9 ในครึ่งแรกปี 2549 เป็นร้อยละ 3.5 ในครึ่งหลังของปี และลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 3.0 และ 2.3 ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ปี 2550 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเป็นร้อยละ 1.6 และ 1.4 ในช่วง 2 เดือนแรกปี เทียบกับร้อยละ 2.3 ในปี 2549 อัตรา เงินเฟ้อลดลงเนื่องจาก ราคาน้ำมันลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี เงินบาทแข็งค่าขึ้น และผลของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้า ประกอบความเชื่อมั่นของประชาชนที่อยู่ในระดับต่ำทำให้อุปสงค์ชะลอตัว และคาดว่าแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องในปี 2550 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัวลงชัดเจนโดยเฉพาะในกลุ่มเหล็กและราคาสินค้าเกษตร และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นช่วยลดต้นทุนสินค้านำเข้า รวมทั้งการใช้จ่ายที่ยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัว
(3) อัตราดอกเบี้ยลดลงและมีแนวโน้มปรับลดลงอีกในช่วงที่เหลือของปี 2550 เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง อุปสงค์ภายในประเทศอยู่ในช่วงชะลอตัว ในขณะที่สภาพคล่องทางการเงินอยู่ในระดับสูง และค่าเงินบาทแข็งขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 จุดในการประชุมเมื่อวันที่ 17 มกราคม และล่าสุดปรับลดลงอีก 25 จุด เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ลดลงเป็นร้อยละ 4.50 และต่ำกว่า Fed Fund rate อยู่ 75 จุด ด้านสถาบันการเงินได้เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา โดยเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลงเป็นแห่งแรกจากร้อยละ 7.75 เป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารใหญ่ 5 แห่งอยู่ที่ร้อยละ 3.875 ลดลงจากสิ้นปี 2549 ร้อยละ 0.63 ทางด้านสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงร้อยละ 0.25-0.5 และธนาคารอาคารสงเคราะห์ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ลูกค้ารายย่อยลงจากร้อยละ 7.75 เป็นร้อยละ 7.5 สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2550 นั้นคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกประมาณ 50-100 จุด แต่อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยแท้จริงจะค่อนข้างทรงตัวเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลง ดังนั้นแรงกระตุ้นจากนโยบายการเงินอาจจะมีจำกัด
(ยังมีต่อ).../2.1.2 รายได้จาก