๑) การเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ที่จำเป็น โดยในการจัดตั้งกองพลพัฒนาและพิทักษ์ทรัพยากรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการ ช่วงปี ๒๕๔๘ - ๒๕๕๑ นั้น จนถึงมีนาคม ๒๕๕๐ ได้มีหน่วยที่จัดตั้งเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยกองบังคับการและกองร้อยบังคับการกองพล กองพันทหารช่าง กองร้อย เสนารักษ์ กองร้อยวิทยุและศูนย์ข่าว และกรมพัฒนาพิทักษ์ทรัพยากร ๒ กรม ในส่วนของทหารพราน ได้จัดตั้งไปแล้ว ๒ กองบังคับการ กรมทหารพราน ๓๐ กองร้อยทหารพราน และ ๗ หมู่ทหารพรานหญิง สำหรับเจ้าหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของ ศอ.บต. ทั้งสิ้นรวม ๑๙๙ อัตรา
๒) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร ได้มีการนำอุปกรณ์ระบบเฝ้าระวังแบบไร้สาย นอกจากนี้ได้เตรียมดำเนินการจัดตั้ง
ศูนย์บริหารจัดการวิกฤติการณ์ด้านการสื่อสาร เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดระบบการสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งระบบหลักและระบบสำรอง โดยให้สามารถใช้งานได้ทุกสถานการณ์ และดำเนินการสำรวจจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางด้านระบบสื่อสาร
ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เช่น ระบบวิทยุสื่อสาร ระบบสื่อสัญญาณและระบบสื่อสารดาวเทียม เป็นต้น เพื่อมาพัฒนาใช้ร่วมกับระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) และจัดเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนและรองรับภารกิจการจัดตั้งศูนย์บริหารวิกฤติการณ์ด้านการสื่อสาร เพื่อเฝ้าระวังและพร้อมเผชิญแผนจากภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสื่อสาร รวมทั้งคุ้มครองโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
๓) การจัดระบบการประชาสัมพันธ์สื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน โดยมีช่องทางการสื่อสารผ่านทางสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ โดยได้ผลิตรายการเผยแพร่ทางเครือข่ายวิทยุเพื่อความมั่นคงทุกคลื่นความถี่ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และประชาสัมพันธ์กิจกรรมเชิงบวกในพื้นที่ เช่น การเผยแพร่รายการ รอบรั้วชายแดนใต้ รวม ๑๐๗ ครั้ง รายการ สีสันก่อนวันใหม่ รวม ๑๕๐ ครั้ง และรายการ ใต้สันติสุข รวม ๑๕๐ ครั้ง โดยในการจัดรายการเหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถโทรศัพท์ร่วมแสดงความคิดเห็นในรายการ ตลอดจนมีการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ เช่น รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด และแม่ทัพภาคที่ ๔ เป็นต้น เกี่ยวกับนโยบายด้านความมั่นคงและประเด็นสำคัญอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีความรักสามัคคีไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ตลอดจนให้ความร่วมมือสอดส่องดูแลชุมชนจากภัยก่อการร้ายและแจ้งเบาะแสกับทางราชการเพื่อให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ นอกจากนี้ได้มีการจัดทำสื่อในรูปแบบรายการต่าง ๆ เผยแพร่ เช่น รายการข่าว สารคดี บทความ และเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อวิทยุ ๑๗,๓๖๔ ครั้ง รวมเวลา ๑,๖๓๐ ชั่วโมง ๔๖ นาที และประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ จำนวน ๑๖ ครั้ง รวมเวลา ๑ ชั่วโมง ๒๑ นาที
๔) การจัดทำฐานข้อมูลสนับสนุนงานข่าว ดำเนินการรวบรวมข้อมูลกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรวม ๕๐,๐๐๐ ราย โดยสามารถวิเคราะห์
ข้อมูลเพื่อการตรวจค้น จับกุม รวม ๕๘ ครั้ง มีการวางระบบเชื่อมเครือข่ายประสานข้อมูลธุรกรรมทางการเงินจากบัญชีธนาคาร เพื่อขยายผลการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่รวมทั้งการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษที่เกี่ยวกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ รวม ๓ คดี กลุ่มทุจริตโครงการของรัฐ ๑ คดี และกลุ่มผู้มีอิทธิพล ๙ คดี ตลอดจนจัดทำสรุปสำนวนคดีเสนอให้อัยการพิจารณาอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ได้มีการตรวจสอบติดตามอาวุธปืนของทางราชการ รวม ๖ คดี และการพิจารณากรณีการร้องขอความเป็นธรรม จนกระทั่งได้ยุติเรื่องเรียบร้อยแล้ว ๕๒ เรื่อง
๕) การจัดระเบียบหมู่บ้านและมวลชน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการวางรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นอีกทั้งยังจัดสรรงบประมาณสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติราชการประจำตำบลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน ๒๕๐ ตำบล รวมทั้งได้เพิ่มอัตรากำลังผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ(ผรส.) ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของสงขลา (จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย) รวม ๓๐๐ หมู่บ้าน หมู่บ้านละ ๕ คน รวมจำนวน ๑,๒๐๐ อัตรา และให้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเป็นค่าตอบแทนตำแหน่ง ค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนและเงินสวัสดิการอื่น ๆ ทั้งนี้ ได้มีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอ/กิ่งอำเภอ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน จำนวน๒๐ อำเภอ อำเภอละ ๘ กล้อง รวม ๑๖๐ กล้อง แบ่งเป็นจังหวัดปัตตานี ๗๒ กล้องยะลา ๕๖ กล้อง และนราธิวาส ๓๒ กล้อง
๒.๑.๒ การจัดทำแผนปฏิรูปสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์ แม้ว่าจะมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต แต่รัฐบาลก็มุ่งมั่นดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อดูแลการดำรงชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต ซึ่งมีแนวทางการจัดทำแผนปฏิรูปสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย
๒.๑.๒.๑ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย (๑) ทางหลวงหมายเลข ๔๐๖๖ นราธิวาส - ยะลา ช่วงบ้านตะโล๊ะหะลอ - บ้านปาลอปาเต๊ะ ทางหลวงหมายเลข ๔๐๙ ยะลา ช่วงยะลา - บ้านเนียง (ส่วนที่ ๑) ทางหลวงหมายเลข ๔๑๐ ช่วงยะลา - เบตง และทางหลวงหมายเลข ๔๒๗๓ ช่วงบันนังสตา - ศรีสาคร และ (๒) ทางหลวงหมายเลข ๔๑๘ ปัตตานี - ยะลา ช่วงบ้านคลองขุด - บ้านท่าสาป โดยจะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์โดยเร็ว
๒.๑.๒.๒ การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ได้สนับสนุนเงินทุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลในพื้นที่นำร่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม ๘๘ อำเภอ
๒.๑.๒.๓ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาและมาจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการทำงานพัฒนาพื้นที่ของ ศอ.บต. นอกจากนี้ ได้มีกิจกรรมการเสวนาร้านน้ำชาสภากาแฟ โดยการปรับทุกข์ผูกมิตรระหว่างข้าราชการกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในลักษณะเวทีประชาคมเพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์เชื่อถือข้อมูลข่าวสารของทางราชการเป็นหลัก
๒.๑.๒.๔ การส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะการสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม ซึ่งประกอบด้วย (๑) จัดสรร
ค่าตอบแทนแก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด รวม ๑๐,๗๐๗ คน เป็นเงิน ๒๐.๔๑ ล้านบาท (๒) อำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีมุสลิมไทย รวม ๑๑,๐๐๐ คน (๓) ประสานงานเชิญนักอ่านคัมภีร์อัลกุรอานจากประเทศสมาชิกอาเซียน ๙ ประเทศร่วมอ่านคัมภีร์อัลกุรอานในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย และ (๔) สนับสนุนค่าใช้จ่ายดูแลรักษาระบบสาธารณูปโภคและสภาพภูมิทัศน์ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ ๔.๗๖ แสนบาท
๒.๑.๒.๕ การพัฒนาการศึกษา รัฐบาลได้พัฒนาการศึกษาในพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่บูรณาการกับความมั่นคง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ศาสนา และชาติพันธุ์ โดยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สร้างโอกาสทางการศึกษาทุกระดับทั้งในและนอกระบบและได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและส่งเสริมการศึกษาเพื่อความสมานฉันท์ เช่น พัฒนาการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวน ๑๒ แห่ง เปิดสอน ๒ หลักสูตร (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรอิสลามศึกษา) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีโรงเรียนคู่ขนาน โดยให้โรงเรียนประถมศึกษาของรัฐ ร่วมมือกับศูนย์การศึกษาศาสนาอิสลามประจำมัสยิด(ตาดีกา) จำนวน ๗๐ คู่ ส่งเสริมการจัดโครงการค่ายเยาวชน ICT ในโรงเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๗ สำนักงานเขต พื้นที่การศึกษา มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ ๑,๔๐๐ คน สนับสนุน ทุนการศึกษาให้นักเรียน นักศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวนไม่ต่ำกว่า ๙๐๐ ทุน อีกทั้งอนุมัติโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพที่มีสาเหตุจากการขอโยกย้ายออกนอกพื้นที่ของบุคลากรที่มีภูมิลำเนานอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นการตอบสนองความต้องการด้านบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ โดยรับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๓,๐๐๐ คน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๑.๒๖ ล้านบาท อุดหนุนการพัฒนาโรงเรียนสอนจริยธรรม (ตาดีกา) ๗๐ ล้านบาท อุดหนุนค่าตอบแทนผู้สอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และฝึกอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป รวมทั้งเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ครูผู้สอนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตลอดจนตั้ง กองทุนเสมาห่วงใย รวมใจสู้สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
(ยังมีต่อ).../๒.๒ การสร้างความ..