(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ปี 2549 และแนวโน้มปี 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 12, 2007 15:00 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          (2.1) แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2549 เป็นการส่งออกสุทธิทั้งสินค้าและบริการโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และภาคบริการท่องเที่ยว โดยที่ปริมาณการส่งออกสุทธิทั้งสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.7  เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 16.5  ในปี 2548 สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศรวม (รวมส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ) ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 ต่ำกว่าที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 ในปี 2548 ดังนั้นในปี 2549  ภาคการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับการส่งออกจึงได้ประโยชน์จากสถานการณ์เศรษฐกิจมากกว่าผู้มีรายได้ประจำหรือพึ่งพิงความต้องการของตลาดในประเทศ  โดยที่การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า จึงมีแรงผลักต่อเนื่องต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้จำกัด 
* การส่งออกทั้งปี 2549 มีมูลค่า 128,220 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 หรือเท่ากับ 4,849,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้มูลค่าในรูปเงินบาทเพิ่มไม่มาก การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นตลอดปี และมีการพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องรับโทรทัศน์ และเครื่องรับวิทยุ ที่กระตุ้นความต้องการตลาดให้หันมานิยมโทรทัศน์จอแอลซีดีและพลาสมา และส่วนหนึ่งเป็นการเร่งส่งออกโทรทัศน์ไปยังสหรัฐก่อนที่จะมีการพิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีอากร (GSP) สินค้าเครื่องรับโทรทัศน์ที่ให้กับประเทศไทยในปี 2550 นอกจากนั้นราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นสูงทั้งราคาข้าว และยางพารา และราคาสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปีทำให้มูลค่าส่งออกโดยรวมขยายตัวสูง
อย่างไรก็ตามปริมาณการส่งออกชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี จากการขยายตัวร้อยละ 13.9 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 10.9 4.9 และ 8.7 ในไตรมาสที่สอง ไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงสัญญาณการชะลอตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์และการลงทุนในประเทศต่าง ๆ
ประกอบกับฐานปริมาณการส่งออกที่สูงมากในไตรมาสที่สาม ปี 2548 ทำให้การขยายตัวในไตรมาสสามปี 2549 อยู่ในระดับต่ำ ทั้งปี 2549 ปริมาณและราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และ 7.2 ตามลำดับ
สำหรับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ จากเฉลี่ย 40.98 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สี่ปี 2548 เป็นเฉลี่ย 39.29, 38.07, 37.64 และ 36.53 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่หนึ่ง สอง สาม และสี่ของปี 2549 ตามลำดับโดยที่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเพิ่มขึ้นชัดเจน (Real Effective Exchange Rate: REER) ยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศและใช้แรงงานในการผลิตเข้มข้น อาทิ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น รองเท้า เป็นต้น จะได้รับผลกระทบต่อผลประกอบการมากกว่าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงและใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นสำคัญ เนื่องจากการแข่งขันสูงทำให้ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาในรูปดอลลาร์ สรอ. ได้ ในขณะที่ต้องรับภาระด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมัน ในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งในการนำเข้าวัตถุดิบ
* ในปี 2549 การนำเข้ามีมูลค่า 125,975 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.0 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 ของปี 2548 โดยทุกกลุ่มสินค้านำเข้าชะลอตัว โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้ากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 ชะลอตัวจากร้อยละ 59.1 ของปี 2548 เนื่องจากราคาเริ่มอ่อนตัวลงและปริมาณการนำเข้าลดลง สินค้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าส่งออกและเพื่อการใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และสินค้าทุนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.9 ตามการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน
* ดุลการค้าในปี 2549 เกินดุล 2,245 ล้านดอลลาร์ สรอ. แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีดุลการค้าขาดดุล 1,929 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยที่ดุลน้ำมันขาดดุล 15,288 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ดุลสินค้าที่มิใช่น้ำมันเกินดุล 14,810 ล้านดอลลาร์ สรอ. และเมื่อรวมกับการเกินดุลบริการ รายได้และเงินโอน 996 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,240 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP
(2.2) การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวต่อเนื่องและชัดเจนในปี 2549 โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 และ 3.9 ตามลำดับชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 10.9 ในปี 2548 จากผลกระทบของราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนนั้นชะลอตัวลงมากทั้งการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนก่อสร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงและอัตราดอกเบี้ยสูงได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง และนักลงทุนบางส่วนชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไปแม้ว่าโดยภาพรวมอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 72 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 74.2 ในปี 2549
(2.3) การใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐชะลอตัว โดยการใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัวเพียงร้อยละ 3.4 เทียบกับที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากร้อยละ 11.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ล่าช้าออกไป
(2.4) ในปี 2549 ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือลดลงถึง 37,613 ล้านบาทเมื่อวัดมูลค่า ณ ราคาปี 2531 เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 68,280 ล้านบาทในปี 2548 โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี ส่งผลให้สต็อกสินค้าส่งออกสำเร็จรูปลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การลดการสะสมสินค้าคงเหลือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณการนำเข้าในปี 2549 ลดลงได้แม้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัว การลดการสะสมสินค้าคงคลังในปี 2549 จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นในปี 2550
(ยังมีต่อ).../(2.5) การผลิต..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ