ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สอง และแนวโน้มปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 19, 2011 15:51 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2554 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                            2553                                 2554
    (% YOY)                                                                 ประมาณการ
                        Q4        ทั้งปี               Q1           Q2          ปี 2554
GDP (ณ ราคาคงที่)        3.8           7.8           3.2           2.6         3.5-4.0
การลงทุนรวม             6.4           9.4           9.3           4.1           6.2
(ณ ราคาคงที่)
          ภาคเอกชน     9.2          13.8          12.6           8.6           8.7
          ภาครัฐ       -3.1          -2.2          -1.4          -9.9          -1.5
การบริโภครวม            3.8           5.1           3.0           2.5           3.3
(ณ ราคาคงที่)
          ภาคเอกชน     3.9           4.8           3.3           2.8           3.3
          ภาครัฐบาล     3.2           6.4           1.8           1.0           3.0
มูลค่าการส่งออกสินค้า      21.1          28.5          27.4          19.2          16.5
(US$)
          ปริมาณ       12.2          17.3          18.6           9.2           9.7
มูลค่าการนำเข้าสินค้า      18.7          36.7          25.6          28.0          21.3
(US$)
         ปริมาณ        12.0          26.5          19.2          18.9          12.5
ดุลบัญชีเดินสะพัด           6.4           4.6           7.6           2.1           2.4
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                 2.8           3.3           3.0           4.1         3.6-4.0
อัตราการว่างงาน          0.8           1.0           0.8           0.6           0.7
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาสแรกของปี เป็นผลมาจากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัว ส่งผลให้อุปสงค์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทำให้การส่งออก การท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ประกอบกับอัตราการว่างงานอยู่ในอัตราที่ต่ำ
  • หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยหดตัวจากไตรมาสแรก ร้อยละ 0.2 (%QoQ SA)
  • การประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 — 4.0 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 16.5 การบริโภคและการลงทุนเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.3 และ 8.7 ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 3.6-4.0อัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.4 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2554 ได้แก่ (1) การบริหารจัดการราคาสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้เป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต นอกจากนี้การปรับขึ้นราคาส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการลดลงของสินค้า ซึ่งอาจถูกกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า เช่น ภาวะน้ำท่วม ดังนั้นจึงควรมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและการเตรียมพร้อมทางด้านมาตรการที่จะช่วยลดผลกระทบอย่างทันเหตุการณ์ (2) การสร้างความมั่นคงให้แก่รายได้ของประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนที่รุนแรงขึ้นของสภาพอากาศ โดยเพิ่มพื้นที่และพัฒนาระบบชลประทาน ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต มีการวางแผนการผลิตที่ชัดเจนและใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงต่างๆ (3) การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เช่น ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันรวมถึงการส่งเสริมการยกระดับการผลิตจากการใช้แรงงานสูงไปสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อลดอุปสรรคจากข้อจำกัดด้านแรงงานตึงตัว (4) การเตรียมพร้อมของนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน และ (5) การวางนโยบายการคลังอย่างเหมาะสม และเร่งรัดการเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวะที่การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มล่าช้าออกไป และควรเพิ่มบทบาทการลงทุนร่วมจากภาคเอกชนให้มากขึ้น

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สอง ปี 2554 และแนวโน้มทั้งปี 2554

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 เป็นผลมาจากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการชะลอลงของการลงทุนรวม อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกและการท่อเที่ยวขยายตัวได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2554 (ปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว) เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 0.2 % สำหรับในครึ่งแรกของปี 2554 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9

ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ปี 2554

(1) ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสนี้สูงถึง 57,343 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกสินค้าหลักๆ ได้แก่ ยางพาราผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องปรับอากาศ ขยายตัวร้อยละ 76.2 34.5 และ 33.7 ตามลำดับ รวม 6 เดือนแรกของปี การส่งออกมีมูลค่า 113,344 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 23.1ตลาดส่งออกหลักยังคงขยายตัว ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 22.7 17.5 35.9 และ 20.3 ตามลำดับ

(2) ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยในไตรมาสนี้ มีจำนวน 4.37 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.8 โดยนักท่องเที่ยวจากจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 160.7 65.3 และ 53.2 ตามลำดับ โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 152,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับร้อยละ 52.2 ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 38.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ GDP ในสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.8 ในครึ่งแรกของปี มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเมืองไทยจำนวน 9.67 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1

(3) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น จากราคาพืชผลหลักที่สูงขึ้น เช่น ยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.4) มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.0) และปาล์มน้ำมัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.7) เป็นต้น ประกอบกับภาวะการจ้างงานอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 0.6 ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 71.3 ปรับตัวลงเล็กน้อยจาก 71.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2554 ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.0

ปัจจัยลบต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สอง ปี 2554

(1) ภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสแรก เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตหลักๆ ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ ฮาร์ดดิสไดร์ฟ และเครื่องนุ่งห่ม หดตัวร้อยละ 19.9 1.4 และ 13.4 ตามลำดับ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 58.9 ลดลงจากร้อยละ 62.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมารวมครึ่งปีแรกสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7

(2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 4.1 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 เนื่องจากการลงทุนภาครัฐหดตัวร้อยละ 9.9 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการลดลงของการเบิกจ่ายการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่ส่วนใหญ่ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว หรือบางโครงการใกล้จะสิ้นสุด ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.6 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการชะลอลงทั้งของการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง และหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยการนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (Business Sentiment Index : BSI) เฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 50.4 ลดลงจากระดับ 53.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา เฉลี่ยในครึ่งแรกของปี การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 6.6 โดยที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 10.5 ส่วนการลงทุนภาครัฐหดตัวร้อยละ 5.9

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554

สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.0 โดยในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรกเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น การขยายตัวต่อเนื่องของตลาดเอเชีย และความมั่นใจของนักลงทุนหลังจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ควรระมัดระวัง ได้แก่ เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงที่อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงตลาดแรงงานตึงตัว และความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2555 ในช่วงตุลาคม -ธันวาคม เนื่องจากการเลือกตั้งส่งผลกระทบให้กระบวนการอนุมัติงบประมาณล่าช้ากว่ากำหนดการปกติในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.6 — 4.0 การบริโภคของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.3การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 6.2 มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 16.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 2.4 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลร้อยละ 4.6 ของ GDP ในปี 2553

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สอง ปี 2554 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การใช้จ่ายครัวเรือน: ในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอลงจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่ผ่านมาการบริโภคสินค้าคงทนชะลอตัวอย่างมาก จากร้อยละ 23.6 เป็นร้อยละ 3.5 โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตและประกอบรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าได้ตามระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ปัจจัยที่สนับสนุนการใช้จ่ายครัวเรือน ได้แก่(1) อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (2) รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และ(3) สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้เท่ากับ 71.3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 71.9 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระดับราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การใช้จ่ายภาคครัวเรือน

2552 --------------------- 2553------------------------- 2554

                     ทั้งปี    ทั้งปี       Q1       Q2        Q3       Q4           Q1       Q2
การใช้จ่ายภาคเอกชน    -1.1    4.8      3.9       6.4      5.0       3.9          3.3     2.8
 สินค้าคงทน           -7.1   25.1     28.9      32.8     24.0      16.6         23.6     3.5
 สินค้ากึ่งคงทน         -8.8    6.7      9.5       6.7      5.9       5.1          4.5     5.7
 สินค้าไม่คงทน          0.7    1.8      2.0       1.1      1.9       2.0          2.0     3.4
 - อาหาร             0.6    0.5      0.7       1.1      0.2      -0.2          2.0     4.1
 - มิใช่อาหาร          0.7    2.7      3.1       1.2      3.2       3.3          2.1     3.0
 บริการ               2.2    1.4     -4.8       5.9      2.5       1.3         -5.5     0.1
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวร้อยละ 8.6 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 9.5 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.7 โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรได้ชะลอตัวหลังจากที่ได้มีการเร่งนำเข้าในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายในประเทศหดตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 เนื่องมาจากฐานที่สูงในปีก่อนจากการเร่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้ทันการรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2553

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.4 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.1 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 54.5 ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 55.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อภาวะธุรกิจในอนาคตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การปรับราคาสินค้าดำเนินการได้ยาก เนื่องจากการขอความร่วมมือจากรัฐบาลในการชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า ประกอบกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะต่อไป

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสนี้มีมูลค่า 57,343 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,736,583 ล้านบาท)ขยายตัวร้อยละ 19.2 ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 27.4 โดยปริมาณและราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2และ 6.9 ตามลำดับ เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8

          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากอุปทานสินค้าเกษตรที่สำคัญในตลาดโลกลดลงรวมทั้งปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรที่ขยายตัวตามปริมาณการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออกยางพาราที่ขยายตัวสูงตามอุปสงค์จากจีน ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ54.7 โดยราคาการส่งออกขยายตัวร้อยละ 18.0 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 สินค้าผ          อุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 และ 15.3 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.8 สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 16.8 และ 4.8 ตามลำดับ ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยานพาหนะและชิ้นส่วนที่ลดลงร้อยละ 11.0 จากการขาดแคลนชิ้นส่วนหลักที่ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมส่งออก พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงและสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 และ 32.1 ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงลดลงร้อยละ 17.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.3 ในไตรมาสแรกของปี2554 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปลดลง

ตลาดส่งออก: ขยายตัวทั้งในตลาดหลักและตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.9 และ 23.6 ตามลำดับ ตลาดหลักที่มีอัตราการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (15) ที่ขยายตัวร้อยละ 17.5 และ 20.3 เทียบกับร้อยละ 21.3 และ 24.1 ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ ส่วนตลาดอื่นๆ ยังคงขยายตัวได้ดีแต่ในอัตราที่ชะลอลง ยกเว้นตลาดออสเตรเลียที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 34.5 จากมูลค่าฐานการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่อยู่ในระดับสูง และการลดลงของมูลค่าการส่งออกรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การนำเข้า: ทั้งมูลค่า และราคาขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สองของปี 2554ขยายตัวร้อยละ 28.0 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 25.6 ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5จากราคาสินค้าเชื้อเพลิงและทองคำที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 18.9 ชะลอลงจากร้อยละ 19.2 ในไตรมาสก่อน ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการนำเข้าในไตรมาสที่สองเป็นผลมาจากอุปสงค์สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดอื่นๆ ชะลอตัวลง

เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว และพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า สินค้านำเข้าทุกหมวดขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงทั้งมูลค่า และปริมาณ ในขณะที่ราคาเพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นทั้งมูลค่า ปริมาณ และราคา โดยสินค้าทุนมีมูลค่าขยายตัวร้อยละ 20.9 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 36.1 ในไตรมาสก่อน สินค้าทุนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์ที่ใช้กับสายตา ภาพยนตร์ และการถ่ายภาพ รวมถึงเครื่องจักรและชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรม เป็นต้น สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวร้อยละ 27.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 24.4 ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวร้อยละ 17.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.5 สอดคล้องกับการใช้จ่ายครัวเรือนที่ชะลอลง ส่วนสินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นขยายตัวร้อยละ 38.0 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 41.8 ในไตรมาสก่อน โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2 เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเก็งกำไรในตลาดทุนและความไม่สงบในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง

อัตราการค้า (Term of Trade) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สองของปี 2554 หดตัวร้อยละ 4.1 เป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันสองไตรมาส

ดุลการค้า: เกินดุลลดลง โดยเกินดุล 1,683 ล้านดอลลาร์ สรอ. (51,491 ล้านบาท) ต่ำกว่าการเกินดุล 3,334 ล้านดอลลาร์ สรอ. (101,845 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อน

ด้านการผลิต

สาขาเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงจากร้อยละ 7.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา ตามการชะลอตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 25.7 ชะลอลงจากร้อยละ 43.1 ในไตรมาสก่อน โดยผลผลิตทางการเกษตรชะลอลงเนื่องจาก (1) การเร่งเพาะปลูกข้าวนาปีเพื่อชดเชยผลผลิตที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยช่วงปลายปี 2553 ทำให้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเลื่อนขึ้นเร็วกว่าปกติผลผลิตจึงกระจุกตัวอยู่ในไตรมาสแรก (2) การลดลงของผลผลิตมันสำปะหลังเนื่องจากการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งและปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญโดยเฉพาะยางพาราชะลอลงจากร้อยละ 61.4 เป็นร้อยละ 36.4 เนื่องจากความต้องการใช้ยางธรรมชาติทั้งจากญี่ปุ่นและภายในประเทศลดลงเพราะโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจากสึนามิจนต้องหยุดการผลิตชั่วคราวส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์และยางล้อในประเทศลดกำลังการผลิตลงชั่วคราว

ทั้งนี้ ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย อ้อยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 19.1 ล้านตันเทียบกับ1.5 ล้านตันในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นและปริมาณฝนตกเหมาะต่อการเติบโตของอ้อยผลผลิตข้าวนาปรังและกุ้งเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 และ 4.8 ตามลำดับ ในขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังและยางพาราลดลงร้อยละ 9.1 และ 4.2 ตามลำดับ

ในส่วนของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ประกอบด้วย ราคาปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.7 36.4 และ 15.0 ตามลำดับ เป็นผลจาก (1) มาตรการกำหนดราคารับซื้อผลปาล์มสดที่มีอัตราการให้น้ำมันขั้นต่ำร้อยละ 17 ไว้ที่กิโลกรัมละ 6 บาท (2) อุปสงค์ต่อยางพาราและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดโลกยังขยายตัว ในขณะที่ราคาอ้อย และข้าวเปลือกหอมมะลิลดลงร้อยละ8.5 และ 7.5 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่สูงขึ้น

สาขาอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลมาจาก(1) ผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น (2) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เช่น อัตราดอกเบี้ยราคาน้ำมัน ค่าแรง เป็นต้น (3) การหดตัวของการก่อสร้างภายในประเทศ (4) สภาพอากาศที่แปรปรวน(5) การย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมบางประเทศจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และ (6) การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของค่าเงินบาทกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยข้างต้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (หดตัวร้อยละ 19.9) อุตสาหกรรมสิ่งทอ (หดตัวร้อยละ 6.9) การผลิตเครื่องแต่งกาย (หดตัวร้อยละ 13.4) อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (หดตัวร้อยละ 2.0) อุตสาหกรรมอาหารทะเล(หดตัวร้อยละ 2.6) การผลิต Hard Disk Drive (หดตัวร้อยละ 1.4) การผลิตวิทยุโทรทัศน์ (หดตัวร้อยละ 53.4)อุตสาหกรรมปิโตรเลียม (หดตัวร้อยละ 0.6) การผลิตเม็ดพลาสติก (หดตัวร้อยละ 6.7) และการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ (หดตัวร้อยละ 16.1) อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการระบายสินค้าคงคลังในช่วงก่อนหน้าการผลิตน้ำตาลที่ขยายตัวตามปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสนี้ การผลิตแผงวงจรไฟฟ้า(Integrated Circuits) ตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และการผลิตเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นผลจากสภาวะโลกร้อนทำให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศของต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

อัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 58.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 62.6 และช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการใช้กำ ลังการผลิตร้อยละ 62.4กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตมากกว่าร้อยละ 75 เช่น การผลิตเม็ดพลาสติก (ร้อยละ80.8) การผลิตยางรถยนต์ (ร้อยละ 79.4) การผลิตจักรยานยนต์ (ร้อยละ 96.8) การผลิตแผงวงจรไฟฟ้า(Integrated Circuits) (ร้อยละ 82.7) ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตน้อยกว่าร้อยละ 50 เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ร้อยละ 48.2) การผลิตเหล็กกล้า (ร้อยละ 47.3) การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 26.5) การผลิตอาหารทะเล (ร้อยละ 48.7) เป็นต้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7

สาขาก่อสร้าง หดตัวร้อยละ 7.6 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการก่อสร้างภาครัฐที่หดตัวร้อยละ 19.9 เนื่องจากโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555สิ้นสุดลง ประกอบกับการเบิกจ่ายงบลงทุนด้านการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจชะลอลง ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ชะลอจากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนเป็นผลจากการชะลอตัวลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเนื่องจากยังคงมีบ้านคงค้างในตลาดอยู่ในระดับหนึ่งประกอบกับการชะลอตัวลงของอุปสงค์ของผู้บริโภค

ราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 5.3 ชะลอจากร้อยละ 6.2 ในไตรมาสที่ผ่านมา จากการชะลอของราคาเหล็ก ส่วนราคาซีเมนต์ ไม้ และคอนกรีต เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 5.2 และ 3.4 ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีค่าก่อสร้างมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ4.0 สาขาก่อสร้างครึ่งปีแรกหดตัวร้อยละ 4.6

สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 5.2 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยสนันสนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับเพิ่มทั้งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของค่าตอบแทนแรงงานและเงินเดือนข้าราชการทำให้อุปสงค์ผู้บริโภคยังคงขยายตัว ส่วนระดับราคามีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งราคาบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาวส์ และคอนโดมิเนียมในช่วงครึ่งแรกของปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 3.6 และ7.1 ตามลำดับ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมขนาด 50,000 บาทต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 สำหรับดัชนีความคาดหวังของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ช่วง 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 68.1 เพิ่มขึ้นจาก 65.1ในไตรมาสก่อน ในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 4.3

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 19.8 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 8.0 ไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวน 4.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.1ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เกาหลี อินเดีย ญี่ปุ่นและมาเลเซีย ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 160.7 65.3 53.2 48.0 และ 41.1 ตามลำดับ และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 52.2ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 38.8

ด้านรายรับจากการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้มีมูลค่า 152,864.3 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 98,036.6 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.9

การท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงขยายตัว สะท้อนจากจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารของสายการบินราคาต่ำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 และ 33.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ

ในช่วงครึ่งปีแรกสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 13.4 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนมีนักท่องเที่ยวจำนวน 9.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.4การจ้างงาน ไตรมาสที่สอง ปี 2554 มีการจ้างงาน 38.02 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการจ้างงานของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เนื่องจากผลตอบแทนในภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูงจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ดึงดูดแรงงานในภาคการผลิตอื่นๆ เข้าสู่ภาคเกษตรมากขึ้น ส่งผลให้การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.6 โดยเฉพาะสาขาค้าส่งและค้าปลีกก่อสร้าง และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ลดลงร้อยละ 6.9 6.3 และ 1.9 ตามลำดับ

สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 2.17 แสนคน ลดลงจำนวน 2.81 แสนคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 56.5 โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.6

สัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่ เท่ากับ 0.8 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 1.0 แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ตึงตัวที่ผ่อนคลายขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ พลาสติก และอาหาร ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 และได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 โดยมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานใน 2 แนวทาง ประกอบด้วย (1) การเพิ่มจำนวนแรงงานในตลาดด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษาจบใหม่และผู้ว่างงาน รวมทั้งแรงงานที่ทำงานไม่เต็มศักยภาพ เช่น ผู้สูงอายุผู้พิการ และแรงงานต่างด้าว เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และ (2) การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

ภาวะการคลัง

ในไตรมาสสามปีงบประมาณ 2554 (เมษายน — มิถุนายน 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 596,977.5 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 80,304.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.5 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาษีสำคัญที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการค่อนข้างมาก ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากผลประกอบการของภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล จากภาษีกำไรสุทธิ และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 45.3 และ 20.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตน้ำมันต่ำกว่าประมาณการไว้ เป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ในช่วงเดือนเมษายน 2554 ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าประมาณการและช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการผลิตรถยนต์ที่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น และเมื่อรวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณรัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการแล้ว 181,042.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.0ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 539,112.4 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) การเบิกจ่ายงบประมาณ

รายจ่ายประจำปี 2554 จำนวน 521,887.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 24.1 สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 24.0 โดยเป็นการเบิกจ่ายในส่วนของรายจ่ายประจำ 471,553.2 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 26.5 ของรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน 50,334.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.8 ของรายจ่ายลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 17.0 เนื่องจากมีการเร่งการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในส่วนของงบอุดหนุนในช่วงไตรมาสก่อนหน้า 2) งบประมาณเหลื่อมปีจำนวน 17,225.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ10.5 ของงบประมาณเหลื่อมปี ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 36.6 ซึ่งเป็นผลมาจากยอดงบเหลื่อมปีของปีงบประมาณ 2554 ต่ำกว่าปีงบประมาณก่อนร้อยละ 32.7 เป็นสำคัญ

โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2554 มีการเบิกจ่ายรวม 12,271.2 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 83.2 และ ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณรวม 341,294.4 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น283,669.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.1 ขยายตัวจากสิ้นไตรมาสก่อนร้อยละ 4.5 โดยมีโครงการที่มีการเบิกจ่ายเสร็จสมบูรณ์ 27,250 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของโครงการทั้งหมด) ดำเนินการเบิกจ่ายไปแล้วบางส่วน 12,571 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 28.8 ของโครงการทั้งหมด) ยังไม่มีการเบิกจ่าย 834 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของโครงการทั้งหมด) อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 2,323 โครงการ(คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของโครงการทั้งหมด) และโครงการที่รอการจัดสรรงบประมาณ 872 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 2.0 ของโครงการทั้งหมด) โดยมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด 43,850 โครงการ วงเงิน 349,960.4 ล้านบาท

ฐานะการคลังในไตรมาสที่สาม ของปีงบประมาณ 2554 ดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสด เกินดุล 160,823.8 ล้านบาท เป็นการเกินดุลเงินงบประมาณ 72,378.6 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 88,445.2 ล้านบาท รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน รวมทั้งสร้างความมั่นคงของฐานะทางการคลัง โดยการกู้เงินจำนวน 25,834.0 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) เกินดุล 186,657.8 ล้านบาท ส่งผลให้สถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2554 มีจำนวน 301,044 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในระดับที่มีความมั่นคงสูง

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2554 มีจำนวน 4,279,265.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 135,004.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 และเพิ่มขึ้น 48,520.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1จากสิ้นปีงบประมาณ 2553 (กันยายน 2553) โดยเมื่อเทียบสัดส่วนต่อ GDP คิดเป็นร้อยละ 41.1 ของ GDPลดลงจากร้อยละ 41.9 ของ GDP ณ สิ้น ปีงบประมาณ 2553

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สอง ของปี 2554 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวมร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 2.50 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี สอดคล้องกับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศในภูมิภาคเอเชียและประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและลดแรงกดดันเงินเฟ้อเช่นกัน ในขณะที่ประเทศในกลุ่มผู้นำทางเศรษฐกิจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ยกเว้น สหภาพยุโรป ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และ ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม กนง. มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.87 และ 6.54 ต่อปี ณ สิ้นไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 2.35 และ 6.88 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ4.06 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกเป็นร้อยละ -1.71 และ2.82 ต่อปี ตามลำดับ

เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของสถาบันรับฝากเงินเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.1 จากร้อยละ 12.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถาบันการเงินเร่งระดมเงินทุนเพื่อรองรับสินเชื่อที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยตั๋วแลกเงินเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 81.9 จากการปรับตัวเพื่อรองรับพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากและการรักษาฐานลูกค้าเงินฝาก ในขณะที่เงินฝากขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 10.3

สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ขยายตัวร้อยละ 16.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.0 ในไตรมาสที่แล้ว โดยสินเชื่อภาคธุรกิจยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องร้อยละ 14.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.8 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการขยายตัวของธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมการผลิตและการพาณิชย์ ในขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 13.9 จากร้อยละ 14.1 ตามการชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับสินเชื่อเพื่อการซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังคงขยายตัวสูงเช่นเดียวกับไตรมาสที่แล้ว จำนวนบัตรเครดิตและยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นสะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ สัดส่วน NPLs1 ต่อสินเชื่อคงค้างลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6จากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการรับชำระหนี้และการโอนหนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสำคัญ

สัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสที่สองของปี 2554 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 93.2 อย่างไรก็ตามสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 1.41 ล้านล้านบาท ในไตรมาสแรก เป็น 1.49 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเอื้อต่อการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไตรมาสสองของปี 2554 เท่ากับ 30.291 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ที่ร้อยละ 0.83 และ 6.33 ตามลำดับ โดยเงินบาทในช่วงเดือนเมษายนปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ และกระแสการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาค ก่อนที่จะปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จากความกังวลต่อวิกฤตหนี้ยุโรป โดยเฉพาะกลุ่ม PIIGS ที่ทวีความรุนแรงขึ้นแต่เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ลดลงร้อยละ 1.07 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER) ลดลงร้อยละ 0.77

ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2554 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปลายเดือนมิถุนายน โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 30.077 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และเฉลี่ยในวันที่ 1-18 สิงหาคมเท่ากับ 29.843บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ(2) ในไตรมาสสองปี 2554 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 0.37 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการไหลออกสุทธิ 0.99 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเกินดุลของภาคนอกธนาคารที่ 0.65 ล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการขาดดุลที่ 4.79 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินทุนไหลเข้าในการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติและการลงทุนในหลักทรัพย์เป็นสำคัญ

หมายเหตุ (2) ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้าย ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ปี 2554 เป็นตัวเลขประมาณการที่อ้างอิงจากข้อมูลเร็วบางส่วน

ของธนาคารแห่งประเทศไทยและจะมีการปรับในเดือนถัดไป

ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 1,823 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 55,833 ล้านบาท) เกินดุลลดลงจากไตรมาสก่อนที่เกินดุล 6,795 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 207,903 ล้านบาท) เป็นผลจากการเกินดุลการค้า 1,683 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ และเงินโอน 140 ล้านดอลลาร์ สรอ.

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2554 เท่ากับ 187.64 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net Forward Position อีก 26.41 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น(ไตรมาสแรก ปี 2554) และเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 3.4 เดือน (ไตรมาสสอง ปี 2554)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สองของปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 3.0 เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหารสำเร็จรูปและเนื้อสัตว์ อาหารสดประเภทผักผลไม้ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหารสำเร็จรูป และเนื้อสัตว์ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 เนื่องมาจากปริมาณสุกรลดลงจากปัญหาโรคระบาด ประกอบกับต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่ได้ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ราคาผักและผลไม้สดได้เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายและออกสู่ตลาดน้อย ส่วนดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ตามการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานได้เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงราคาสินค้าทั่วไป (นอกเหนือจากราคาอาหารสดและพลังงาน) ได้เริ่มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนที่มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน และเป็นสาเหตุให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่คาดว่าจะสูงขึ้น และเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาภายในประเทศ(3)

ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สองของปี 2554 เท่ากับร้อยละ 5.8 ลดลงจากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตรเป็นสำคัญ ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ทั้งนี้ การลดลงของดัชนีราคาผู้ผลิต ประกอบกับการขยับขึ้นของราคาสินค้าผู้บริโภคหลายประเภท นอกเหนือจากราคาอาหารสด (ที่ถูกผลักดันจากปัจจัยด้านฤดูกาล) เป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าได้มีการทยอยส่งผ่านภาวะต้นทุนสูงของผู้ประกอบการไปสู่ราคาสินค้าผู้บริโภคแล้ว(4)

หมายเหตุ (3) ในเดือนกรกฎาคม 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 4.1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.6

ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.6 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

เท่ากับร้อยละ 2.0

(4) ในเดือนกรกฎาคม 2554 ดัชนีราคาผู้ผลิตเท่ากับร้อยละ 5.2 ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554

ดัชนีราคาผู้ผลิตเท่ากับร้อยละ 6.0

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวผันผวน ในไตรมาสที่สองของปี 2554 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่ลดลง โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เนื่องจากการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซยังขาดความชัดเจนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่เพื่อลดความเสี่ยงลง โดย มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงจาก 30.8 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 29.4 พันล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 14.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาส ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น และปิด ณ สิ้นไตรมาสที่ 1,041.5 จุด เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซที่ลดลงหลังจากการประกาศแผนปฏิรูปด้านการคลังระยะ 5 ปี และการทำราคาปิด ณ สิ้นงวด (Window Dressing) ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากยอดซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนสถาบันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน ที่เพิ่มขึ้นเป็น 7.7 พันล้านบาท

ในเดือนกรกฎาคม ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาปิดที่ 1,133.5 จุด มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเป็น 33.7 พันล้านบาทและนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสูงถึง 37.9 พันล้านบาท เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ตามมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซของธนาคารกลางยุโรป ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

มูลค่าซื้อขายพันธบัตรและนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิลดลง แต่เส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) ในไตรมาสสอง อยู่ที่ 77.7 พันล้านบาทต่อวันลดลงเล็กน้อยจาก 80.8 พันล้านบาทต่อวัน ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลจากการย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และทองคำ ของนักลงทุนต่างชาติในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนตามสถานการณ์ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะกลางปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งไตรมาส ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและอุปทานในตลาดที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุมากกว่า 15 ปี ปรับลดลงจากอุปทานในตลาดที่มีจำกัด ส่วนนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิลดลงเป็น 197.1 พันล้านบาท จาก 292.7 พันล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 32.6

ในเดือนกรกฎาคม มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 64.2 พันล้านบาทต่อวันจาก 63.9 พันล้านบาทต่อวันในเดือนมิถุนายน โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 128.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมอยู่ที่ 618.3 พันล้านบาท โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 1) ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศสหรัฐฯ และภูมิภาคเอเชียยังคงมีแนวโน้มกว้างมากขึ้น และ 2) ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มยุโรปที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรมากขึ้น

การระดมทุนของภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า การระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีมูลค่ารวม 338.1 พันล้านบาท ชะลอลงจาก 443.5 พันล้านบาทในไตรมาสแรก แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 312.4 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สองของปี 2553 ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในตราสารหนี้302.3 พันล้านบาท โดยเฉพาะภาคตัวกลางทางการเงิน ภาคเหมืองแร่ และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการระดมทุนในตราสารทุน 35.8 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในภาคการขนส่ง และภาคการบริการด้านสุขภาพ ทั้งนี้การระดมทุนของภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับสูงในไตรมาสนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจที่ดีในช่วงครึ่งปีหลัง

2. ความเคลื่อนไหวและแนวโน้มราคาน้ำมันปี 2554

ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สอง ปี 2554

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก: ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นจากการเก็งกำไรในตลาดทุนและปัญหาความไม่สงบในแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ โดยในไตรมาสที่สองของปี 2554 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 110.42 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ราคาเฉลี่ย 78.39 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2554

ราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2554 คาดว่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 103-107 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลสูงกว่าราคาเฉลี่ยที่ 77.91 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2553 โดยในไตรมาสที่สองของปี 2554 และ 7เดือนแรกของปี 2554 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเท่ากับ 110.73 และ 106.07 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลตามลำดับ และ ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2554 อยู่ที่ราคา 105.10 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ หลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการราคาน้ำมัน WTI ในปี 2554 โดยทุกหน่วยงานคาดว่าราคาน้ำมัน WTIในปี 2554 จะสูงกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2553 ที่อยู่ในระดับ 79.41 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลโดย Energy Information Administration (EIA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรับลดประมาณการราคาน้ำมัน WTI ปี 2554 จาก 103.0ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล มาอยู่ในช่วง 98.43 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ส่วน Business Monitor International (BMI) ของประเทศอังกฤษปรับประมาณการราคาน้ำมัน WTI เพิ่มสูงขึ้น โดย คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี 2554 จะอยู่ที่ 101.9 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ส่วน JP Morgan และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี 2554 จะอยู่ที่ 98.0 และ 106.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้ราคาน้ำมันในปี 2554 มีแนวโน้มสูงขึ้น ได้แก่ (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่ง EIA คาดว่าในปี 2554 จะมีความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจำนวน 88.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 86.73 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2553 (3) การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน และ (4) สถานการณ์ความไม่สงบในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง

3. ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สองปี 2554 และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2554

เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในไตรมาสที่สองของปี 2554 โดยที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 2.0 เป็นเวลาไตรมาสที่สองติดต่อกันแสดงให้เห็นสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจน เป็นการเติบโตที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่มีการประกาศเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐหลุดพ้นจากภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ เศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนในไตรมาส 2 ชะลอลงจากไตรมาสแรก เนื่องจากการดำเนินมาตรการการคลังเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของหลายประเทศส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่การว่างงานยังอยู่ในระดับสูง เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ปัญหาสถาบันการเงินและหนี้สาธารณะในเศรษฐกิจหลักของกลุ่ม เช่น ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลีเป็นตัวแปรที่อาจซ้ำเติมปัญหาของยูโรโซนให้รุนแรงขึ้น ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว ในขณะที่เงินเฟ้อยังเป็นปัญหาสำคัญของเวียดนามและอินโดนีเซีย

สหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 1.6 (%YoY) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.2 (%YoY) ในไตรมาสแรกของปี 2554 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 1.3 (%QoQ, sa annualized) จากที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7 และได้ปรับลดการขยายตัวในช่วงไตรมาสแรกเหลือร้อยละ 0.4 (%QoQ, sa annualized) จากเดิมร้อยละ 1.9 ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 1.9 (%YoY) โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกการลงทุน นอกภาคที่อยู่อาศัย การลงทุนในธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างและการสะสมสินค้าคงคลัง รวมทั้งการเพิ่มการใช้จ่ายในภาครัฐโดยเฉพาะด้านการทหาร ในขณะที่การนำเข้าชะลอตัว โดยเฉพาะในหมวดปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม หมวดยานยนต์ เครื่องยนต์ และอะไหล่ ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะในรายการมอเตอร์ไซค์และชิ้นส่วนอะไหล่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 20.5 ต่อปี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่สองอยู่ที่ระดับ 56.4 จากระดับ 61.1 ในไตรมาสก่อน และลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 50.9 ในเดือนกรกฎาคม จากการชะลอตัวของดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ การผลิต การสะสมสต๊อกสินค้า และการจ้างงาน ทำให้การนำเข้าและการส่งออกชะลอตัวลงเป็นอัตราร้อยละ 15.0 และร้อยละ 15.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการขาดดุลการค้าเป็นร้อยละ 13.0 ต่อปีชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 สหรัฐฯ มีดุลการค้าขาดดุลเท่ากับ 288.3 พันล้านเหรียญ สรอ. สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดดุล 250.2 พันล้านเหรียญ สรอ. การจ้างงานในไตรมาสที่สองปรับตัวลดลง โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 9.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.9 ในไตรมาสแรก มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 13.5 ล้านคน ในเดือนกรกฎาคมอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ร้อยละ 9.1 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลงเป็น 13.9 ล้านคน การจ้างงานนอกภาคเกษตรในไตรมาสที่สอง มีจำนวน 131 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 130.8 ล้านคน ณ สิ้นไตรมาสแรก โดยเป็นการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม และนอกภาคเกษตรอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม การจ้างงานนอกภาคเกษตรได้เพิ่มขึ้น 117,000 ตำแหน่ง เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการดูแลสุขภาพ การค้าปลีก และอุตสาหกรรมการผลิตในขณะที่การจ้างงานภาครัฐยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

ประเทศกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.7 (%YoY) ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 2.5 (%YoY) ในไตรมาสที่แล้วประเทศสำคัญที่มีการชะลอตัวลงประกอบด้วยเยอรมัน ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ขยายตัว (% QoQ, s.a.)ร้อยละ 0.1 0.0 และ 0.1 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 0.9 และ 0.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ในขณะที่อิตาลี และออสเตรีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับการว่างงานเฉลี่ยยังคงทรงตัวที่ระดับร้อยละ 9.9 ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยสเปนยังคงมีอัตราการว่างงานสูงที่สุดร้อยละ 21.7 (ณ เดือนมิถุนายน 2554) ในขณะที่ต่ำสุดยังเป็นออสเตรีย (ร้อยละ 4.0) ในขณะที่เนเธอร์แลนด์ และ ลักเซมเบอร์ก มีอัตราว่างงานร้อยละ 4.1 และ 4.5ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่แล้วเป็นร้อยละ 2.7 สูงกว่าเป้าหมายระยะปานกลางของธนาคารกลางยุโรปซึ่งตั้งไว้ที่ร้อยละ 2.0 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป 2 ครั้งจากร้อยละ 1.00 ในไตรมาสที่ 1 เป็นร้อยละ 1.25และ 1.50 ในเดือนเมษายน และกรกฎาคม ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซนทำให้การใช้มาตรการทางการเงินโดยการปรับอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางยุโรปเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อยังมีข้อจำกัด ในขณะที่ปัญหาสถาบันการเงินและหนี้สาธารณะยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ ที่อาจทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่มยูโรโซนร้ายแรงขึ้น

ญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 1.0 (%YoY) เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ โดยเมื่อปรับฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ 0.35 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.9 (%QoQ, s.a.) ในไตรมาสแรกเป็นการหดตัวสามไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนจากดัชนี Tankan ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของญี่ปุ่น โดยวัดความเชื่อมั่นของบริษัทรายใหญ่ในญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับ -9 ในไตรมาส 2 ปี 2554 จากระดับ +6 ในไตรมาสแรกปี 2554 โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI)ประจำเดือนเมษายน ลดลงสู่ระดับ 45.7 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบสองปี แต่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ที่ระดับ 51.3 และ 50.7 ตามลำดับ ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสสองยังหดตัวต่อเนื่อง แต่หดตัวน้อยลงในช่วงกลางและปลายไตรมาส โดยในเดือนมิถุนายน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 13.6 และ 5.5 ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ตามลำดับ

อัตราการค้าปลีกในเดือนมิถุนายนปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัวร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นจากการหดตัวตัวร้อยละ 4.8 และ1.3 ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอัตราการค้าปลีกในไตรมาสสองยังคงเป็นลบโดยหดตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นลงสู่ "เชิงลบ" โดยระบุว่ามีสาเหตุจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวและวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ แต่ตรึงอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของญี่ปุ่นที่ระดับ "AA-”

จีน ขยายตัวร้อยละ 9.5 (%YoY) โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 9.6 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 2.2 (%QoQ) แสดงให้เห็นว่าจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีแนวโน้มชะลอลง ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะเผชิญภาวะดิ่งลงอย่างรุนแรง เนื่องจากการลงทุนที่มากเกินไปของจีน ซึ่งสูงถึงร้อยละ 50 ของ GDPประกอบกับความต้องการบริโภคของโลกที่ลดลง และนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่ทางการจีนได้บังคับใช้อย่างแข็งขันเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา

การที่ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองชะลอลงสอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.9ลดลงจากระดับ 52.8 ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยในเดือนกรกฎาคม ดัชนี PMI ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่สี่มาอยู่ที่ระดับ 50.7 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 29 เดือน ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 14.3 โดยในเดือนพฤษภาคมการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13.3 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน ในไตรมาสสองของปีนี้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.7 สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 4.0 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนได้พุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 สูงสุดในรอบ 3 ปี เป็นผลมาจากราคาอาหารได้เพิ่มสูงถึงร้อยละ 14.4 ทำให้รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเงิน โดยได้เพิ่มอัตราเงินสดสำรองทางการของธนาคารพาณิชย์เป็นครั้งที่ 6 ในปีนี้ อีกร้อยละ 0.5 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้อัตราเงินสดสำรองทางการสำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 21.5 และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ อีกร้อยละ0.25 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ระยะเวลา 1 ปี ปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ3.50 และ 6.56 ตามลำดับ การที่อุปสงค์จากต่างประเทศลดลงประกอบกับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ทางการจีนอยู่ในสภาวะลำบากที่จะต้องส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อในเวลาเดียวกัน ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง จึงคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

หมายเหตุ(5) เป็นการหดตัวต่ำกว่าที่สำนักข่าว Bloomberg ได้ทำการสำรวจจากการคาดการณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์ 25 ราย

ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสสองของญี่ปุ่นจะหดตัวลงร้อยละ 0.6

อินเดีย ในไตรมาสที่สองมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากสัญญาณผลผลิตอุตสาหกรรมประจำเดือน พฤษภาคมที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.6 จากร้อยละ 5.8 ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ดัชนี PMI(6) ในไตรมาสที่สองได้ปรับลดลงจากระดับ 57.6 ในเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ระดับ 55.3 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 9 เดือนปัญหาเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของอินเดีย โดยในครึ่งปีแรกของปี 2554 อัตราเงินเฟ้อ (WPI) อยู่ที่ร้อยละ9.5 เป็นอัตราที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักในเอเชีย ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนได้พุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 9.44 เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่เจ็ดติดต่อกันที่เงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 9 สถานการณ์เงินเฟ้อมีปัจจัยมาจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.38 รวมทั้งจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และน้ำมันดิบนอกจากนี้ปริมาณฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีปริมาณต่ำสุดในรอบ 3 ปี ทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลงรัฐบาลอินเดียได้ประกาศใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเงินเพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อ โดยล่าสุดเมื่อวันที่26 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) เป็นครั้งที่ 11 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553อีกร้อยละ 0.5 จากเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.0

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง) ในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้ชะลอตัวลง โดยสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 0.5 3.4 4.9 และ 5.1 ชะลอลงจากร้อยละ 9.3 4.2 6.6 และ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าสิงคโปร์และฮ่องกงหดตัวร้อยละ 7.8 และ 0.5 ตามลำดับ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 5.5 สืบเนื่องจากการชะงักงันของอุปทานจากญี่ปุ่น และอุตสาหกรรมการผลิตยาที่มีการปรับโครงสร้างใหม่(7) ในขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงและไต้หวันมีปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลง ด้านปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศกลุ่มนี้ โดยฮ่องกงได้รับผลกระทบจากราคาอาหารและอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในฮ่องกงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.6 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงสุดในรอบ 35เดือน ทำให้ในไตรมาสสองอัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 จากร้อยละ 3.8 ในไตรมาสแรกด้านไต้หวันในเดือนมิถุนายนเงินเฟ้อได้ขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 1.92 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 16 เดือน ทั้งนี้เงินเฟ้อของเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยในเดือนกรกฎาคมอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 4.7 สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้กำหนดไว้ในระดับร้อยละ 2-4 เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน

ออสเตรเลีย คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดีขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ชดเชยการบริโภคที่ยังชะลอตัวดุลการค้าในไตรมาสนี้คาดว่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ในขณะที่อัตราการว่างงานยังทรงตัวที่ร้อยละ 4.9 แต่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสหน้า สำหรับเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 3.7 เทียบกับร้อยละ 2.7 และ 3.3 ในสองไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับอัตราค่าจ้างในภาคเหมืองแร่รวมทั้งการปรับสูงขึ้นของราคาอาหาร และพลังงาน ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงที่ร้อยละ 4.75 มาตลอด 9 เดือน โดยเฉพาะหากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผกผันเป็นไปในทิศทางที่อ่อนค่าลงโดยเฉลี่ยซึ่งไม่สามารถชดเชยเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศได้

กลุ่มประเทศอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว โดยเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 5.7 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่แล้ว(%YoY) อินโดนีเซีย ขยายตัวคงที่ที่ร้อยละ 6.5 ในขณะที่มาเลเซียชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เทียบกับร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่แล้ว เงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาสำคัญของเวียดนามที่ยังอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 19.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.8 ในไตรมาสที่แล้ว รวมทั้งมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.3 และ 5.0จากร้อยละ 2.8 และ 4.5 ในไตรมาสแรกตามลำดับ ในขณะที่ค่าเงินรูเปียและมาตรการอุดหนุนพลังงานและอาหารของอินโดนีเซียทำให้เงินเฟ้ออินโดนีเซียลดลงจากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสที่แล้วเหลือเพียงร้อยละ 5.0ในไตรมาสนี้ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลดีต่ออัตราเงินเฟ้อ ยกเว้นริงกิตมาเลเซียที่อ่อนค่าลงในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

หมายเหตุ (6) ดัชนี PMI ของอินเดีย จัดทำโดยธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ (HSBC PMI)

(7) ด้วยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตยาที่มีสิทธิบัตร ไปเป็นการเน้นผลิตยาชื่อสามัญ (Generic)

แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง

เศรษฐกิจโลกในปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านผลกระทบทางด้านการคลังความผันผวนของสกุลเงิน แรงกดดันจากเงินเฟ้อสูงในกลุ่มประเทศเอเชีย ผลกระทบของเหตุการณ์ในญี่ปุ่นต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศกลุ่มยูโรโซนโดยเฉพาะเยอรมัน และฝรั่งเศส ซึ่งประเทศกลุ่มยูโรโซนก็ยังจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายการคลังอย่างเข้มงวดต่อไป รวมทั้งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่เริ่มมีการดำเนินนโยบายแบบเดียวกันซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังจะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางการเมืองซึ่งเพิ่มขึ้น8 จากการที่รัฐบาลของหลายประเทศพยายามดำเนินมาตรการเพื่อลดปัญหางบประมาณขาดดุล และราคาอาหารที่สูงขึ้นได้ก่อให้เกิดความไม่สงบในหลายประเทศ เป็นต้น

สถานการณ์หนี้สาธารณะในยุโรปและในสหรัฐฯ คาดว่ายังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2554 S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของสหรัฐอเมริกาลงจาก AAA สู่ AA+ ทำให้มาอยู่ในระดับเดียวกับประเทศ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ สโลวาเนีย ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้มีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ อย่างไรก็ตามยังคงอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นของสหรัฐฯ ไว้ที่ A-1+ ซึ่งการลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสะท้อนให้เห็นว่า S&P กังวลเกี่ยวกับการเพิ่มสูงขึ้นของหนี้สาธารณะ และการที่รัฐบาลมีแผนการตัดลดการขาดดุลงบประมาณในระยะ 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีแผนตัดลดการขาดดุลงบประมาณภายในปี 2564 ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านเหรียญ สรอ. ซึ่งน้อยกว่าที่ S&P คาดการณ์ไว้ที่ 4 ล้านล้านเหรียญสรอ.9 ซึ่งต่อมาธนาคารกลางสหรัฐ ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น(fed funds rate) ที่ระดับร้อยละ 0-0.25 ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2554 โดยประกาศว่าจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงกลางปี 2556 นอกจากนี้ ได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

หมายเหตุ (8) เช่น ปัญหาก่อการจลาจลในอังกฤษ และการลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึง

ความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ ความมั่นคง และความน่าเชื่อถือของสถาบันทางการเมือง และการกำหนด

นโยบายทางการคลังของสหรัฐฯ ท่ามกลางความขัดแย้งของสองพรรคการเมืองใหญ่ในสองสภา

(9) อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์ (Treasury Department) ของสหรัฐฯ ได้ออกมาโต้ว่าการคำนวณหนี้

ที่ต้องปรับลดของ S&P ที่สูงกว่าแผนตัดลดงบประมาณถึงเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นการคำนวณ

ที่ผิดพลาด ซึ่งการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ S&P นี้ได้สวนทางกับบริษัทจัดเรตติ้งอื่นๆ เช่น มูดี้ส์

อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moodys) และฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch) ที่ได้ประกาศยืนยันอันดับเครดิต AAA ของสหรัฐฯ

4. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ของปี 2554 ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการหดตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 2.9 อย่างไรก็ตามในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าในครึ่งปีแรก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและรายได้ภาคการเกษตรซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากว่าภาวะปกติ

ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

(1) การปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในช่วงครึ่งปีแรกมีการผลิตรถยนต์ 0.66 ล้านคัน ขณะที่เป้าหมายการผลิตทั้งปี 1.8 ล้านคัน งนั้นคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรถยนต์ในครึ่งปีหลังประมาณ 1.14 ล้านคัน หรือขยายตัวร้อยละ 56.6เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้การปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในระยะต่อไป

(2) เศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งจะเป็นการช่วยลดผลกระทบกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์หรือมีการชะลอตัวลง กรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการชะลอตัวแต่ไม่รุนแรงมาก พลวัตรทางเศรษฐกิจเอเชียและปริมาณการค้าโลกยังสามารถขับเคลื่อนขยายตัวได้ เช่นกรณี IMF ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2554 จากเดิมร้อยละ 2.8 เหลือร้อยละ 2.5 แต่ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกเป็นร้อยละ 8.2 จากร้อยละ 7.4 เนื่องจากอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจจีนและอินเดียยังอยู่ในระดับสูง และปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง

(3) การปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศและความเชื่อมั่นการทางเมือง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนนักท่องเที่ยว และผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้น

(4) การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 599 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 205,796 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 34.9 และ 89.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าตามลำดับ ทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

(5) รายได้ภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตร เป็นผลจากราคาสินค้าและผลผลิตทางเกษตรที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมันอ้อย มันสำปะหลัง และโดยเฉพาะราคาข้าว ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2554 ราคาข้าวขาว 100%ขายปลีกภายในประเทศ อยู่ที่ 14,700 บาทต่อตัน หรือขยายตัวร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเมื่อรวมกับแรงส่งจากนโยบายของรัฐบาลจะทำให้ราคาข้าวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในครึ่งปีหลัง เช่น ข้าว ข้าวโพด และยางพารา มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

(6) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ในครึ่งแรกของปี 2554 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 9.7 ล้านคน และเดือนกรกฎาคม 2554 มีจำนวน 1.5 ล้านคน รวม 7 เดือนแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยว 11.2 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 26.8

ภายใต้เงื่อนไขไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงภายในประเทศ และเศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวได้ดี คาดว่า ทั้งปี 2554 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 19.0 ล้านคน ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้ภาคการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้องขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

(7) สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีและสินเชื่อยังคงขยายตัวได้ดี โดยสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีแรกอยู่ในเกณฑ์สูงถึง 1.485 ล้านล้านบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 16.5 นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด

(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยที่ สหรัฐอเมริกา มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยมากขึ้น เนื่องจากอัตราการว่างงานทรงตัวในระดับสูงและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ส่งผลต่อการบริโภคเอกชนที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจให้ขยายตัวในระดับต่ำ นอกจากนี้ความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะมีสูงขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลจาก S&P สหภาพยุโรป ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติหนี้สาธารณะยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการแก้ปัญหาของประเทศกรีซและโปรตุเกสมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติหนี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอิตาลีและสเปนเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้เศรษฐกิจของประเทศสำคัญมีแนวโน้มชะลอลงในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะฝรั่งเศสซึ่งชะลอลงค่อนข้างมากในไตรมาสที่สอง ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้การปรับลดการขาดดุลการคลังเข้าสู่กรอบเป้าหมายจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสมีสัดส่วนการใช้จ่ายต่อภาครัฐสูงถึงร้อยละ 25 ต่อ GDPประกอบกับยังมีการขาดดุลการคลังสูงถึงร้อยละ 7.0 ในปี 2553 และคาดว่าร้อยละ 5.0-6.0 ในปี 2554ส่วนเศรษฐกิจเยอรมันหลังจากขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในครึ่งปีแรกที่ร้อยละ 3.7 แต่ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอลงอย่างชัดเจน จากการลดลงของอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และ จีน เนื่องจากเยอรมันเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก (ประมาณร้อยละ 46 ต่อ GDP) ญี่ปุ่น มีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหวและสึนามิเนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง เงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก และอุปสงค์ภาคเอกชนยังคงมีความอ่อนแอ

(2) ตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นกว่าครึ่งปีแรกจากค่าเงินดอลลาร์สรอ. ที่อ่อนค่าลง

(3) ราคาน้ำมันยังมีความผันผวน แม้ว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแต่ปัจจัยเสี่ยงด้านอุปทานและการเก็งกำไรส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในบางช่วง

(4) เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับสูง ด้านอัตราเงินเฟ้อแม้ว่าแรงกดดันจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัว แต่อุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัวได้ดี และตลาดแรงงานที่มีความตึงตัวสูงจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ขณะที่นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น

(5) ความล่าช้าของการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2555 จะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

(6) การผลิตภาคการเกษตรมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ หลังจากปัญหาอุทกภัยเริ่มมีความถี่มากขึ้นนับจากปลายปี 2553 จนถึงในปัจจุบัน

สมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2554

(1) เศรษฐกิจโลกในปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 - 4.0 เป็นการปรับลดจากครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8-4.2 แต่คงประมาณการการค้าโลกที่ร้อยละ 6.7-7.7 เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวได้ดีและมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนการค้าโลก

สหรัฐอเมริกา ในครึ่งแรกของปี 2554 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.9 (%YoY) โดยที่ (1) การบริโภคภาคเอกชนครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 2.5 (%YoY) แต่คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนโยบายเพิ่มการจ้างงานของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากวัฏจักรการถดถอยเศรษฐกิจนับจากปี 2552 (2) การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าแรงส่งจากการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังจะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว รวมทั้งการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มหดตัว หลังจากหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ไตรมาส เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีความอ่อนแอประกอบกับบ้านที่สร้างเสร็จรอการขายยังคงมีจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่เหลือจะถูกขับเคลื่อนโดยการลงทุนนอกภาคที่อยู่อาศัยซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจะมีการเร่งผลิตเพื่อชดเชยหลังจากชะลอการผลิตในไตรมาสที่สอง ที่ผ่านมา (3) การบริโภคภาครัฐยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในครึ่งปีแรกหดตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งแนวโน้มการลดลงของการใช้จ่ายภาครัฐตามกรอบข้อตกลงการเพิ่มเพดานหนี้ภาครัฐ (4) ความไม่แน่นอนทางภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง นอกจากนี้ความผันผวนในตลาดเงินส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นประกอบกับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2554 จากขยายตัวร้อยละ 2.8 เป็นร้อยละ 2.0

สหภาพยุโรป โดยรวมเศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีแนวโน้มชะลอลงในครึ่งหลัง แต่ในช่วงปีแรกขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 2.1 (%YoY) สศช. จึงปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจสหภาพยุโรปจากเดิมร้อยละ 1.6เป็นร้อยละ 1.7 โดยแนวโน้มเศรษฐกิจของ 4 ประเทศหลัก มีดังนี้

เยอรมัน ในครึ่งปีแรกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3.7 (%YoY) การจ้างงานอยู่ในเกณฑ์ดี หนี้สาธารณะต่อ GDPไม่สูงมากนัก และขาดดุลการคลังเพียงร้อยละ 2.0 ต่อ GDP ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 24.0 ต่อ GDP รวมถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะลดลงจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ตามประเทศเยอรมันเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสูง ดังนั้นการชะลอลงของอุปสงค์ต่างประเทศ เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอลงจะส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิลดลง ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจเยอรมันจะขยายตัวในระดับร้อยละ 3.3-3.8

ฝรั่งเศส ในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 1.9 (%YoY) และการชะลอตัวในไตรมาสที่สอง ปี 2554 ทำให้ความกังวลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝรั่งเศสจำเป็นต้องลดการขาดดุลการคลังผ่านการลดรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฝรั่งเศส โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ต่อ GDP ส่งผลให้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5-2.0

อิตาลี โดยภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความอ่อนแอ

(1) การบริโภคได้รับแรงกดดันทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นและการว่างงานสูง ขณะที่ในครึ่งปีหลังคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนยังคงทรงตัว

(2) การลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางชะลอลงอย่างชัดเจนหลังจากขยายตัวได้ดีในครึ่งปีหลังของปี 2553

(3) การส่งออกสุทธิยังคงหดตัว ประกอบกับแนวโน้มการลดลงของอุปสงค์ของยุโรปและสหรัฐฯ คาดว่าการส่งออกสุทธิยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และ (4) การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของอิตาลี เนื่องจากมีหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 120 ต่อ GDP ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจ ในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 0.9 (%YoY) และมีแนวโน้มการชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0.5-0.9

สเปน อุปสงค์ภายในประเทศมีความอ่อนแอค่อนข้างมาก โดยหดตัว 11 ไตรมาสติดต่อกัน (ข้อมูลล่าสุดถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2554) โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 12 ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 20.0 นอกจากนี้อัตราการว่างงานที่อยู่ระดับสูงเป็นแรงกดดันให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในระดับต่ำ ประกอบกับการส่งออกสุทธิมีแนวโน้มชะลอลงตามการลดลงของอุปสงค์ในตลาดโลก ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นข้อจำกัดเนื่องจากดุลการคลังขาดดุลประมาณร้อยละ 6.0-6.5 ต่อ GDP ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของสหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ตามคาดว่ารัฐบาลสเปนจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 0.7 (%YoY) และในครึ่งหลังมีแนวโน้มชะลอลง ดังนั้นคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.3-0.8

ญี่ปุ่น ผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทำให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 1.0 (%YoY) ส่วนในครึ่งหลังของปี 2554 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดย (1) การลงทุนภาคเอกชนจากที่ในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 1.6 (%YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอลงของการลงทุนนอกภาคที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 (%YoY) เมื่อเทียบกับขยายตัวร้อยละ 6.1 (%YoY) ในครึ่งปีหลังของปี 2553 จากการฟื้นตัวของภาคการผลิตจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนนอกภาคที่อยู่อาศัยกลับมาขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในช่วงที่เหลือของปี 2554 ดังนั้นคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง (2) การใช้จ่ายภาครัฐในครึ่งปีแรกมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ว่าหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงเกินร้อยละ 200 ต่อ GDP แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อเร่งฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้การบริโภคภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.1 (%YoY)หลังจากหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส และคาดว่าการใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี(3) การบริโภคเอกชนหดตัวร้อยละ 0.8 (%YoY) ในครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของการบริโภคในหมวดที่สำคัญ โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านบริการซึ่งหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 อย่างไรก็ตามมีสัญญาณการฟื้นตัวโดยเฉพาะการค้าส่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือน มิถุนายน 2554 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.0 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ดังนั้นการบริโภคภาคเอกชนในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและ (4) การส่งออกสุทธิในครึ่งปีแรกหดตัวร้อยละ 11.2 (%YoY) เป็นผลต่อเนื่องจากการผลิตที่ลดลง ดังนั้นเมื่อการผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้การส่งออกสุทธิกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น โดยการส่งออก 4สินค้าหลัก (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70.0 -75.0 ของการส่งออกทั้งหมด) คือ เครื่องจักร ยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรม ซึ่งมีการฟื้นตัวเข้าใกล้สถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ตามการส่งออกจะมีปัจจัยเสี่ยงจากเงินเยนที่แข็งค่าและอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง สศช. จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากร้อยละ 1.1 เป็นตัวร้อยละ 0.2

จีน ในครึ่งแรกของปี 2554 ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 9.6 (%YoY) โดยการลงทุนภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้างที่ยังคงขยายตัวสูง ส่งผลให้มีความกังวลต่อภาวะฟองสบู่แตก และเมื่อผนวกกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการการเงินแบบเข้มงวด เพื่อจะช่วยลดความเสี่ยงจากการขยายตัวที่สูงเกินไป นอกจากนี้ค่าเงินหยวนที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นและอุปสงค์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย สศช. จึงปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจจีนเป็นร้อยละ 9.2 จากเดิมที่ร้อยละ 9.0

(2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2554 คาดว่าอยู่ในช่วง 103-107 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 98-107 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดยในครึ่งปีแรกราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 105.45 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล ในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 109.78 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรลส่งผลให้เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีราคาน้ำมันเฉลี่ย 106.07 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้นกว่าครึ่งปีแรกคือ (1) ความต้องการใช้น้ำมันลดลง จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพยุโรปยังมีความเปราะบาง จากการขยายตัวในระดับต่ำของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งข้อจำกัดด้านการคลัง ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง และ (2) นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังการลงทุนในกองทุนน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงอย่างรุนแรงมากกว่า 10 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นจาก (1) สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่มีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงได้ (2) ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลพายุเฮริเคน และ (3) การคาดการณ์ของนักลงทุนต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบตามการอัดฉีดเม็ดเงินของประเทศพัฒนาแล้วเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

(3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.8 ปรับลดลงจากร้อยละ7.2 ในการประมาณการครั้งก่อน ขณะที่ราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.8จากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ 8.5 เนื่องจากราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สองปรับตัวสูงกว่าที่คาดการณ์

(4) อัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าจะอยู่ในช่วง 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เป็นการคงประมาณการจากครั้งก่อน โดยในครึ่งปีแรกเฉลี่ยที่ 30.432 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ สรอ. ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังคาดว่าค่าเงินในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะผันผวนมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น

(5) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2554 คาดว่าจะมีประมาณ 19.0 ล้านคน ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 18.0 ล้านคน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งปีแรกซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.7 ล้านคน และเดือนกรกฎาคม 2554 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 1.5 ล้านคน ส่งผลให้ 7 เดือนแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยว 11.2 ล้านคน และคาดว่าใน 5 เดือนที่เหลือของปี 2554 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 7.8 ล้านคน เป็นผลมาจาก (1) สถานการณ์การเมืองภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ (2) จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ไต้หวัน และอินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2554

คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.5-4.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในปี 2553อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.6-4.0 เทียบกับร้อยละ 3.3 ในปี 2553 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.4 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลร้อยละ 4.6 ของ GDP ในปี 2553 เนื่องจาก

(1) เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สอง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมครึ่งปีแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 ลดลงมากเมื่อเทียบกับขยายตัวร้อยละ 13.9 ในปี 2553 ประกอบกับการปรับตัวสูงขึ้นของการนำเข้าโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ราคาสูงขึ้นมากส่งผลให้การส่งออกสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐต่ำกว่าการคาดการณ์ค่อนข้างมาก โดยการลงทุนภาครัฐหดตัวถึงร้อยละ 5.9 ในครึ่งปีแรก ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5

(2) อุปสงค์จากตลาดโลกในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าการประมาณการเดิม โดยเฉพาะการขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าคาดการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมการฟื้นตัวที่มีความเปราะบางและวิกฤติหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้นสร้างความกังวลและลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกโดยรวมมีแนวโน้มชะลอลง แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจเอเชียมีบทบาทมากขึ้น และสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ สศช. ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงเหลือเพียงร้อยละ 2.0 จากเดิมที่ร้อยละ 2.8 แต่ได้ปรับลดปริมาณการค้าลงเพียงเล็กน้อย

(3) อุปสงค์จากภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่หดตัวสูงในครึ่งปีแรก และแนวโน้มการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะที่ในไตรมาสที่สี่ การเบิกจ่ายงบประมาณมีแนวโน้มล่าช้ากว่าภาวะปกติ

องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2554

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เป็นผลมาจากการปรับลดทั้งการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือนและภาครัฐ โดยการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ปรับลดจากประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 3.2 เนื่องจากอัตราการขยายตัวในครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยขยายตัวร้อยละ 1.4 ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับลดจากร้อยละ 3.7 โดยการบริโภคในครึ่งปีแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0 และคาดว่าในครึ่งปีหลังการบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะฐานรายได้ของประชาชนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องทั้งด้านรายได้ภาคเกษตรตามการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตร การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม การขยายตัวของสินเชื่อ และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

(2) การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.2 ปรับลดลงจากร้อยละ 7.3 โดยการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 1.5 ปรับลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 เนื่องจากการเบิกจ่ายปีงบประมาณ 2554ต่ำกว่าเป้าหมาย รวมทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2555 ในช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2554มีแนวโน้มล่าช้าออกไป เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.5เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในครึ่งปีแรกและการนำเข้าสินค้าทุนยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

(3) การส่งออกสินค้ารูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 16.5 ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 17.0 เป็นการปรับลดทั้งปริมาณและราคา โดยปริมาณการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.7 ปรับลงเล็กน้อยจากร้อยละ 9.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของอุปสงค์จากต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและสหภาพยุโรปยังคงอ่อนแอ ขณะที่ราคาส่งออกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.8 ปรับลดลงจากร้อยละ 7.2 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากในครึ่งปีหลังอัตราการขยายตัวของราคาน้ำมันมีแนวโน้มชะลอลงรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.8 ปรับตัวสูงขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.7 ตามแรงส่งจากการขยายตัวได้ดีของภาคการท่องเที่ยว

(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 21.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 20.5 เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและราคานำเข้า โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.5 เพิ่มจากขยายตัวร้อยละ 12.0 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการขยายตัวสูงในครึ่งปีแรกถึงร้อยละ 19.0ตามการขยายตัวที่สูงของการส่งออก การลงทุน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านราคานำเข้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.5 มีผลมาจากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของราคานำเข้าในไตรมาสที่สอง ที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 ส่งผลให้ครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 10.2 ส่วนในครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทางอัตราการขยายตัวของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มต่ำกว่าในครึ่งปีแรก ด้านปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.3 ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 11.5 จากแรงขับเคลื่อนของการนำเข้าการบริการที่ต่ำในครึ่งปีแรกซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1

(5) ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุลประมาณ 8.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุล 10.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออก โดยคาดว่าดุลบริการจะเกินดุลประมาณ 0.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นการคงประมาณการจากครั้งก่อน ดังนั้นดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 8.8 พันล้านดอลาร์ สรอ.หรือร้อยละ 2.4 ของ GDP ซึ่งเป็นการเกินดุลลดลงจาก 11.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการคาดการณ์ครั้งก่อน

(6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2554 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.6-4.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.0-3.8 ที่ประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากในครึ่งปีแรกอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 3.5 ส่วนอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.7 สะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว

การประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีสูงและกรณีต่ำ

(1) กรณีสูง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ภายใต้เงื่อนไข (1) เศรษฐกิจโลกขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 4.0 โดยเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยลดลง ปัญหาด้านหนี้สาธารณะไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวได้ดี เศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ กลุ่มประเทศหลัก เช่น เศรษฐกิจเยอรมันและฝรั่งเศสยังขยายตัวได้ดี ปัญหาหนี้สาธารณะสูงได้รับการแก้ไข ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงต้นปี และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะจีนยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น (2) สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของไทยมีความสงบราบรื่นส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และการท่องเที่ยวปรับตัวดีอย่างต่อเนื่อง (3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 107 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล (4) การผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และทำการผลิตได้ตามเป้าหมาย และ (5) ความแปรปรวนของสภาพอากาศไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร

(2) กรณีต่ำ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.5 ในกรณีที่ (1) เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ต่ำกว่าร้อยละ 3.6 (2) ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 107 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ทำให้อัตราการขยายตัวของการบริโภค และการลงทุนต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ดุลการค้าลดลง (3) การดำเนินนโยบายด้านการคลังไม่ต่อเนื่องส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนและรายจ่ายประจำไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และ(4) ปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของผลผลิตภาคการเกษตรที่สำคัญทั้ง ข้าว ยางพารา อ้อย ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์และประมง

5. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2554

ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นส่งผลให้อุปสงค์จากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงและความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนมีมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงตลาดแรงงานมีความตึงตัวสูง ดังนั้นการบริหารเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควรให้ความสำคัญกับประเด็น ต่อไปนี้

(1) การบริหารจัดการราคาสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้เป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต นอกจากนี้การปรับขึ้นราคาส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการลดลงของปริมาณสินค้า ซึ่งอาจถูกกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า เช่น ภาวะน้ำท่วม ดังนั้นจึงควรมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมทางด้านมาตรการที่จะช่วยลดผลกระทบอย่างทันเหตุการณ์

(2) การสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนที่รุนแรงขึ้นของสภาพอากาศ โดยเพิ่มพื้นที่และพัฒนาระบบชลประทาน ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต มีการวางแผนการผลิตที่ชัดเจน และใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงต่างๆ

(3) การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เช่น ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมัน รวมถึงการส่งเสริมการยกระดับการผลิตจากการใช้แรงงานสูงไปสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อลดอุปสรรคจากข้อจำกัดด้านแรงงานตึงตัว

(4) การเตรียมพร้อมของนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน

(5) การวางนโยบายการคลังอย่างเหมาะสม และเร่งรัดการเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวะที่การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มล่าช้าออกไป และควรเพิ่มบทบาทการลงทุนร่วมจากภาคเอกชนให้มากขึ้น

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2554

                                                    ข้อมูลจริง                     ประมาณการ ปี 2554
                                         ปี 2551      ปี 2552       ปี 2553    23 พ.ค. 54   22 ส.ค. 54
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)            9,080.5     9,041.6     10,104.8      10,852.6     10,867.6
   รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)               136,585     135,144      150,117       160,548      160,771
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)      272.2       263.3        317.8         361.8        362.3
   รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)      4,093.9     3,936.0      4,720.7       5,351.6      5,359.0
อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %)         2.5        -2.3          7.8       3.5—4.5      3.5-4.0
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %)                   1.2        -9.2          9.4           7.3          6.2
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                  3.2       -13.1         13.8           8.5          8.7
   ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %)                    -4.7         2.7         -2.2           3.5         -1.5
การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %)                  2.9         0.1          5.1           3.6          3.3
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                  2.9        -1.1          4.8           3.7          3.3
   ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %)                  3.2         7.5          6.4           3.2          3.0
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)        5.1       -12.5         14.7           9.7          9.8
   มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)    175.2       150.7        193.7         226.7        225.7
      อัตราการขยายตัว (%)                    15.9       -14.0         28.5          17.0         16.5
      อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)              6.0       -13.6         17.3           9.8          9.7
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)        8.9       -21.5         21.5          11.5         11.3
   มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)    175.6       131.4        179.6         216.3        217.8
      อัตราการขยายตัว (%)                    26.8       -25.2         36.7          20.5         21.3
      อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)              8.9       -23.1         26.5          12.0         12.5
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                 -0.4        19.4         14.1          10.4          8.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 1/          2.2        21.9         14.8          11.2          8.8
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                      0.8         8.3          4.6           3.1          2.4
เงินเฟ้อ (%)
   ดัชนีราคาผู้บริโภค                            5.4        -0.9          3.3       3.0-3.8       3.6-4.0
   GDP Deflator                             3.9         1.9          3.7       3.0-3.8       3.6-4.0
          ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 22 สิงหาคม 2554
          หมายเหตุ: 1/ Reinvested earnings has been recorded as part of FDI in Financial account, and its contra entry recorded
as income on equity in current account.

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ